นำร่องปั้นคลัสเตอร์2อุตฯรับมือเออีซี
นำร่องปั้นคลัสเตอร์2อุตฯรับมือเออีซี
เปิดหูเปิดตาอาเซียน : นำร่องปั้นคลัสเตอร์ 2 อุตฯ เพิ่มขีดแข่งขันรับมือเออีซี
นับเป็นโอกาสดีของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อกลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศและประเทศไทย ที่จะสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต และร่วมกันสร้างความเข้มแข็งในด้านของการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยด้วย
นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ.ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และบทบาทสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพ เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และปัญหาหรืออุปสรรคในการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของไทย ที่จะมีผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงและกรอบความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวสู่การเป็นเออีซีที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของไทย
ทั้งนี้ จะทำการคัดเลือกคลัสเตอร์อุตสาหกรรมนำร่อง 2 อุตสาหกรรม เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาและเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการที่ผ่านมานั้น ทีมที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแห่ง พบว่า คลัสเตอร์อุตสาหกรรมของไทยที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการรวมกลุ่มนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายคลัสเตอร์ หากแต่ที่คัดเลือกมาสู่การจัดทำแนวทางการพัฒนานำร่องในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 คือ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
เนื่องจาก “อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน” เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มและมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเครื่องตกแต่งบ้านและอุตสาหกรรมบริการโรงแรม โดยใช้วัตถุดิบในประเทศและใช้แรงงานเข้มข้น ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก ผู้ผลิตไม้และเครื่องเรือนส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็ก และ 80% เป็นการรับจ้างผลิตตามแบบที่ลูกค้ากำหนด และมีโรงงานน้อยรายที่สามารถผลิตภายใต้แบบหรือตราสินค้า (Brand) ของตนเอง แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในตลาดโลกมากนัก
ในปัจจุบันการส่งออกไม้และเครื่องเรือนจะเติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก โดยในปี 2554 ไม้และเครื่องเรือนมีมูลค่าส่งออกรวม 3,029.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น 12.68% ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การส่งออกไม้และเครื่องเรือนยังสามารถขยายตัวได้ดีในตลาดรองของไทย ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ประเทศแถบตะวันออกกลาง และประเทศสมาชิกอาเซียน
ส่วน “อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม” เป็นสาขาการผลิตที่สร้างรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในระดับสูง มีขนาดของมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมใหญ่อยู่ในลำดับ 4 รองจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมยานยนต์ ตามลำดับ ขณะเดียวกันยังเป็นสาขาการผลิตสำคัญที่มีการจ้างงานสูงและมีดัชนีผลิตภาพแรงงานที่พัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 1.02 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 21.2 ของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด
การดำเนินงานในลำดับต่อไปของโครงการ คือ การนำแนวทางการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมนำร่องทั้งสองอุตสาหกรรม มาเป็นต้นแบบในการศึกษาการรวมกลุ่มและการจัดการทรัพยากร เพื่อเป็นแบบอย่างการพัฒนาให้กับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเมื่อมีการเปิดประตูการค้าในเวทีเออีซีแล้วนั้น ย่อมมีการขนถ่ายปัจจัยในการผลิต ทั้งแรงงาน วัตถุดิบ และเงินทุน ซึ่งเป็นโอกาสในการลดต้นทุนของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
ประกอบกับการพัฒนาเส้นทางการค้าต่างๆ ในภูมิภาค อันจะนำมาซึ่งผลประกอบการที่สูงขึ้น จึงเป็นที่น่าจับตามองสำหรับพลวัตภายในภูมิภาคอาเซียนที่ท้าทายความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมไทยในการดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมา ควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้ประกอบการให้เกิดความแข็งแกร่งในเชิงกลยุทธ์ รวมทั้งภาครัฐของไทยจะมีแนวนโยบายในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและมีบทบาทในการเป็นผู้เชื่อมโยงภายในภูมิภาคได้อย่างไรต่อไป
-----------------------
(เปิดหูเปิดตาอาเซียน : นำร่องปั้นคลัสเตอร์ 2 อุตฯ เพิ่มขีดแข่งขันรับมือเออีซี)