'มหาธีร์'ยกบทเรียนอียูค้านเออีซีรวมสกุลเงิน

'มหาธีร์'ยกบทเรียนอียูค้านเออีซีรวมสกุลเงิน

'มหาธีร์'ค้านอาเซียนใช้เงินสกุลเดียว หวั่นซ้ำรอยวิกฤติอียู แนะแต่ละประเทศชูจุดแข็งเร่งสร้างความเท่าเทียมกัน 'สุรินทร์' จี้เตรียมพร้อมอาเซียนรุกเพิ่มบทบาทค้าโลก

               หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับสำนักงานกองทุนส่งเสริมงานวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเวทีสัมมนานานาชาติ "Assessing ASEAN’s Readiness by Country : Opportunities, Concerns, and Preparedness towards the AEC 2015" เมื่อวันที่ 17 กันยายน  มี ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมตัวแทนจากประเทศสมาชิกร่วมเสวนา

               ดร.มหาธีร์ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมสู่อาเซียนเป็นหัวข้อที่หลายประเทศกำลังให้ความสนใจ แต่ยังมีความแน่ใจว่าจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายเพื่อให้การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

               ดร.มหาธีร์ กล่าวว่า แนวทางแรกๆ คือการศึกษาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีการนำเงินสกุลยูโรมาใช้ร่วมกันและขณะนี้ยุโรปกำลังประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ดำเนินมานานถึง 5 ปี และยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ดังนั้น หากการรวมตัวของอาเซียนจะเกิดขึ้นต้องทำให้ดีกว่าที่อียูทำ

               ดร.มหาธีร์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ต้องศึกษา เช่น ข้อผิดพลาดของอียู ที่ครั้งหนึ่งเคยปฏิเสธไม่ให้ตุรกีร่วมเป็นสมาชิก แต่ขณะนี้ตุรกีกลับมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่า อียูชี้ให้เห็นว่าการรวมตัวกันนั้นมีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอย่างไร เมื่อยุโรปตะวันตกซึ่งมีขีดความสามารถสูงกว่ายุโรปตะวันออกในทุกด้าน มีการใช้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำในการผลิตสินค้า และการท่องเที่ยวจากยุโรปตะวันออก ก่อนหน้าที่จะมีการรวมตัวกันของยุโรปทั้งสอง ซึ่งหลังการรวมตัวกันนี้ ทำให้ยุโรปตะวันออกต้องปรับตัวเองมาใช้มาตรฐานเดียวกันตะวันตก ทั้งการท่องเที่ยว ค่าเงิน มาตรฐานสินค้า ทำให้สินค้าของยุโรปตะวันออกแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าแรงงานสูงขึ้น รัฐบาลกรีซต้องกู้เงินมาเพื่อจ่ายเงินเดือนที่แพงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของกรีซล่มสลายในที่สุด และตามมาในอีกหลายประเทศ
 
               “ยุโรปกลายเป็นสหภาพแห่งความไม่เท่าเทียมกัน ยุโรปพยายามรักษามาตรฐานค่อนข้างสูงไว้ ซึ่งในที่สุดมาตรฐานที่สูงจากพื้นฐานความไม่เท่าเทียมกันนำมาซึ่งความล่มสลาย” นายมหาธีร์ กล่าว

               ขณะเดียวกัน สิ่งที่อยากเสนอคือ การใช้ทองคำมาเป็นพื้นฐานการในการอ้างอิงเงินสกุลพิเศษที่จะกำหนดขึ้นเพื่อใช้สำหรับการทำการค้าในภูมิภาค แต่ไม่ใช่การใช้เงินสกุลเดียวกัน เพราะทองคำมีเสถียรภาพมากกว่าค่าเงินสกุลที่นิยมใช้การค้าในตอนนี้ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ที่ไร้เสถียรภาพ ซึ่งการจะมาหารือถึงประเด็นที่ว่าอาเซียนจะใช้เงินสกุลเดียวกันหรือไม่อย่างไรยังไม่ใช่ในตอนนี้ แต่น่าจะมีการพูดถึงในอีกเกือบ 40 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2593

               ดร.มหาธีร์ กล่าวอีกว่า การเตรียมความพร้อมของอาเซียนคือการพยายามพัฒนาด้วยการดึงสิ่งที่ดีที่สุดของแต่ละประเทศมาใช้ การลดภาษีต้องสร้างความเท่าเทียมกัน บางประเทศต้องการกำหนดภาษีสูงไว้เพื่อปกป้องความไม่พร้อมบางอย่าง เช่น ไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มีวัตถุดิบในประเทศ (โลคอลคอนเทนท์) เพียง 40% หากได้รับการลดภาษีจากมาเลเซีย ซึ่งมีโลคอลคอนเทนท์ถึง 90% แน่นอนรถยนต์ของมาเลเซียจะแข่งขันไม่ได้ จึงต้องคงภาษีไว้ก่อนไม่เป็น 0% เพื่อไม่ให้การเปิดเออีซี ทำให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ

               “ปี 2558 ประเทศที่ยังไม่พร้อมเข้าสู่อาเซียน ต้องสามารถเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีการให้เวลาในการเสริมสร้างมาตรการและความเข้มแข็ง อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และหากเกิดผิดพลาดอะไรก็แก้ไขได้ง่ายกว่า คาดว่าการเป็น เออีซี อีก 1 ปีข้างหน้าทุกประเทศกำลังเตรียมความพร้อม แต่ขณะนี้อาเซียนยังมองไม่ลึกซึ้งกับปัญหาอียู ทั้งที่อาเซียนต้องมองเรื่องนี้อย่างมากและไม่เอาความผิดพลาดจากการใช้เงินสกุลเดียวกันมาใช้กับอาเซียน” นายมหาธีร์ กล่าว

               ส่วนการกำหนดนโยบายด้านอื่นๆ ต้องเป็นไปเพื่อการสร้างความเท่าเทียมกัน ขจัดระบบราชการที่ล่าช้า การลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงการเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค เพื่อกำหนดอำนาจการต่อรองในการเจรจาในเวทีระดับโลก

               ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ภูมิภาคที่ได้รับความสนใจจากโลกในขณะนี้ คืออาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ครอบคลุมประชาชน 3,000 ล้านคน มีมูลค่าการค้าต่อปี 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกกนี้กำลังจะถูกจับตามอง แต่เกิดคำถามว่าไทยและอาเซียนมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนแล้วหรือยัง

               ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนยังมีปัญหาความยากจน และความไม่เสมอภาค รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการแข่งขันกันเองยังมีอยู่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น คือ รวมตัวกันเพื่อขยายการค้าร่วมกันให้มากขึ้น เพราะอาเซียนถือว่ามีสัดส่วนการค้าภายในภูมิภาคต่ำ

               รวมทั้งอาเซียนจะต้องสร้างระดับรายได้ของประเทศให้เท่าเทียมกัน ในประเด็นนี้ไม่นับรวม สิงคโปร์ บูรไน มาเลเซีย ที่มีสัดส่วนรายได้ต่อหัวสูง ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ระดับกลางและต่ำ เป็นประเทศที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบที่ไม่ได้มีการลงทุนต่อยอดมาเป็นรายได้หลัก ซึ่งทิศทางการผลิตแบบนี้เป็นการแข่งขันกับจีน อินเดีย และแอฟริกาได้ แนวทางที่จะทำให้หลุดจากกับดักนี้ไปได้คือการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา หรือ อาร์แอนด์ดี ให้มากขึ้น

               ดร.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า อุปสรรคสำคัญที่จะไม่ทำให้อาเซียนรวมเป็นตลาดเดียวได้ คือ การสร้างมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมาแทนหลังการลดภาษีเป็น 0% การลดข้อจำกัดการให้บุคคลเดินทางไปทำงานในประเทศต่างๆ ของภูมิภาค และการเร่งแก้ไขกฎระเบียบภายในเพื่อให้สอดคล้องกับสัตยาบันที่ได้ให้ไว้กับอาเซียน

               ขณะที่ผู้แทนจาก 3 ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เข้าร่วม คือ พม่า กัมพูชาและไทย โดยนายซอ อู ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีพม่า กล่าวในหัวข้อ "พม่าในเออีซี โอกาสในอนาคต" , นายชับ โสทาริท จากสถาบันกัมพูชาเพื่อความร่วมมือและสันติภาพ พูดคุยในหัวข้อ "กัมพูชา โอกาสและความท้าทายของการลงทุน" และนายมาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ข้อมูลเรื่อง "ไทยในเออีซี เชื่อมโยงทั่วภูมิภาค"

               ผู้แทนจากทั้ง 3 ประเทศข้างต้น ได้ตอบข้อสงสัยที่ว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญสุดสำหรับประเทศด้านการพัฒนาเตรียมพร้อมเข้าการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งนายซอ อูกับนายชับ โสทาริท ตอบตรงกันว่าเป็นเรื่องของความสามารถและการเร่งปฏิรูปด้านต่างๆ ในประเทศ

