พม่าคึกคักเป็นประธานอาเซียนใหม่
พม่าคึกคักเป็นประธานอาเซียนใหม่
พม่าคึกคักเป็นประธานอาเซียนใหม่ : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี จงกิจถาวร
ย่างกุ้ง-หลังการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 10 ตุลาคม ที่กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน พม่าจะเข้ามารับผิดชอบในฐานประธานอาเซียนคนใหม่แทนบรูไนทันที ถึงแม้ว่าหน้าที่ประธานอาเซียนทางการจะเริ่มในวันที่ 1 มกราคมปีหน้าก็ตาม
ทางรัฐบาลพม่ามีการเตรียมการมานาน ต้องรอเวลาทั้งหมด 17 ปี หลังจากที่ได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปึ 1997 พอถึงเวลาพม่าจะได้เป็นประธานในปี 2006 ทางผู้นำรัฐบาลพม่าขอผลัดไปก่อนในช่วงมีการประชุมที่กรุงเวียงจันทน์ ในปี 2005 โดยให้หตุผลว่าสถานการณ์ภายในประเทศไม่สงบและยังไม่พร้อมที่จะเป็นประธาน
ตอนนี้รัฐบาลพม่าบอกว่าพร้อมแล้ว หลังเปิดประเทศมีการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจพร้อมกันได้สองปีกว่า ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างสูง พม่าได้กลายเป็นดาวรุ่งของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่จากทุกองค์กรระหว่างประเทศส่งผู้แทนเข้ามาติดต่อ เพื่อให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ล่าสุดธนาคารโลกเพิ่งให้เงินกู้รอบใหม่แก่พม่า ซึ่งต้องถือว่าการโดดเดี่ยวเศรษฐกิจพม่าหรือแซงชั่นที่เคยมีมาในอดีตเลยสลายตัว แทบจะไม่มีอะไรอีกเลย
ทุกวันนี้นักธุรกิจต่างประเทศต่างหลั่งไหลเข้าไปในพม่า เพื่อหาทางลงทุนในพม่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มเข้ามา เนื่องจากมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจากเมืองหลวงต่างๆ ในภูมิภาคมายังพม่า เมื่อเร็วๆ นี้มีเที่ยวบินตรงถึงเมืองหลวงใหม่เนปิดอว์ เริ่มจากกรุงเทพฯ เปิดศักราชใหม่ให้แก่พม่าและเป็นการต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ ที่จะต้องบินเข้ามาประจำในปีหน้า เพราะจะมีการประชุมเตรียมการเกี่ยวกับอาเซียนตลอดปี
รัฐบาลพม่ารู้ดีว่า การเป็นประธานอาเซียนครั้งนี้มีความหมาย เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปในพม่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนภายใน 2015 ฉะนั้นจึงมีการเตรียมการเป็นอย่างดี เริ่มด้วยการออกสโลแกนอาเซียนปีหน้า “มุ่งหน้าด้วยความสามัคคีสู่ประชาคมสันติและมั่งคั่ง” พร้อมยังมีเพลงแนวป๊อป-ร็อกประกอบการเป็นประธานอาเซียน สร้างความประหลาดใจให้แก่สมาชิกอาเซียนเป็นอย่างยิ่ง
ประธานอาเซียนพม่าเผชิญปัญหาท้าทายมากมายทั้งในช่วงปีหน้าและหลังจากนั้น พม่ายังต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจอาเซียนและของโลกเหมือนกับกัมพูชาในอดีตแน่นอน พม่ายังต้องมีความสามารถจัดวาระการประชุมของอาเซียนให้ดีและเหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องปัญหาโรฮิงญา ในฐานะประธานและเป็นเจ้าของเรื่อง พม่าจะใจกว้างพอหรือเปล่าในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องละเอียดอ่อนนี้ ในอดีตรัฐบาลพม่าหลบที่จะถกเรื่องนี้ทั้งในบริบทอาเซียนและต่างประเทศ
ในกรณีที่ผู้นำพม่าเปลี่ยนใจหันมาปรึกษาประเด็นนี้กับผู้นำอาเซียนแบบเดียวกับที่อินโดนีเซียเคนทำกับอาเซียนในปี 2000 ช่วงวิกฤติในติมอร์ตะวันออก โดยขอให้สมาชิกอาเซียนช่วยส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปเพื่อถ่วงดุลทหารออสเตรเลีย ปรากฏว่า ”ไทยรับอาสาเป็นประเทศแรก ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์" ตามมาทีหลัง
หลังจากอินโดนีเซียเปิดอกเรื่องนี้ ทำให้ได้รับความเคารพจากสมาชิกอาเซียน มีผลทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นตัวผลักดันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอาเซียนในแง่บวก ในอดีตอินโดนีเซียเป็นตัวถ่วงในอาเซียน หลังการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองในปี 1998
ฉะนั้นพม่าสามารถเรียนรู้บทเรียนจากอินโดนีเซียได้ โดยเปิดใจให้กว้างยอมรับปัญหาภายในประเทศและเชิญอาเซียนเข้ามามีส่วนในการแก้ไขแบบสุภาพบุรุษ ในขณะนี้รัฐบาลพม่ายังไม่กล้า เพราะยังไม่คุ้นเคยกับอาเซียนเท่าไหร่ ก่อนหน้านี้พม่าไม่ได้ให้ความร่วมมืออาเซียนเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่อยู่ในครอบครัวอาเซียนเดียวกัน
วาระอื่นๆ เช่น การประเมินการทำงานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญเช่นกัน รัฐบาลพม่ามีการปฏิรูปหลายอย่างที่ทำให้สมาชิกอนุรักษนิยมอาเซียนไม่สบายใจในเรื่องเกี่ยวเสรีภาพสื่อหรือการพัฒาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งสองเรื่องสมาชิกใหม่อาเซียนยังไม่ได้ทำอย่างจริงๆ จังๆ
ประธานอาเซียนต้องออกหน้าออกตาในเรื่องการพูดคุยกับต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา จีน และมหาอำนาจอื่นๆ เนื่องจากปลายปีหน้าประธานต้องเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรืออีเอเอส
พม่าได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ประเทศนี้ไม่ธรรมดา สามารถเล่นการเมืองระดับโลกได้อย่างดี