เชิญ “โทนี แบลร์” มาเชือดยิ่งลักษณ์ : เปลว สีเงิน
นี่ก็ย่างเข้าวันที่ ๓ ของเดือนกันยา ท้องฟ้าเหนือทำเนียบฯ แจ่มใส คลื่นลมในอ่าวไทยยังเรียบสงบ ม็อบคณะไหนที่คิดจะยกขบวนมาเยี่ยมนายกฯ ยิ่งลักษณ์วันนี้ จะมาก็ได้ แต่โปรดทราบ “นางทำเนียบฯ” แถไปจีนแล้ว!
หันไปสำรวจท้องฟ้าเหนือแผ่นดินใต้ ท้องฟ้าหลัว สลับฝน แต่ที่เหนือสี่แยกบ้านตูล อำเภอชะอวด นครศรีธรรมราช จุดชุมนุมชาวสวนยาง-ปาล์มน้ำมัน ท้องฟ้าแดงคล้ำ ฉาบคลุมด้วยหมู่เมฆหม่นเทา
กลางสี่แยก “มีศพคนตาย” ตั้ง!
อืมมมม…มันเป็นความไม่ตั้งใจของหมู่ชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น “ตั้งศพสี่แยก” นั้น โบราณถืออาถรรพณ์นัก ส่วนจะบ่งบอกถึงลางใดต่อแผ่นดิน ต่อคน ต่อความเป็นไปในบ้านเมือง พูดได้เพียงว่า
นั่นมิใช่ลางดี!
เห็นยิ่งลักษณ์มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้เป็นเหมือน “ยาปฏิชีวนะประจำตัว” รับหน้าที่เจรจาปัญหาทุกข์กับชาวสวนยาง-ปาล์มภาคใต้
เท่าที่ฟังดูเหมือนว่า ทางผู้ชุมนุมที่ชะอวดจะตั้งตัวแทน ๑๕ คน เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มานั่งโต๊ะเจรจากับนายกิตติรัตน์พรุ่งนี้ (๔ ก.ย.๕๖)
นี่…สมมุติว่า พูดคุยกันแล้ว ตกลงกันได้ที่กิโลละ ๑๐๐ บาท ค่าปุ๋ยอีกไร่ละ ๑,๒๖๐ บาท คนละไม่เกิน ๒๕ ไร่ อย่างนี้ชาวสวนยางภาคกลาง-เหนือ-อีสาน-ตะวันออก ที่ตัดช่องน้อยแต่พอตัว ตกลงเอากิโลละ ๘๐ บาท ไปแล้ว
จะว่าไง?
ตั้งประเด็นให้คิดกันเล่นๆ น่ะ ก็อาชีพเดียวกัน มีปัญหาเดียวกัน แต่ไม่ยอมร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน พอรัฐบาลเอาเหยื่อล่อก็ “แยกวง” แต่ครั้นชาวสวนยางใต้เขาอึดกว่า ต่อรองได้มากกว่า เรื่องมันก็จะตีกลับมาที่รัฐบาลอีกล่ะว่า
ปัญหาใหม่มันจะเกิด?
เช้าวาน (๒ ก.ย.) ได้ดูถ่ายทอดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเหล่าคนสำคัญๆ ด้านสันติภาพและปรองดองที่รัฐบาลจัดที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กันหรือเปล่าเอ่ย?
ผมน่ะ…ตื่นขึ้นมาเขาก็เลิกพอดี แต่เท่าที่เงี่ยหูฟังแล้วจับจากควันหลง เสียงส่วนใหญ่ลงมติ งานนี้ที่นึกว่า จะมาเป็นผักชีโรยหน้าปรองดองให้ยิ่งลักษณ์ …ที่ไหนได้ กลายเป็นสุนทรกถา
“แหกหน้า-ฉีกอก” ยิ่งลักษณ์ เหวอะ!
