โลจิสติกส์เชื่อมภูมิภาคท้าทายอุตฯไทย
โลจิสติกส์เชื่อมภูมิภาคท้าทายอุตฯไทย
เปิดหูเปิดตาอาเซียน : ปูทางโลจิสติกส์เชื่อมภูมิภาค ความท้าทายภาคอุตสาหกรรมไทย
ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการพัฒนาขีดแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยจากผลวิเคราะห์ล่าสุดทางด้านต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายของภาคอุตสาหกรรม ในการสำรวจ 1,300 สถานประกอบการ 21 กลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2552-2554 มีสัดส่วนลดลงถึง 20.85% เฉพาะการลดต้นทุนถือครองสินค้าคงคลังต่อยอดขายของภาคอุตสาหกรรมในปี 2554 สามารถลดลงได้ถึง 26.04% จากปีฐาน 2552
"ขณะนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์ได้ก้าวข้ามการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือการขยายความสำเร็จของแต่ละองค์กรสู่การเชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของซัพพลายเชนด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรในซัพพลายเชน รวมทั้งการตัดสินใจลงทุนและการขยายฐานการผลิตที่ต้องดำเนินการไปทั้งโซ่อีกด้วย" นายธวัช ผลความดี รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
โครงการที่สำคัญที่จะนำไปสู่แนวทางใหม่คือ โครงการพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลเห็นว่าจุดชายแดนระหว่างประเทศของไทยกับเพื่อนบ้านจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ประกอบกับการใช้ประโยชน์จากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมต่างๆ รวมถึงการร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หรือ Mega Project ของไทยและเพื่อนบ้าน จะทำให้การผลักดันให้เขตอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่มีความโดดเด่น
ในเบื้องต้นสำนักโลจิสติกส์ได้คัดเลือกพื้นที่ชายแดนของไทยกับ พม่า กัมพูชา อย่างละ 1 แห่ง และอีก 2 แห่งที่ลาว ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยจะทำโมเดล หรือแบบจำลองรูปแบบระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่เหมาะสม สำหรับโปรดัก แชมเปี้ยน หรือสินค้าเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจบริเวณชายแดนดังกล่าว ซึ่งหากศึกษาแล้วพบว่าโปรดัก แชมเปี้ยนใดมีศักยภาพในการยกระดับการกระจาย จัดเก็บ และขนย้ายสินค้า หรือแม้แต่การรวมสินค้า บรรจุสินค้า หรือผลิตสินค้า ก็จะให้การสนับสนุนส่งเสริมเพื่อผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการ เพื่อให้การเคลื่อนไหวของสินค้าและบริการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นในแต่ละพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน
“โมเดลเหล่านี้จะเสร็จประมาณเดือนหน้า ต่อจากนั้นก็จะนำโมเดลการจัดการโลจิสติกส์ที่เหมาะสมของแต่ละสินค้าเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ชายแดน ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์ให้กับสถานประกอบการในโซ่อุปทานสินค้าเป้าหมาย คิดเป็น 12 สถานประกอบการใน 4 พื้นที่เขตเศรษฐกิจ ชายแดน” นายธวัชชัยกล่าว
สำหรับรายกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ สำนักโลจิสติกส์ก็ได้เร่งดำเนินงานให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีทางการค้าเออีซี โดยมีโครงการรองรับคือ โครงการยกระดับศักยภาพการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อเป็นฐานการผลิตของเออีซี ซึ่งได้มุ่งเน้นพัฒนา 2 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ ทั้งสองกลุ่มจะมีการศึกษาจัดทำแผนปรับรูปแบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อรองรับเออีซีกันใหม่ ให้สอดรับกับแนวทางการดำเนินธุรกิจที่จะมีโอกาสการขยายตลาดมากกว่าเดิม โดยอาศัยการวิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอกและจัดทำ Simulation Model เพื่อคาดการณ์ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปจากปัจจัยที่แตกต่างกัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นโครงการนำร่องที่น่าสนใจมาก
นี่เป็นแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรมหลังปี 2556 ที่ท้าทายยิ่ง ทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพราะเป็นการเปิดแนวรุกและเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในภูมิภาค และแนวนโยบายของภาครัฐที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างมาก
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการลดต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลังต่อยอดขายของภาคอุตสาหกรรม คือ ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการลดต้นทุน ต่อมาก็คือการเร่งสร้างทักษะและองค์ความรู้ใหม่ให้บุคลากรในระดับต่างๆ รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยี เครื่องมือ และแบบอย่างที่ดี เพื่อช่วยในการบริหารจัดการ และสุดท้ายที่สำคัญคือต้องลงมือปรับปรุงพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการรวมกลุ่มเพื่อ Collaboration หรือแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ทำให้ปัจจัยข้างต้นทำได้ง่ายขึ้น เพราะเรื่องเหล่านี้ได้รับการยอมรับ และกลายเป็นต้นแบบให้กับผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่จะเข้ามาร่วมวงธุรกิจต่อไป