สมเด็จพระบรมราชินีนาถ “พระผู้ทรงนำผ้าไหมไทย” สู่เวทีโลก


         610

         เมื่อปี 2513 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัย ที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม

          ณ สถานที่แห่งนี้เอง เป็นต้นกำเนิดของพระราชดำริการพระราชทานอาชีพเสริมแก่ราษฎรและเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้าเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา “ผ้าทอไทย”

T0015_0007_01

         เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็น “ผ้าซิ่นไหมมัดหมี่” ที่หญิงชาวบ้านใส่มารับเสด็จด้วยความสนพระราชหฤทัย จึงโปรดเกล้าฯให้คณะเจ้าหน้าที่ออกไปติดต่อรับซื้อผ้าไหมจากชาวบ้านโดยทรงรับซื้อไว้ในราคาสูง ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจทอผ้าไหมต่อไป

         อันเป็นการส่งเสริมผ้าไหมมัดหมี่เป็นอาชีพเสริมดังพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 11 สิงหาคม 2547 ความตอนหนึ่งว่า

          “…ข้าพเจ้าบอกเขาว่า ผ้าที่เขาใส่นี่สวยมาก ทอให้พระราชินีได้ไหม ชาวบ้านเขาก็บอกว่า พระราชินีจะเอาไปทำอะไร เพราะว่าผ้าแบบนี้ที่คนเขาจะนุ่งห่มก็มีแต่คนยากจนเท่านั้น คนใช้ที่กรุงเทพฯนั่นแหละเขาใส่กัน พระราชินีจะใส่ไปทำไม ข้าพเจ้าก็ตอบไปว่า ทอให้พระราชินีจะใส่ตลอด เขาก็ได้ตกลง มีการเข้าชื่อกันว่ามีใครบ้างจะรับอาสาทอผ้าไหมมัดหมี่ถวายแบบที่เขาใส่กันลายแปลกๆ ข้าพเจ้าได้ให้เงินล่วงหน้าไว้ กับคนที่จะทอผ้าให้ข้าพเจ้าทุกคน สังเกตเห็นว่าแววตาของเขาทั้งหลาย มีความหวังว่าเขามีงานทำ…”

pt1

         ณ วันนี้ ผ้าไหมมัดหมี่และผ้าทอพื้นบ้านต่างๆ อาทิ ผ้าแพรวา ผ้าปักชาวเขา ผ้าจก ผ้ายก ได้รับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ไม่ให้สูญหาย และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ

         โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็น “พรีเซ็นเตอร์” ด้วยพระองค์เอง จากการที่ทรงซื้อผ้าทอมือผลงานของชาวบ้านมาตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์เพื่อทรงใช้ในโอกาสต่างๆ

          นับได้ว่า “ทรงนำแฟชั่น” ส่งผลให้ผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าไหมได้รับความนิยมกระทั่งทุกวันนี้

queen

          ปิยวรา ทีขะระ หัวหน้าคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้นอกจากคนไทยจะนิยมผ้าไทยโดยเฉพาะผ้าไหมแล้ว ชาวต่างชาติล้วนรู้จักผ้าไหมไทยเป็นอย่างดี เพราะผ้าไหมไทยถือเป็นที่หนึ่งของโลก

         เมื่อพูดถึงซิลค์(Silk) หรือผ้าไหมขึ้นมา ใครๆ ก็จะนึกถึงผ้าไหมของประเทศไทย

         “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของผ้าไหมไทย ตั้งแต่เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในช่วงแรกๆ

         จนเริ่มก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีรายได้เสริมระหว่างฤดูกาลในแต่ละปี

          จนถึงวันนี้ ถ้าหากพระองค์ไม่ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการทอผ้า ผ้าไหมอาจสูญหายไปแล้วก็เป็นได้

         คงเหลือแต่ผ้าในพิพิธภัณฑ์ เป็นผ้าที่ตายแล้วเท่านั้น” ปิยวรากล่าว

644178_633071833372593_1900010073_n

         ด้าน กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหาร นิตยสารโว้ก ประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทผ้าไทยในวงการแฟชั่นโลกว่า ผ้าไหมไทยปรากฏโฉมให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกมานานแล้ว นับตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริให้ตัดเย็บฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมไทยโดยดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส เพื่อทรงใช้ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ

         “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริที่ล้ำสมัยมากในการทรงนำผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ถ้าไม่ทรงผ้าชนิดนี้ ก็ไม่สร้างแฟชั่น

          แต่พระองค์ทรงสร้างแฟชั่น ด้วยการเลือกใส่แต่ผ้าไหมมัดหมี่ ถือว่าพระองค์ทรงเป็นพรีเซ็นเตอร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด

          ซึ่งพระองค์ทรงทำด้วยใจรักและเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการรักษาสมบัติของชาติไม่ให้หายไป อีกทั้งสร้างอาชีพให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี”

         จากพระราชประสงค์ที่พระราชทานอาชีพเสริมแก่ราษฎรให้รอดพ้นจากความยากจนมาถึงทุกวันนี้ ผ้าไหมก้าวสู่เวทีแฟชั่นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จากที่ได้รับความนิยมใช้ในงานพิธีต่างๆ และผู้ใหญ่เท่านั้น

006

         นับจากนี้ไป ผ้าไหมไทยกำลังได้รับการส่งเสริมให้เข้าไปอยู่ในหัวใจของคนรุ่นใหม่มากขึ้น

         “ปัจจุบันดีไซเนอร์ไทยนำผ้าไหมมาใช้ในการออกแบบเสื้อผ้ามากขึ้นจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพราะเมื่อก่อนผ้าไหมยังมีราคาแพงจึงถูกนำมาใช้น้อย และยังใช้กับผู้มีอายุมากแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เริ่มรู้จักนำลวดลายมาใช้ในการออกแบบ หรือแม้กระทั่งนำลวดลายไปพิมพ์ทับเนื้อผ้าชีฟองนำมาตัดเย็บผสมผสานกับผ้าไหมจริงๆ โดยทำให้ดูทันสมัยมากขึ้น น่าสวมใส่มากขึ้น

         นอกจากนี้ วัยรุ่นหลายคนยังนำผ้าไหมมามิกซ์แอนด์แมทช์ใส่กับเสื้อผ้าอื่น

         หรือนำมาตัดชุดลำลอง ผ้าไหมปัจจุบันไม่ใช่เป็นชุดที่ใช้ออกงานอย่างเดียวแล้ว และไม่ใช่ของสูงส่งที่จับต้องไม่ได้”

         กุลวิทย์กล่าวอีกว่า แม้จะเป็นที่รู้กันว่า ผ้าไหมเป็นผ้าปราบเซียน แต่ก็มีดีไซเนอร์ชาวต่างชาติหลายคนที่ประทับใจในความสวยงามของผ้ามัดหมี่ จึงนำลวดลายของผ้ามัดหมี่ไปพิมพ์ลายดิจิตอลบนผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นการใช้ลวดลายของผ้าไหมไทยในอีกด้านหนึ่ง โดยใส่ความทันสมัยเข้าไป ถือเป็นความชาญฉลาดในการออกแบบและการนำมาประยุกต์ใช้ของดีไซเนอร์ต่างชาติ

         “ลวดลายต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์แบบไทย เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของผ้ามัดหมี่ที่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น” กุลวิทย์ทิ้งท้าย

320

         ด้านคนรุ่นใหม่ที่หลงเสน่ห์ผ้าไทย นายอดิเรก คำน้อย ยังก์ดีไซเนอร์ที่เข้าร่วมแข่งขันในรายการทอฟ้าผ้าไทย กล่าวถึงความสนใจในผ้าไทยว่า เป็นเพราะเกิดในต่างจังหวัดทำให้ได้เห็นผ้าไทยลวดลายต่างๆ ที่มีความสวยงามมาก แต่ทั้งที่ผ้าไทยมีลวดลายที่สวยงามกลับถูกนำไปใช้เพียงตัดชุดข้าราชการ หรือชุดสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากพัฒนาผ้าไทยให้ทันสมัยและไปสู่สากลได้

         เช่นเดียวกับ นายภาณุพงษ์ อินทะมน หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันในรายการทอฟ้าผ้าไทย เล่าว่า เคยไปเห็นการทำผ้าที่ศูนย์ศิลปาชีพ อ.นาหว้า แล้วได้รู้ว่าผ้าแต่ละผืนใช้เวลาทำนานมาก วันหนึ่งทอผ้าได้ 30 เซนติเมตรเท่านั้น รู้สึกว่ามีคุณค่ามาก จุดนี้เองเป็นแรงบันดาลใจให้คิดว่าจะทำอย่างไรให้ผ้ามีคุณค่ามากที่สุด

         “ความตั้งใจของผมคือ การนำผ้าไทยมาออกแบบควบคู่ไปกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้ผ้าไทยคงอยู่และชาวบ้านได้ทำงานต่อไปสืบทอดภูมิปัญญาต่อไป ซึ่งการนำผ้าไทยมาใช้นั้น เราไม่ต้องแสดงอะไรมากมายเพราะผ้าไทยมีอินเนอร์ในตัวเอง ซึ่งถ้าดีไซเนอร์ไทยนำไปประยุกต์ใช้ในระดับโลก แน่นอนว่า เราต่างจากเขาแน่นอนและยังช่วยสืบทอดภูมิปัญญาอีกด้วย”

13446549741344655049l

         ด้าน พิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อํานวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) กล่าวถึงการส่งออกผ้าไหมของประเทศไทยว่า เราส่งออกทั้งแบบผ้าผืนที่ลูกค้านำไปตัดเย็บเอง และส่งออกเป็นเคหะสิ่งทอ เช่น ปลอกหมอน ผ้าม่าน ซึ่งคนไทยพอพูดถึงผ้าไหมหรือผ้าทอมือ ก็มักคิดถึงแต่ชุดผ้าไหมเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วเราส่งออกประเภทอื่นด้วย โดยเฉพาะในตลาดหลัก เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือในทวีปเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งโรงแรมหรือร้านอาหารนิยมนำผ้าไหมไทยไปตัดเย็บเป็นผ้าม่าน หมอนอิง ผ้าปูโต๊ะ เนื่องจากมีความเงางามดูหรูหรา

          โดยจะมีออเดอร์สั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก

         “ผ้าไหมไทยในตอนนี้เข้าสู่ตลาดโลกแล้ว แต่ตอนนี้ที่น่าสนใจคือตลาดผ้าไหมในอาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจในภาคพื้นทวีปเอเชียกำลังเฟื่องฟู ทำให้โรงแรมขยายห้อง สินค้าผ้าไหมที่เป็นเคหะสิ่งทอจึงต้องเพิ่มการผลิตมากยิ่งขึ้น”

images

         ผอ.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวต่อว่า ศศป.ให้ความสำคัญกับช่างทอผ้ามาก เราอยากให้ลายผ้ามีความแตกต่างกันแต่ละจังหวัด อาทิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงใหม่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของลวดลายแต่ละที่ เช่น ผ้าลายกาบบัวต้องเป็นของอุบลราชธานี แต่ถ้าเชียงใหม่ก็ต้องเป็นผ้าของแม่แจ่ม ซึ่งทั้งลายและวิธีทำแตกต่างกัน

         “เดี๋ยวนี้มีการสืบทอดความรู้ให้ลูกหลานด้วย เขาก็ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ ปรากฏว่ามูลค่ามันเพิ่มขึ้นมามหาศาล จากผ้าทั่วไปที่ขายอยู่หลักพัน เดี๋ยวนี้ขายได้เป็นหลักแสน ซึ่งก็ยังใช้วิธีทอมือเหมือนเดิม”

         “นอกจากผ้าที่น่าสนใจอีกคือ ผ้าของชาวเขา เพราะมีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อต่างกัน ฉะนั้น ลายผ้าก็ต่างกันด้วย ยกตัวอย่าง ชนเผ่าหนึ่งเขาเชื่อว่าม้าเป็นพาหนะของการเดินทาง เขาก็จะทอลายม้าลงไปบนผืนผ้าของเขา ผ้าแต่ละผืนจะแสดงศิลปวัฒนธรรมของเขาไว้”