โดยเฉพาะนายโทนี แบลร์ อดีตนายกฯ อังกฤษ กับนางพริสซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และที่ปรึกษาอาวุโสของ CHD (Center for Humanitarian Dialoque)
สรุปที่นายแบลร์พูดเป็นประเด็นสำคัญก็คือ ท่านเพียงมาเล่าประสบการณ์ให้คนไทยฟัง ส่วนปัญหาในบ้านเมืองไทย ก็เป็นหน้าที่ของคนไทยจะต้องแก้ไขกันเอง
แล้วท่านบอกถึง ๕ หลักการ ที่จะปฏิบัติไปสู่ความปรองดอง คงฟังกันแล้ว ฉะนั้น ผมจะเน้นเฉพาะที่คิดว่า รัฐบาลระบอบทักษิณควรซึมซับให้เข้ากะโหลก
“…………ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องลงคะแนนเสียงเฉยๆ ไม่ใช่เรื่องว่าคนส่วนใหญ่เข้าไปมีอำนาจ แต่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่าคนส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กับคนกลุ่มน้อยอย่างไร หากคิดว่าประชาธิปไตยคือการชนะทุกอย่าง จะทำให้คนกลุ่มน้อยรู้สึกว่าถูกกีดกันในทุกเรื่อง
ผมเห็นว่าประชาธิปไตยคือพหุภาคี ไม่ใช่อำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องการมีพื้นที่แบ่งปันทำงานกันได้ แบ่งปันค่านิยมบางอย่างร่วมกัน ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความคิด
ส่วนเรื่องหลักนิติธรรมต้องดำเนินไปไม่เอนเอียง ไม่ว่าจะเป็นตุลาการหรือรัฐบาลต้องตรวจสอบได้ ความยุติธรรมต้องมีความอิสระปราศจากการแทรกแซงและอคติ นี่คือกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง”
“……..การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าถ้ารัฐบาลมีประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน โปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ การปรองดองจะง่ายขึ้น ถ้ารัฐบาลกำลังทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนรู้สึกดีขึ้น
หรืออีกนัยหนึ่งคือ ให้ประชาชนรู้สึกว่า กระบวนการสันติภาพนำความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้น ประเด็นที่รัฐบาลจะเดินหาประชาชนทำให้เขาเป็นอยู่ดีขึ้น คือประเด็นที่สำคัญและเป็นสิ่งที่ท้าทายของรัฐบาล”
ครับ…นี่คือที่นายแบลร์พูด พวกสมุนทักษิณที่นั่งกันหัวเหน่ง ได้ยินแล้วคงคอย่น หลับตาปี๋ นึกในใจ ให้มาพูดอวยเจ้าภาพ ดันมาพูดอัดเจ้าภาพซะนี่!
และที่น่าจะคอย่นถึงขย้อน เมื่อนางพริสซิลลา เฮย์เนอร์ เหมือนใช้หวายแช่เยี่ยวฟาดแสกหน้า ตั้งแต่ยิ่งลักษณ์ไปถึงชายกระโปรงทุกตน
“……….ความผิดอย่างหนึ่ง คือเรื่องที่บอกว่ายกโทษให้ทุกเรื่อง นิรโทษกรรมทุกอย่างเคยเกิดขึ้นที่ประเทศอาร์เจนตินาเมื่อ ๒๐ ปีที่ก่อน สิ่งต่างๆ เหล่านั้น คนอาร์เจนตินาส่วนใหญ่ปฏิเสธ และคำว่านิรโทษกรรมก็เป็นคำลบ
บางครั้งผู้ที่เคราะห์ร้ายไม่ยอมรับ และดิฉันก็คิดว่าไม่ถูกต้องเช่นกัน การใช้กำลังข่มขู่เพื่อปรองดอง ดิฉันคิดว่า เริ่มต้นก็ล้มเหลวแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไม่กี่สัปดาห์ ที่อียิปต์ ฝ่ายทหารยึดอำนาจ ปิดปากพวกที่ล้มประธานาธิบดี ชาวโลกก็เห็นแล้วว่าผลเป็นอย่างไร
เรื่องนี้เป็นการคุกคามข่มขู่อีกเรื่องหนึ่งที่ใช้แล้วผิด คือการนำสิ่งต่างๆ ปิดบังแก่นแท้ โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องมีการตระหนักรู้ ทั้งนี้ การปรองดองไม่ใช่เรื่องการบังคับขู่เข็ญหรือปกปิด
การปรองดองไม่ใช่การเร่งรีบ เราเร่งไม่ได้ เมื่อเริ่มกระบวนการแล้ว จะต้องดูแลและเคารพในเรื่องการสื่อสารและรับฟัง ความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง คอป.เสนอในหลายด้าน เราควรมองว่าข้อเสนอเน้นเรื่องอะไร
ก่อนที่จะสรุปจบนี้ ดิฉันขอหันไปในประเด็นที่การนิรโทษกรรม ดิฉันทราบว่าประเด็นนี้อาจมีความผิดพลาดหากตีความแคบมากเกินไป หากใช้แนวทางสากลมากเกินไป อาจนำไปใช้ในบริบทท้องถิ่นไม่ได้ หลักการคือ ต้องมีการเคารพกับผู้ประสบเคราะห์ ไม่ควรมองว่าเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง ควรมีการเสวนา และมองว่ากระบวนการปรองดองควรจะทำอย่างไรต่อไป
แม้จะมีการยกโทษให้อาชญากรรมบางอย่าง แต่ไม่ควรลบกระบวนการค้นหาความจริง แม้จะนิรโทษก็ต้องมีกระบวนว่า อดีตเกิดอะไรขึ้นบ้าง ขอเน้นจุดสุดท้าย กรอบทุกอย่างที่พูดในวันนี้ ควรมีหลักการประชาธิปไตยรองรับอยู่ ควรมีพื้นที่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
สิ่งที่ดิฉันพยายามพูดมีสิ่งที่น่าสนใจคือ ขณะที่เราหาผลประโยชน์ให้กับชาติ พรรคการเมืองก็จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน เราควรปล่อยให้มีการสานเสวนาและเคารพความคิดที่แตกต่าง เพื่อให้ถกเถียงกันและเพื่อธรรมาภิบาลที่ดี
แต่ใจกลางความขัดแย้ง ต้องยอมรับว่า ต้องให้ประชาธิปไตยนำทาง เป็นภาพรวมวิสัยทัศน์ที่ควรนำมาใช้เพื่อประเทศชาติเป็นหลัก”
เป็นไงครับ…นี่เฉพาะภาคเช้า ด้วยเหมือนหนังผิดม้วนอย่างนี้ รัฐบาลคงแทบอยากยกเลิกวงเสวนารอบบ่าย แต่ เออ…ทีแรกใครๆ ก็เข้าใจว่างานนี้รัฐบาลเป็นผู้จัด ทั้งยิ่งลักษณ์ นายสุรพงษ์ รมว.ต่างประเทศก็ออกข่าวอย่างนั้น
แต่กลายเป็นว่า นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บอกในงาน “การจัดครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล” โดยเตรียมการมา ๓ เดือนแล้ว บังเอิญตรงกับเวทีปฏิรูปพอดี
เอาเถอะ…ใครเป็นฝ่ายจัด และใครเป็นฝ่ายจ่าย ก็สุดแต่จะเข้าใจกันเอา แต่ที่แน่ๆ เมื่อวานมีเสียงตำหนิการทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการมาก ตรงที่นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาฯ อาเซียน ซึ่งมาในงานได้ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น พร้อมตั้งเป็นคำถามองค์ปาฐกบนเวทีว่า
“ผู้ปาฐกถาทั้ง ๓ ท่าน พูดถึงเรื่องให้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่สำหรับประเทศไทยของเราไม่ได้แบ่งออกเป็นสองฝ่ายเท่านั้น แต่ยังได้มีการส่งอำนาจผ่านทางสไกป์เกี่ยวกับอนาคตประเทศ มีการแทรกแซงจากภายนอก ซึ่งถือว่าเป็นการกระทบเจตจำนงของเรา จนส่งผลกระทบต่อภายในประเทศ โดยการสร้างความปรองดองจะแก้ปัญหานี้อย่างไร”
แทนที่อาจารย์ฐิตินันท์จะให้ผู้ที่เชิญมาทั้ง ๓ ท่านได้ตอบ กลับรวบรัดปิดรายการ พักกินข้าวเที่ยงเฉยเลย!
แต่นายโทนี แบลร์ ไปเที่ยงกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่บ้านเอกอัครราชทูตอังกฤษ ถนนวิทยุโน่น นั่งกินไป-คุยกันไปสบายๆ ๒-๓ คน ตามประสาอดีตนายกฯ ที่เข้าใจปัญหาและแนวทางสู่การปรองดองด้วยกัน
ครับ…ก็เก็บเรื่องของปัญญาชนมาเล่าสู่กันฟัง แต่มีไพร่อับปัญญาอยู่คน ถึงแต่งตัวเป็นอำมาตย์ ก็อัพเกรดปัญญาขึ้นมาจากไพร่ไม่ได้ เฟซบุ๊กของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โพสต์ข้อความว่า
“ขอบคุณท่านนายกฯ โทนี แบลร์ สำหรับข้อคิดและประสบการณ์อันมีค่า แต่ไหนๆ มาแล้วผมรบกวนท่านอีกอย่างได้มั้ยครับ?
“คือ…มีพลเมืองประเทศท่านอยู่ที่นี่คนนึงอ่ะ หนีทหาร ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ทำคนตายเป็นร้อยบาดเจ็บเป็นพัน แถมยังหาเรื่องรัฐบาลตะพึดตะพือ
“อ่า…คือว่า…เสร็จงานแล้วท่านเอากลับไปด้วยได้มั้ยครับ แหะๆ แหะๆ”
เฮ้อ…”ไพร่ก็คือไพร่” แยกแยะไม่ได้กระทั่งว่า ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ถึงยังไงมันก็ดีกว่า รัฐบาลที่ไปให้โจรหนีคดีตั้งอยู่นอกประเทศ.
- องค์กรสิทธิฯประสานเสียงร้องให้ปล่อยตัว14นักศึกษา หลังถูกขังเรือนจำ กลุ่มปชต.ใหม่แถลงสู้ต่อ
- “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ทรงเป็นประธาน ในพิธีไหว้ครูและพระราชทานเหรียญรางวัลการศึกษาแก่นักเรียนนายร้อยประจำปีการศึกษา
- “รมว.พลังงาน” จ่อขยับภาษีแอลพีจีภาคขนส่ง
- สหรัฐพร้อมช่วยชาติในอาเซียนรับภาระผู้อพยพ
- “ททท.”ชี้คนจีนแห่เที่ยวไทย-คาดปีนี้ไม่ต่ำกว่า 6ล้านคน