               นายซอ อู ยอมรับว่า พม่าตอนนี้อยู่บนทางแพร่ง จำเป็นต้องเลือกว่าไปทางไหน และอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเปิดรับวิสัยทัศน์อาเซียน และพม่าได้ปฏิรูปแล้วในหลายเรื่อง มุ่งมั่นปฏิรูปภายในประเทศโดยเฉพาะ 4 ด้านสำคัญ คือ การเมือง เศรษฐกิจกับสังคม การบริหารภาครัฐและพัฒนาภาคเอกชน เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุนในอาเซียน

               อย่างไรก็ตาม ในช่วงถามตอบ นายซอ อูระบุว่า สิ่งสำคัญสำหรับพม่าในการพัฒนาสู่กลุ่มเออีซี อยู่ที่ความสามารถในการดำเนินการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง และในพม่ายังมีช่องว่างอยู่มาก ที่จำเป็นต้องแก้ไขและได้รับความช่วยเหลือ

               ความเห็นดังกล่าวสอดรับกับนายชับ โสทาริท ที่ว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับกัมพูชาเข้าสู่เออีซี เป็นความจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปในประเทศ เพื่อเอื้ออำนวยให้ความสะดวกด้านการค้าการลงทุนและด้านการเงิน

               "เราต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ ต้องปฏิรูปกระบวนการต่างๆ อย่างเช่น อัตราภาษีศุลกากรต้องเป็น 0% เมื่อรายได้ส่วนนี้หายไปก็ต้องปรับตัวหารายได้จากแหล่งอื่นแทน และต้องเตรียมความพร้อมให้ประชาชนเข้าสู่เออีซี" 

               นายชับให้ข้อมูลด้วยว่า ระดับความเข้าใจของภาคเอกชนเกี่ยวกับเออีซีโดยเฉพาะในหมู่ผู้ประกอบการท้องถิ่นยังมีจำกัด และภาคเอกชนในกัมพูชายังไม่ได้เตรียมตัวให้ดีสำหรับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ

               "ภาคเอกชนกัมพูชายังไม่มีศักยภาพพอที่จะแข่งขัน และเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการขยายธุรกิจออกไปนอกประเทศ และกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางถึงเล็ก หรือ เอสเอ็มอี จะเผชิญความยากลำบากจากการแข่งขันภายในกลุ่มประเทศสมาชิกเออีซี"

               เช่นเดียวกับมุมมองของนายมาณพ ที่ว่าจากการสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของเอสเอ็มอีในไทยจำนวนหนึ่งของธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังต้องการให้มีกลไกต่างๆ ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการรวมตัวของอาเซียนเพื่อเป็นเออีซี

               ขณะที่มีคำถามที่ว่าเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการค้าการลงทุนในอาเซียน จะผลักดันให้การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมีส่วนช่วยอย่างไรนั้น นายชับระบุว่ากัมพูชาอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ แต่รัฐบาลทำเองไม่ได้โดยลำพัง ต้องดึงเอกชนเข้าเป็นพันธมิตรร่วมลงทุน หรือ พีพีพี แต่เวลานี้ประชาชนในประเทศยังไม่เข้าใจ และคิดว่าพีพีพีส่งผลกระทบต่อพวกเขา มีปัญหาคอร์รัปชั่น และไม่มีหน่วยงานที่สามารถดูแลการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน

               ด้านนายซอ อู ยอมรับว่าพม่ามีความท้าทายเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานคล้ายกัมพูชา และเห็นด้วยกับนโยบายทำพีพีพี ด้วยการดึงเอกชนเข้ามาทำโครงการลงทุน แต่ต้องพัฒนาอย่างระมัดระวัง ต้องจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลพม่าให้ความสำคัญกับการลงทุนระยะสั้นช่วยแก้ปัญหาได้มาก อย่างเช่นการพัฒนาภาคผลิตกับภาคพลังงาน

               ส่วนนายมาณพชี้ว่า ในภูมิภาคอนุลุ่มแม่น้ำโขงคาดว่าจะมีการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมากราว 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถือเป็นตัวเลขมหาศาล แต่การทำโครงการพีพีพีดึงเอกชนมาร่วมได้นั้น ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคต้องมีภาคธนาคารก้าวหน้าพัฒนาแล้วเข้ามาช่วย

               "ถ้าภาคธนาคารในกลุ่มประเทศอนุลุ่มน้ำโขงไม่มีความก้าวหน้า หรือไม่ได้รับการพัฒนาแล้ว ภาคเอกชนประเทศในภูมิภาคนี้ก็จะไม่สามารถพึ่งพาอาศัยแหล่งทุน ที่จะใช้ในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้" นายมาณพกล่าว

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

214

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน