ช้างหลับกับมังกรตื่น
ช้างหลับกับมังกรตื่น
ช้างหลับกับมังกรตื่น : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล
จีนเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของอาเซียน เพราะมีพรมแดนทางบกติดต่อกับประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศคือ เวียดนาม พม่า และลาว กับทางทะเลติดต่อกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมทั้งบางส่วนของมาเลเซีย จีนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกของอาเซียน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ การค้า และศิลปวัฒนธรรมในอดีต จนถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ความมั่นคง วิทยาการ และสังคม ในปัจจุบัน
จีนเป็นประเทศคู่เจรจาประเทศแรกที่เสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายลงนามกันใน ASEAN-China Framework Agreement on Economic Cooperation ในปี 2002 ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างจีนกับสมาชิกเก่าของอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย ภายในปี 2010 และกับประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน 4 ประเทศ คือ พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ภายในปี 2015 โดยจีน-อาเซียน ได้ลงนามความตกลงด้านการค้าสินค้า ในปี 2004 ความตกลงด้านการค้าบริการ ในปี 2007 ความตกลงด้านการลงทุน ในปี 2009
ความตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน มีผลโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2010 ทำให้อัตราภาษีศุลกากรส่วนใหญ่ของจีนกับสมาชิกเก่า 6 ประเทศ ของอาเซียนเหลือร้อยละศูนย์ (0) และค้าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนในรอบปี 2012 มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าการค้าของอาเซียนกับประเทศต่างๆ ในโลกรวมกัน มีประมาณ 1,537,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียนก็มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้านการเมืองและความมั่นคง จีนเป็นประเทศคู่เจรจาประเทศแรกที่ลงนามในพิธีสารแนบท้ายสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation: TACT) เมื่อปี 2003 ซึ่งสนธิสัญญา TACT ดังกล่าว มีขึ้นตั้งแต่ปี 1976 เพื่อกำหนดหลักการต่างๆ ที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยึดถือ อันได้แก่ การเคารพในเอกราชอธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดนและอัตลักษณ์ประจำชาติ การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน และการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี
นอกจากนี้จีนยังเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ประเทศแรกที่พร้อมจะลงนามในพิธีสารต่อท้ายสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asia Nuclear Weapon Free Zone : SEANWFZ) ในปี 1994 เพื่อสนองตอบปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเขตสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutral Zone : ZOPFAN)
สำหรับความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอาเซียนนั้น ในปี 2005 จีนกับอาเซียนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม และในปี 2006 จีนได้เริ่มจัดงานการประชุมว่าด้วยอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน รวมทั้งประกาศปฏิญญาหนานหมิง ที่น่าสนใจคือในปี 2009 ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 4 ที่นครหนานหมิง ประเทศจีน
ผลการประชุมสรุปได้ว่าจีนจะส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับอาเซียน ในทุกด้าน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ทั้งในการสร้างศูนย์วัฒนธรรมจีน-อาเซียน, จัดงานนิทรรศการวัฒนธรรมจีน-อาเซีย และสร้างตลาดการค้าสินค้าวัฒนธรรม, จัดการประชุมในเรื่องต่าง ๆ เช่นภาพยนตร์โทรทัศน์ เกมส์ ผลิตภัณฑ์ศิลปะ และวัฒนธรรมนานาชาติ, สร้างนิคมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน น เพื่อศึกษาวิจัย ให้บริการ แปรรูป และกระจายสินค้าอุตสาหกรรมวัฒนธรรม, ดำเนินนโยบายพิเศษด้านความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมวัฒนธรรมอาเซียน-จีน, สร้างคลังโครงการความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน รวมทั้งฝึกอบรมและดึงทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาสร้างบุคลากรทางวัฒนธรรม ฯลฯ
ทั้งนี้ คำว่าอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Culture industry) หมายถึงอุตสาหกรรมที่สะท้อนสัญลักษณ์หรือกลิ่นอายทางวัฒนธรรม หรือเนื้อหาทางวัฒนธรรม หรือภูมิปัญญา หรือชีวิตของแต่ละกลุ่มชนหรือชนชาติ มาเป็นปัจจัยในการค้าและการผลิตแบบอุตสาหกรรม โดยต้องมีแรงงานช่างฝีมือที่มีความรู้ทางเทคโนโลยี พร้อมๆ กับศิลปะและความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์
ส่วนสินค้าทางวัฒนธรรม (Culture product) หมายถึงสินค้าและบริการที่มีวัฒนธรรมฝังตัวอยู่ในสินค้าหรือการบริการนั้นๆ ดังนั้น การขายสินค้าจึงไม่ได้ขายเฉพาะตัวสินค้าเท่านั้น แต่ยังขายวัฒนธรรมการผลิต วัฒนธรรมการบริโภค หรือวัฒนธรรมแห่งการดำรงชีวิตไปกับสินค้าด้วย ดังนั้น ผู้ซื้อสินค้าและบริการจึงเรียนรู้วัฒนธรรมไปพร้อมกัน
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้เดินทางมาไกล และกำลังจะเดินทางไปอีกไกลกับอาเซียน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมวัฒนธรรม-ถึงตรงนี้ก็คงต้องย้อนถามตัวเองว่า แล้วผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และสินค้าทางวัฒนธรรมของไทยสะดุ้งตื่นกันหรือยังครับ?