         “ผ้าเหล่านี้ไม่ใช่แค่มูลค่าการส่งออก แต่หมายถึงคุณค่าด้วย ถ้าไปถามนักธุรกิจเขาอาจจะตอบเป็นเรื่องการค้าขาย ว่าสีนี้แบบนี้กำลังมาแรงควรจะส่งไปที่ไหน แต่ถ้ามาถามถึงงานที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ส่งเสริม พระองค์จะทรงคำนึงถึงคุณค่าของผ้าด้วยว่าสามารถรักษาไว้ได้หรือไม่ ซึ่งเราอยากให้คนมองถึงคุณค่าของผ้าด้วยไม่ใช่มองแค่มูลค่าอย่างเดียว”

1375093644

          ล่าสุด แบรนด์กระเป๋าชื่อดังระดับโลกจากอิตาลี “กุชชี่” ได้นำเอาผ้าไหมไทยไปตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์และกระเป๋าทรงถือ เพื่อทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าวงการแฟชั่นระดับโลกมองเห็นความสำคัญของผ้าไหมไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นต้นแบบมาโดยตลอด

         “ก่อนหน้านี้ กุชชี่เคยมาดูงานที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ซึ่งได้มาดูกระเป๋าย่านลิเภาของไทยและบอกกับเราว่า เขาจะนำไปทำต้นแบบในการดีไซน์กระเป๋าแบรนด์กุชชี่ เพราะแบรนด์กระเป๋าชั้นนำของโลกมักจะออกไปหาแรงบันดาลใจเพื่อสร้างผลงาน ต่อไปเราอาจจะเห็นกระเป๋าแบรนด์ดังๆ นำแรงบันดาลใจที่ได้จากผ้าไหมไทยทั้งลวดลาย วิถีชีวิตของผืนผ้าไทยก็เป็นได้”

         แม้ผ้าไทยจะได้รับความสนใจจากโลกแล้ว ผอ.พิมพาพรรณกลับบอกว่า งานของ ศศป.จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ที่ว่าองค์ความรู้ในการสรรค์สร้างศิลปะหัตถกรรมนั้นสามารถเข้าถึงคนไทยรุ่นใหม่ๆ ได้หรือไม่ คนไทยที่หาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพหัตถกรรมเหล่านี้ได้หรือไม่

view_resizing_images

         สุดท้ายคือ ตลาดทั่วโลกยอมรับในงานผ้าไหมของไทยเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพราะงานทอผ้าไหมแบบชาวบ้านนั้นไม่เหมือนกับงานอุตสาหกรรมผ้าที่ผลิตครั้งละมากๆ

          “การทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงไม่ได้คาดหวังว่างานฝีมือทอผ้าจะทำให้คนร่ำรวยเงินทองมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงคาดหวังคือ อยากให้อนุรักษ์ภูมิปัญญาทางความคิดและหัตถกรรมไทยไปพร้อมๆ กับการหารายได้เสริมแบบพออยู่พอกินไม่เดือดร้อน และใช้เวลาว่างจากการทำไร่ไถนาที่ได้เงินเพียงปีละไม่กี่ครั้ง หันมาทอผ้ากันมากขึ้น และที่สำคัญพระองค์ทรงอยากเห็นประชาชนของพระองค์มีความสุข” ผอ.พิมพาพรรณทิ้งท้าย

         จากพระราชประสงค์ที่ทรงอยากเห็นคนไทยอยู่ดีกินดีจากอาชีพเสริมด้วยการทอผ้า วันนี้ ผ้าไหมไทยมิได้ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้านเท่านั้น หากโลกยังให้การยอมรับผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าไหมไทยซึ่งเป็นผ้าอันดับหนึ่งของโลก

……………………………………………………………

ที่มา : มติชน 9 สิงหาคม 2556

 


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

2430

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน