สาธุ!พระมาเลย์รูปแรกสอบป.ธ.9ได้
สาธุ!พระมาเลย์รูปแรกสอบป.ธ.9ได้
สาธุ!พระมาเลย์รูปแรกสอบป.ธ.9ได้ ศน.เปิดวิสัยทัศน์สานสัมพันธ์ศาสนิกอาเซียน : สำราญ สมพงษ์(FB-samran sompong)รายงาน
ดูเหมือนว่าในสังคมไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจกับบาลีศึกษามากขึ้น เพราะเป็นภาษาที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า หากต้องการที่จะเข้าใจคำสอนลึกซึ้งต้องเรียนภาษาบาลีแตกฉาน
ดูได้จากรายงานเรื่อง "ทึ่ง!นศ.สาวจุฬาฯสอบบาลีประโยค4ได้" ที่เผยแพร่วันแรกก็มีคนอ่านกว่าหมื่นคน มากกกว่าข่าวดาราแย่งผัวแย่งเมียตบตีกันผ่านไปเพียง 2 อาทิตย์มีคนอ่าน 13,016 คน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าดีๆก็มีคนอ่านไม่แพ้ข่าวน้ำเน่า ก็อยู่ที่ว่าจะหาประเด็นข่าวดีๆที่น่าสนใจมานำเสนอได้อย่างไร
ขณะเดียวกันปัจจุบันนี้ฆราวาสก็เริ่มหันมาเรียนภาษาบาลีมากขึ้น อย่างเช่นที่สำนักเรียนมหาธาตุวิทยาลัยที่ น.ส.สุกัญญา เจริญวีรกุล นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุ 18 ปี ธรรมศึกษาเอก สอบได้บาลีศึกษา 4 ประโยค เรียนประโยค 5 อยู่ตอนนี้ ก็มีผู้เรียนมากกว่า 200 คน
พร้อมกันนี้ที่มหาบาลีวิชชาลัยที่วัดโมลีโลกยาราม บางกอกใหญ่ เปิดเรียนสำหรับบุคคลทั่วไป ได้จัดกิจกรรมสอนภาษาบาลีให้กับนักโทษที่เรียนจำแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับความสนใจจากสื่อนำไปเผยแพร่ให้กับสาธารณชนได้ทราบ
หากจะเปรียบเทียบการเรียนการสอนภาษาบาลีระหว่างไทยกับศรีลังกาและพม่าแล้วยังถือว่ายังห่างชั้นกันมาก เพราะว่าทั้งสองประเทศนั้นผู้เรียนสามารถบรรยายเทศน์หรือสนทนาเป็นภาษาบาลี ด้วยเหตุนี้พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ซึ่งเป็นหัวหน้าของคณะสงฆ์ไทยในการเดินทางไปงานสัมมนานานาชาติ เรื่องการแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนานานาชาติในบริบทโลก เพื่อเฉลิมฉลอง 260 ปีแห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนา นิกายสยามวงศ์ในประเทศศรีลังกา ที่ สถาบันวิชาการพระพุทธศาสนานานาชาติศรีลังกา (SIBA) เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 21-22 ส.ค. ที่ผ่านมา
ภายในงานสัมมนาดังกล่าวมีการใช้ภาษาบาลีในการสื่อสารหรือบรรยาย โดยนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์ของศรีลังกาสามารถใช้ภาษาบาลีในการสื่อสาร สนทนา ได้เป็นอย่างดี ต่างจากของไทยที่ยังไม่ค่อยมีการส่งเสริมการสอนภาษาบาลีเพื่อการสนทนามากเท่าใดนัก
ดังนั้น พระพรหมบัณฑิตจึงเกิดแนวความคิดว่า มจร เตรียมที่จะส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว โดยการพัฒนาหลักสูตรการสนทนาภาษาบาลี รวมไปถึงจะกำหนดให้นักศึกษาของ มจร ทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ ที่มี การศึกษาเกี่ยวกับภาษาบาลีให้มีการทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาบาลีด้วย
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สภาพการศึกษาภาษาบาลีในประเทศไทยของพระภิกษุสามเณรแม่ชีและฆราวาสทั่วไปนั้นคงมาจากการเน้นท่องจำแปล โดยไม่ได้เน้นที่การเข้าใจและการสนทนาเพื่อนำมาใช้สื่อสารเป็นหลัก เมื่อทาง มจร มีแนวความคิดเช่นนี้ก็ถือว่าถูกต้อง
อย่างไรก็ตามปีหนึ่งๆ จะมีพระภิกษุสามเณรสอบบาลีในแต่ละชั้นได้เป็นจำนวนมากอย่างเช่นปี 2556 สอบได้จำนวน 3,420 รูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคหรือป.ธ. 9 สอบได้ 65 รูป แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในจำนวนนั้นมีพระมหาจารัญ พุทฺธปฺปิโย หาดใหญ่สิตาราม จ.สงขลา เมื่อระบุเช่นนี้ก็คงคิดว่าเป็นพระไทย
ล่าสุดกรมการศาสนากระทรวงวัฒนธรรมได้เปิดวิสัยทัศน์สานสมพันธ์ศาสนิกอาเซียนภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างศูนย์พุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยได้ไปที่วัดจันทร์หอม ตำบลเสาะ อำเภอเซะ รัฐเคดาห์ ซึ่งเป็นวัดศูนย์รวมของชาวพุทธ และเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนพุทธศาสนาของเด็กและเยาวชนที่มีชื่อเสียงในประเทศมาเลเซีย โดยมีพระครูสมุห์เซี้ยน สุเมธโส เจ้าอาวาสวัดจันทร์หอม
เนื่องจากวันดังกล่าวมีการจัดพิธีฉลองอายุวัฒนมงคล 54 ปี 31 พรรษา ของพระปลัดเจริญ อุตตโร รองเจ้าคณะอำเภอเซะ และฉลองเปรียญธรรม 9 ประโยค ประจำปี พ.ศ.2556 ให้กับพระมหาจารัญ พุทธปฺปิโย โดยมีพระธรรมวงศาจารย์ เจ้าคณะภาค18 เป็นประธานในพิธี ในโอกาสนี้ คณะผู้แทนไทยฯและญาติโยมในชุมชนอำเภอเซะร่วมงานเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ได้ทราบว่าพระมหาจารัญเป็นพระภิกษุชาวมาเลเซียรูปแรกในประเทศมาเลเซียที่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค
สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างศูนย์พุทธศาสนาวันอาทิตย์นั้นภายใต้การดูแลของกรมการศาสนา โดยได้นำคณะผู้แทนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไทย เดินทางไปเจรจาหารือเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ณ ประเทศมาเลเซียนครั้งนี้ มีคณะผู้แทนประกอบด้วย นายกฤษฎา คงคะจันทร์ รองอธิบดีกรมการศาสนา พระมหาสาธิต สาธิโต ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ มจร และจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้แทนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดใหม่ทุ่งคา จังหวัดสงขลา ผู้แทนเปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา และเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา
นายกฤษฎา ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การเดินทางมาว่า เพื่อแสวงหาความร่วมมือในกรอบอาเซียน ผ่านกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยใช้ภาษา วัฒนธรรมไทยเป็นสื่อกลาง อันจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศมากขึ้น กิจกรรมดำเนินการ มีเป้าหมายในการพัฒนาหลักสูตร ธรรมะอินเตอร์ มุ่งสอนพัฒนาเด็กให้สามารถสื่อสารพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมเป็นภาษาอังกฤษได้ โดยมีองค์กรเครือข่าย เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นต้น
นอกจากนี้กรมการศาสนายังได้จัดกิจกรรมนำคณะผู้แทนศาสนิกสัมพันธ์ไทยสัญจรสู่อาเซียนยังได้เดินไปยังสภาที่ปรึกษามาเลเซียแห่งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ และลัทธิเต๋า เพื่อส่งเสริมความสามัคคี สร้างความร่วมมือระหว่างศาสนาและศาสนิกชนบนความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา
หรือเมื่อเร็วๆนี้นายสุระ เตชะทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดการเสวนา "บ้านเราอุษาคเนย์" พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ไทย-มาเลเซียในดินแดนอุษาคเนย์" ที่โรงแรมบีพี สมิหลา บีช รีสอร์ท รัฐเกดาห์เช่นกัน
นับได้ว่ากรมการศาสนาได้เปิดวิสัยทัศน์การทำงานให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น แม้นว่าจะผลักดัน "พุทธสภา" ยังไม่เกิดผลก็ตาม เพราะงานไม่ใช่มีหน้าที่เพียงแค่จับสึกพระเท่านั้น ยังมีงานอีกมากที่ควรทำในโลกยุคออนไลน์
...........................
(หมายเหตุ : สาธุ!พระมาเลย์รูปแรกสอบป.ธ9ได้ กรมการศาสนาเปิดวิสัยทัศน์สานสัมพันธ์ศาสนิกอาเซียน : สำราญ สมพงษ์(FB-samran sompong)รายงาน)