เสรีสื่อพม่าชูภาพเสรีสื่ออาเซียน
เสรีสื่อพม่าชูภาพเสรีสื่ออาเซียน
เสรีสื่อพม่าชูภาพเสรีสื่ออาเซียน : โลกสาระจิปาถะ : กวี จงกิจถาวร
หลังจากถูกประชาคมโลกประณามมาเป็นเวลากว่ายี่สิบปีที่ผ่านมาในฐานะเป็นประเทศเผด็จ ขณะนี้พม่าในรูปโฉมใหม่ เริ่มทำชื่อเสียงและเรียกความเชื่อมั่นกลับมาสู่ประเทศตัวเองได้อย่างค่อนข้างรวดเร็ว หลังจากมีการปฏิรูปทางด้านการเมืองควบคู่กับเศรษฐกิจ ตั้งแต่นี้ต่อไปอาจจะส่งผลต่อภูมิภาคในอาเซียน
ปีนี้ ดัชนีสื่อเสรีประจำปีขององค์การประเมินเสรีสื่อทั่วโลก ได้ให้คะแนนสภาวะเสรีภาพสื่อพม่าสูงพอสมควร เรียกได้ว่า ทำให้หลายประเทศในอาเซียนต้องอับอายขายหน้าไปทั่วหน้า ปีนี้ไทยตกอันดับมาเป็นประเทศมีสื่อไม่มีเสรี
องค์การฟรีดอมเฮ้าส์ในนครนิวยอร์ก (Freedom House) ตอบรับการปฏิรูปสื่อในพม่าดีมาก ฟันธงว่าค่อนข้างก้าวหน้าในช่วงปีกว่าๆที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Border) ที่มีสำนักงานใหญ่ในรุงปารีส ก็มีความคิดเห็นแบบเดียวกันว่า เสรีภาพสื่อพม่ามีการพัฒนาที่ล้ำหน้าไปกว่าสมาชิกทั่วๆ ไปอาเซียนมาก ถึงแม้ว่ายังมีข้อบกพร่องในเรื่องข้อบังคับต่างๆ ก็ตาม
ขณะนี้พม่าเป็นสมาชิกอาเซียนเดียวที่กล้าเชิญผู้เชี่ยวชาญสื่อต่างประเทศจากอังกฤษและอื่นๆ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาสื่อรัฐให้มีความเป็นสากลและรับใช้สาธารณะมากขึ้น ที่แปลกใจที่สุดคือรัฐบาลพม่าชุดนี้ มีความมุ่งมั่นและนโยบายชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงองค์กรและนโยบายประชาสัมพันธ์ของรัฐ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ต้องการปฏิรูปองค์กรสื่อรัฐ เอ็มอาร์ทีวีหรือกรมประชาสัมพันธ์พม่า ให้เป็นสื่อสาธารณะภายในปีหน้า (ลองคิดดู จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีความคิดแบบเดียวกันนี้ในประเทศไทย) งานนี้ต้องให้เครดิต รัฐมนตรีช่วยกระทรวงข่าวสารพม่า นายเย ตุด ที่คอยฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของสื่อและภาคประชาสังคมพม่า
สื่ออาเซียนมีความหลากหลายมาก สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าสถาบันการเมืองและโครงสร้างความคิดในเรื่องต่างๆ ในสมาชิกประเทศ จึงไม่สามารถหาความจำกัดความร่วมมือเกี่ยวกับสถานภาพสื่อได้ ตัวอย่างเช่น สื่อในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย มีเสรีภาพสื่อก็จริง แต่คุณภาพสื่อนั้นค่อนข้างต่ำ ส่วนในฟิลิปปินส์ สื่อเสรีจริง แต่นักข่าว โดยเฉพาะนักข่าวอิสระ มักจะตกเป็นเป้าหมายของมือปืนรับจ้าง จึงไม่แปลกที่ในแต่ละปี มีนักข่าวฟิลิปปินส์ถูกฆ่าตายหลายคน นักข่าวที่โน่นบางคนพกปืนไว้ป้องกันตัวเอง
ส่วนสื่อในอินโดนีเซียและไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก มีกลุ่มหัวรุนแรงมาข่มขู่ที่สำนักพิมพ์สื่อเป็นต้น ล่าสุดคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหน้าสำนักพิมพ์ไทยรัฐ จึงไม่แปลกที่ดัชนีต่างประเทศหลายแห่ง ยังเห็นว่าสถาพเสรีภาพสื่อไทยยังมีปัญหาเยอะตัวอย่างเช่น เรื่องมาตรา 112 และผลที่ตามมา มันเป็นประเด็นเดียวที่สามารถฉุดดัชนีเสรีภาพสื่อไทยให้ทดถอยในแต่ละปี
ส่วนมาเลเซียและสิงคโปร์ เสรีภาพสื่อมีบ้างในเรื่องไม่เกี่ยวกับการเมือง รายงานข่าวเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะข่าวบันเทิง ทำได้เต็มที่ ส่วนเรื่องละเอียดอ่อนการเมือง โดยเฉพาะเกี่ยวกับรัฐบาลและตัวผู้นำ รวมทั้งสถาบัน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
ในสมาชิกอาเซียน นอกจากสื่อพม่าที่ขยับตัวสูงขึ้นมา สื่อในกัมพูชามีพลวัตและเสรีภาพไม่แพ้ไทย โดยเฉพาะสื่อภาษาต่างประเทศ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ พนมเปญโพสต์ รัฐบาลนายกรัฐมนตรีฮุน เซน เข้มงวดสื่อภาษาเขมรมาก เพราะคนพื้นเมืองเข้าถึงและได้อ่าน มีการขู่ฟ้องและจับกุมนักข่าวหรือนักจัดรายการวิทยุเป็นประจำ สื่อต่อต้านรัฐบาลยังมีอยู่ถึงแม้ว่าจะมีน้อยและยังถูกคุกคามเสมอ
ส่วนสมาชิกอาเซียนใหม่ที่เหลือมันเป็นเรื่องเดิมคือไม่มีเสรีภาพสื่อการปฏิรูปในเวียดนามและลาวในช่วงสามทศวรรษไม่มีผลต่อการปฏิรูปสื่ออย่างที่เห็นในพม่าแม้แต่นิดเดียว
ในอนาคตสื่อในอาเซียนต้องปรับตัวอย่างหนัก ต้องพยายามสร้างหรือเพิ่มค่านิยมและมาตรฐานที่เหมือนกันและเท่าเทียมกัน พร้อมๆ กับการปรับตัวในมติอื่นๆ ในประชาคมอาเซียน เช่นมาตรการต่างๆ ทางด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ บทบาทสื่อใหม่ เช่น โซเชียลมีเดีย จะมีมากขึ้นเรื่อยต่อการสร้างความรู้สึกหรือแปลกแยกในประชาคมอาเซียนหลัง 2015 คงจำกันได้กรณีเผาสถานทูตไทยในกรุงกัมพูชาต้นปี 2003
ประชาคมสื่ออาเซียนทั้งหลาย ต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกัน หามาตรการที่ส่งเสริมเสรีภาพสื่อและความเป็นวิชาชีพให้มากที่สุด เพิ่มการไหลเวียนข้อมูลระหว่างสมาชิกอาเซียน สนับสนุนให้ประชาชนอาเซียนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็ว
บทบาทสื่ออาเซียนในการส่งเสริมการรวมตัวของประชาคมอาเซียนเป็นกุญแจสำคัญ แต่ไม่ยักมีผู้นำอาเซียนออกมาชี้นำในเรื่องนี้