อาเซียนพัฒนาอารยสถาปัตย์

อาเซียนพัฒนาอารยสถาปัตย์

อาเซียนพัฒนาอารยสถาปัตย์ : คอลัมน์ กฤษนะทัวร์ยกล้อ โดย... กฤษนะ ละไล



 


 

          ซินจ่าว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับคำเชิญจากศูนย์พัฒนา และฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ศพอ.) หรือ Asia-Pacific Development Center on Disability (APCD) ให้ไปทำข่าวการประชุมอาเซียนครั้งสำคัญ ที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม

          ประเด็นที่ผมสนใจมากในการประชุม 10 ชาติอาเซียน+ญี่ปุ่น ในครั้งนี้ คือ การร่วมมือกันของ10 ชาติอาเซียน โดยมี “มหาอำนาจอารยสถาปัตย์โลก” อย่าง “ญี่ปุ่น” คอยให้คำแนะนำ และช่วยเหลือ เพื่อเดินหน้าไปสู่การปรับปรุง และพัฒนาอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ในภูมิภาคอาเซียนนับจากนี้ไป

          นั่นหมายความว่า เรื่อง “อารยสถาปัตย์” ได้เข้าสู่ภาคปฏิบัติของสมาชิกทั้ง 10 ชาติในอาเซียนอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่า ทั้ง 10 ชาติอาเซียน จะต้องช่วยกันปรับปรุง และพัฒนาอารยสถาปัตย์ เพื่อขจัดอุปสรรคทางสภาพแวดล้อมของผู้พิการในเบื้องต้น และเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียมสำหรับคนทั้งมวล

          ความจริงวันนี้ หลายประเทศในอาเซียน ยังขาดแคลนอารยสถาปัตย์ ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยพักฟื้น และตำรวจทหารผ่านศึก หรือในบางประเทศอาจมี แต่ยังไม่ทั่วถึง ยิ่งไปกว่านั้น คือ มีแต่ใช้การไม่ได้ เนื่องจากทำไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ยังตกต่ำย่ำแย่ ยังออกจากบ้านไปไหนมาไหนเองไม่ได้ ต้องตกเป็นภาระของคนอื่น และเป็นภาระของสังคมมาช้านาน

          ที่ประชุม 10 ชาติอาเซียนที่กรุงฮานอย ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า  การพัฒนาอาเซียนจะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของคนทุกหมู่เหล่า รวมถึงคนพิการ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานราก และนับจากนี้ไป สมาชิกอาเซียนจะต้องช่วยกันขจัดอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินชีวิตอิสระของคนพิการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงสหประชาชาติที่มุ่งเน้น 3 อย่าง คือ (1) สิทธิ  (2) ความเท่าเทียม  (3) การอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรี   

          “เล เลือง มินห์” เลขาธิการอาเซียนคนที่ 13 บอกว่า  “อารยสถาปัตย์” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ และจำเป็นมากต่ออาเซียน เพราะในอาเซียนมีผู้พิการอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศที่เคยเกิดสงครามขึ้นหลายครั้ง อย่างเช่น กัมพูชา ลาว และเวียตนาม เฉพาะเวียดนามในปัจจุบันมีคนพิการกว่า 6 ล้านคน ดังนั้น เราต้องสร้างสังคม และสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้พิการให้มากขึ้น ต้องช่วยกันขจัดปัญหา และอุปสรรคเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เพื่อเชื่อมโยงผู้พิการให้เข้าสู่สังคมได้เหมือนคนปกติทั่วไป

          ดร.เตช  บุนนาค  ประธานกรรมการบริหาร APCD กล่าวว่า  อารยสถาปัตย์เป็นภาษาสากลของโลกยุคปัจจุบัน และอนาคต  อารยสถาปัตย์จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของคนเราดีขึ้น มีความสะดวก และปลอดภัยมากขึ้น ไม่เฉพาะคนพิการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้สูงอายุ และผู้ป่วยพักฟื้นด้วย

          เช่นเดียวกับ “อากิอิเอะ นิโนมิยะ” ผู้อำนวยการบริหาร APCD ที่มองว่า  “อารยสถาปัตย์” เป็นยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่จะก่อให้เกิดชุมชุนแห่งการแบ่งปัน และเอาใจใส่  เคารพในเกียรติ และศักดิ์ศรีของผู้พิการ  โดยนำหลักอารยสถาปัตย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ในอาเซียน ทั้งในแง่สิ่งปลูกสร้าง การคมนาคม การสื่อสาร ข้อมูลข่าวสาร และทัศนคติของบุคคล  อารยสถาปัตย์จะเป็นตัวเชื่อมโยงความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ และแต่ละประเทศเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน เสมอภาค และมีสันติสุข

          กิจกรรมสำคัญจากนี้ไป  คือ การเดินสายรณรงค์ และสำรวจอารยสถาปัตย์ทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อร่วมกันปรับปรุง และพัฒนาอารยสถาปัตย์ทั้ง 10 ชาติ ให้มีคุณภาพ และมาตรฐาน เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายประชาคมอาเซียน ประชาคมเพื่อคนทั้งมวล ให้ได้ภายในปี 2015 นี้ครับ

.......................................
(หมายเหตุ อาเซียนพัฒนาอารยสถาปัตย์ : คอลัมน์ กฤษนะทัวร์ยกล้อ โดย... กฤษนะ ละไล)

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

254

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน