'สกว.-แม่โจ้'พัฒนาลำไยภาค2

'สกว.-แม่โจ้'พัฒนาลำไยภาค2

ทำมาหากิน : 'สกว.-แม่โจ้' พัฒนาลำไย ภาค 2 เตรียมรับมือเปิดเสรีอาเซียน : โดย...ธานี กุลแพทย์

 

                           เพื่อสานต่อการทำงานและมุ่งส่งเสริมชาวสวนลำไยอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งด้านแรงงาน ผลผลิต การตลาด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงต่อยอดด้วยการลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระยะ 2 กับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หลังความร่วมมือระยะแรกมีผลงานเด่นทั้งการวิจัย การบริการวิชาการ การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงสร้างเกษตรกรให้เป็นวิทยากรเผยแพร่องค์ความรู้ให้ชุมชน

                           โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ผศ.ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีม.แม่โจ้ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้-สกว.ระยะ 2” ที่ ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ อันเป็นความร่วมมือระยะที่ 2 (ปี 2556-2558) เตรียมพร้อมเกษตรกรเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558

                           โอกาสนี้ ม.แม่โจ้ จึงจัดเสวนาวิชาการ “อนาคตลำไยไทยในอาเซียน” เพื่อกระตุ้นการรับรู้ถึงโอกาส ความเสี่ยงในการผลิตและส่งออกลำไยไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ จากตัวเลขการส่งออกช่วงครึ่งปีแรกพบว่าไทยส่งออกไปจีนมากสุด รองลงมาคือเวียดนาม และอินโดนีเซีย ทว่า จากการส่งออกได้ประสบปัญหาสารตกค้าง ซึ่งเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่จะทำนายอนาคตลำไยของไทยได้

                           นายอุทัย นพคุณวงศ์ ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 1 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาจีนได้ประกาศให้ทุกด่านที่นำเข้าลำไยจากไทยเพิ่มความเข้มงวด โดยเก็บตัวอย่างว่ามีสารตกค้างในปริมาณที่เกินกำหนดหรือไม่ การส่งออกต้องระบุที่มาของแปลงผลิต โรงคัดบรรจุ หรือ “ล้ง” ว่ามาจากที่ใด มีใบรับรองสุขอนามัยว่าไม่มีโรคแมลง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างไม่เกิน 50 พีพีเอ็ม มีโรงรมที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน

                           ขณะที่ ผศ.จักรพงษ์ พิมพิมล คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ม.แม่โจ้ ระบุว่า ห้องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตามมาตรฐานที่ออกแบบขึ้นมามีต้นทุนค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ประกอบการลังเลที่จะใช้วิธีการนี้ แต่จากการทดลองร่วมผู้ประกอบการส่งออกลำไยไปจีนที่ด่านเซี่ยงไฮ้พบว่าผ่านมาตรฐาน ดังนั้น จึงขึ้นกับตัวผู้ประกอบการว่าจะให้ความสำคัญหรือไม่

                           ขณะที่การส่งออกลำไยสดไปฟิลิปปินส์ รศ.ดร.เริงชัย ตันสุชาติ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า แม้สัดส่วนเทียบกับมูลค่าของผลไม้ทั้งหมดกว่าร้อยละ 60 ในทุกปี เพราะมีรสหวาน ราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่าย ทว่า ลำไยจากไทยได้ถูกซื้อขายผ่านประเทศที่สามโดยจีนและไต้หวันเป็นนายหน้า เพราะไทยไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าโดยตรง

                           ด้านการส่งออกไปอินโดนีเซีย รศ.นงนุช อังยุรีกุล ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่า จากปี 2554 อินโดนีเซียประกาศกฎระเบียบบางข้อที่เป็นอุปสรรคกีดกันทางการค้าทำให้มูลค่าการส่งออกปี 2555 ลดลง ขณะเดียวกันอินโดฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรของตนปลูกลำไย ทว่า การไม่เข้าใจการรมสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ขณะที่ลำไยจากจีน เวียดนาม ไต้หวันถูกกว่า ส่งให้ผู้ประกอบการไทยถูกลดบทบาทลงโดยปริยาย 

                           ทว่า ทางออกเกษตรกรชาวสวนลำไยท่ามกลางวิกฤติความเสี่ยงนี้ ผศ.พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.แม่โจ้ กล่าวว่า ไทยยังมีจุดแข็งเพราะมีพันธุ์ลำไยที่ดี สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย มีองค์ความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญาดั้งเดิม และย้ำว่าการผลิตลำไยนอกฤดูยังเป็นหัวข้อสำคัญจะแก้ปัญหาผ่อนหนักเป็นเบา อีกทั้ง ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงแพง จึงต้องออกแบบการปลูกใหม่ให้เหมาะสม รวมถึงการจัดการสวนที่ดีด้วย

                           ทว่า เกษตรกรผู้สนใจผลิตลำไยคุณภาพ ติดต่อที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ โทร.0-5387-3390, 0-5349-9218 หรือ www.longancenter.mju.ac.th

 

 

------------------------

(ทำมาหากิน : 'สกว.-แม่โจ้' พัฒนาลำไย ภาค 2 เตรียมรับมือเปิดเสรีอาเซียน : โดย...ธานี กุลแพทย์)

 

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

207

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน