พระราชนิพนธ์ “แกะรอยโสม” ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ(๔) ตอนจบ


          ขออัญเชิญพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 14 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ในครั้งนี้ทรงบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ระหว่างวันที่ 18–29 มีนาคม 2534

          ซึ่งจะมีช่วงวันที่ 23-25 มีนาคม 2534 ที่เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เสด็จฯ ทอดพระเนตรสถานที่สำคัญในกรุงปักกิ่งและบริเวณใกล้เคียง ดังความในพระราชนิพนธ์ “ความนำ” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2534) ว่า

          “อนึ่ง ในการเดินทางไปเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ จำเป็นจะต้องหยุดอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสนี้ เพิ่มเติมประสบการณ์เกี่ยวกับประเทศจีนให้แก่ตัวข้าพเจ้าเองและแก่ผู้อ่านที่ติดตามการท่องเที่ยวในโลกกว้างของข้าพเจ้ามาตลอด”

……………………………………………………….

        วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2534 เช้านี้เปียนเหมยลางานมาได้ เราต่างดีใจมากที่ได้เจอกันอีก

        วันนี้ไปวิ่งเหมือนเมื่อวานนี้ ยังปวดหูอยู่บ้าง รับประทานข้าวเช้าแล้วกำลังเตรียมจะไป เปียนเหมยเข้ามาในห้อง เขาบอกว่าวันนี้เขาจะตามไปด้วย เขาเอาของมาฝากและฝากให้อารยาและกิ่งด้วย มีจดหมายมาให้ฉบับหนึ่งเผื่อจะไม่มีเวลาคุยกันนานพอ เล่าเรื่องกิ่งโชคไม่ดีขาหัก เขาบอกว่าเขาก็โชคไม่ดี เที่ยวนี้มาตามข้าพเจ้าไม่ได้ เพราะตอนนี้ย้ายงานไปแล้ว

        ตกลงทั้งเปียนเหมยกับพี่อู๋ก็ขึ้นมานั่งรถด้วย คุยกันหัวเราะก้ากๆ เรื่องสนทนาที่ไม่รู้จักเบื่อคือเรื่องเมื่อปีที่แล้ว เรื่องข่าวคราวของคนที่ไม่ได้มาคราวนี้ คือ ครูกู้ ป้าจัน ซุบ อาจารย์สารสิน อารยา กิ่ง รวมทั้งพี่ติ๋ม และท่านทูตเตชด้วย ข้าพเจ้าเล่าเรื่องเหตุการณ์กิ่งขาหัก (ทั้งๆ ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์) เรื่องไปอยู่กับท่านทูตเตชและคุณติ๋มที่เจนีวาเมื่อต้นปีนี้ เหมยเขาบอกว่าเขาเคยเห็นข้าพเจ้าใน “World News” ในโทรทัศน์จีนนี้ด้วย แต่ไม่ทราบว่าทำอะไร

        ไปถึงมหาวิทยาลัยปักกิ่ง พี่อู๋ชี้ให้ดูตึกภาษาตะวันออกที่เขาเคยเรียน แต่คราวนี้เราไม่ได้ไปที่นั่น ให้ไปที่ห้องรับรอง มีรองนายกสภามหาวิทยาลัยมารับ ท่านรองนายกสภามหาวิทยาลัยกล่าวต้อนรับ ขออภัยที่อธิการบดี คือศาสตราจารย์อู๋ชูเชิงไปราชการต่างประเทศ ไม่สามารถมาต้อนรับได้ อย่างไรก็ตามก็มีผู้ที่มาต้อนรับหลายท่าน ในที่นี้ส่วนมากจะเคยไปเมืองไทย ได้แก่อาจารย์สิทธิชัย และอาจารย์

         อาจารย์สิทธิชัยสอนภาษาไทยอยู่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งนี้ร่วมสี่สิบปีแล้วกระมัง ใครๆ ที่รู้ภาษาไทยที่ข้าพเจ้าได้พบมาล้วนเป็นลูกศิษย์อาจารย์ อาจารย์จางเยี่ยนชิว ขณะนี้เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ (ครูจางที่สอนภาษาจีน) ศาสตราจารย์หลินเตา ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาจีน ศาสตราจารย์พันเจ้าหมิ่ง รองผู้อำนวยการ ศาสตราจารย์หัวหลีเจีย คณบดีคณะภาษาจีน ศาสตราจารย์เฉินเจียโห้ คณบดีภาษาตะวันออก ศาสตราจารย์โจวหนานจี ศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้นก็เป็นอาจารย์ภาษาไทยอื่นๆ

         อาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่งหลายท่านในที่นี้เคยไปเมืองไทย เรียนภาษาไทย และประทับใจเมืองไทย การพัฒนาความสัมพันธ์ไทยจีนทำให้มีผู้รู้จักภาษาไทยมากขึ้น

         เรายังไม่ได้สนทนาอะไรมากนัก ท่านรองนายกสภาฯ ให้เอกสารแนะนำมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แล้วพานั่งรถไปชมการสอนภาษาไทยพลางชมธรรมชาติ นำเที่ยวไปพลาง รถผ่านหอสมุดกลาง อาคารเรียน สระน้ำชื่ออู๋หมิง หมายความว่าไม่มีชื่อ

          สระนี้เขาว่าพยายามทำทิวทัศน์ให้เหมือนอีเหอหยวน พระราชวังฤดูร้อน เวลาหน้าหนาวน้ำในสระจะเป็นน้ำแข็งจนกระทั่งเล่นสเก็ตได้ ศาสตราจารย์ฮ่าวปิน รองนายกสภามหาวิทยาลัยท่านนี้เป็นอาจารย์ทางประวัติศาสตร์จีน เชี่ยวชาญในยุคสมัยใหม่ หมายถึงช่วง ค.ศ. 1840 คือตอนปลายราชวงศ์ชิง ตอนเกิดสงครามฝิ่น จนถึง ค.ศ. 1949 คือตอนปลดแอก

         และยังมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเอเชียแปซิฟิก ส่วนผู้ที่เป็นล่ามคืออาจารย์ฟู่เจิงโหย่ว หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยปักกิ่งและยังเป็นเลขาธิการของสถาบันวิจัยการสอนภาษาเอเชียและแอฟริกัน อาจารย์เคยมาเรียนปริญญาโทที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

        ถึงแผนกภาษาไทย อาจารย์เขาให้เข้าไปฟังในห้อง ระหว่างที่ศาสตราจารย์พันเต๋อติ้งสอน อาจารย์เคยมาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพิ่งจะกลับปักกิ่งไม่นานมานี้เอง

        อาจารย์กำลังสอนชั้นปีที่ 4 สอนวิชาแบบฝึกหัด แปลไทยเป็นจีน อาจารย์เป็นผู้รวบรวมเอกสาร บทความต่างๆ มาให้อ่าน นักเรียนห้องนี้เคยมีด้วยกัน 10 คน แต่ไปเรียนเมืองไทยเสียคนหนึ่ง คงเหลือ 9 อาจารย์ให้แปลมาก่อนเป็นการบ้านแล้วมาเรียกให้แปลในชั้นฟังดู ชื่อที่ครูเรียกข้าพเจ้าก็ว่าฟังเป็นชื่อไทยเช่นวิไล ประพันธ์

        พออาจารย์เรียกเขาก็อ่านสำเนียงภาษาไทยชัดเจน พอมีคนหนึ่งแปล อาจารย์ก็ถามว่าคนอื่นๆ เห็นด้วยกับคำแปลของเพื่อนหรือไม่ เขาจะลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นว่าคำแปลที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร สุดท้ายอาจารย์จะอธิบาย

        หลังจากนั้นพบกับนักศึกษาไทยที่เรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งและสถาบันสอนภาษาจีน ทั้งหมดดูมีจำนวนหลายสิบ จะเท่าไรก็ไม่ทราบไม่ได้นับ ส่วนมากเรียนภาษาจีน ที่มาเรียนวิชาอื่นมีน้อยมากเนื่องจากมีอุปสรรคทางด้านภาษา ปีนี้ตู่ได้เรียนปริญญาโทภาษาจีน

        โดยทางรัฐบาลจีนให้ทุนต่อ เมื่อปีที่แล้วเป็นทุนเรียนเพียงปีเดียว การเรียนปริญญาโทมีกำหนด 3 ปี จึงจะดูว่าสมควรต่อปริญญาเอกหรือไม่ ปริญญาเอกเข้าใจว่ายากมาก

        ข้าพเจ้าได้สนทนากับนักศึกษาเหล่านี้นานพอสมควร ยังไม่ทันจบดีก็ไอใหญ่ จึงคิดว่าถ่ายรูปกันดีกว่า ได้ถ่ายรูปหมู่ทั้งอาจารย์นักศึกษาฝ่ายไทยและจีน เห็นนักศึกษาจีนติดเข็มนักกีฬาไทย ถามเขาว่าเขาเป็นนักกีฬาหรือ เขาบอกว่าในช่วงกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ได้ไปช่วยเป็นล่ามให้นักกีฬาของไทย

        ข้าพเจ้าอยากดูมหาวิทยาลัยปักกิ่งและสนทนากับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยให้มากกว่านี้ แต่มีเวลาจำกัดจึงต้องลาเดินทางต่อไปที่ถนนซูโจว แต่แรกข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไร ทั้งพี่อู๋และหลี่ก็ไม่เคยไปและไม่รู้จักทั้งคู่

        ไปถึงมีคนแต่งตัวแบบจีนโบราณมาอธิบายว่าเป็นถนนเข้าพระราชวังฤดูร้อนคือวังอีเหอหยวน สมัยพระเจ้าเฉียนหลงบริเวณนี้ยังเป็นศูนย์การค้าใหญ่ ในสมัยนั้นมีร้านค้ามากมาย หกสิบกว่าร้าน มีแม้แต่ธนาคาร

         เขาพาเราไปเที่ยวตามร้านต่างๆ มีร้านเครื่องถ้วยจิงเต้อเจิ้นอันลือชื่อ เครื่องกังไสสมัยราชวงศ์ชิง แต่เป็นของที่ทำขึ้นใหม่ ขายได้ดีเหมือนกัน ที่สำหรับไหว้เทวดา แผงลอยขายของกระจุกระจิกในตลาด ร้านทอผ้าแบบโบราณ เขาเอากี่โบราณมาจากซูโจวจริงๆ

         เมืองซูโจวนี้มีชื่อเสียงในเรื่องแพรไหม ร้านขายดอกไม้ (ที่โชว์ไว้เป็นดอกไม้พลาสติกทั้งนั้น) เครื่องแบบข้าราชการ ธนาคาร เขาเล่าว่าสมัยก่อนเขาไม่ได้เรียกธนาคารว่า “อิงหาง”

         อย่างในปัจจุบันแต่เรียกว่า “เฉียนจ้วง” สำหรับที่นี่เขาบอกว่าใครอยากจะซื้ออะไรก็ต้องเอาเงินปัจจุบันมาแลกเงินโบราณแบบมีรูที่นี่ จึงจะเอาไปซื้อของตามร้านได้ ดูถึงตรงนี้หันไปดูทิวทัศน์สวยงาม ได้บรรยากาศโบราณดี

          ข้าพเจ้าเลยถามว่ามีคนมาถ่ายหนังบ้างหรือเปล่า เขาบอกว่ามีเหมือนกัน เช่นเรื่องจักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จเจียงหนาน จักรพรรดิเฉียนหลงนั้น ตามประวัติศาสตร์ว่าโปรดเจียงหนานจริงๆ

          เราเที่ยวตลาดกันต่อดีกว่า มีร้านขายผลไม้ มีสาลี่และแอปเปิ้ล มีลูกอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณก่วนมู่อธิบายว่าเรียกว่าลูกสมอ ดูแล้วก็ไม่เห็นเหมือนกับสมอ แล้วก็มีลูกอะไรก็ไม่ทราบ (อันนี้ไม่ทราบจริงๆ )

         อีกร้านหนึ่งมีของที่เขาใช้ในงานวันเกิด เช่นท้อที่ทำด้วยแป้ง เส้นบะหมี่ ขนม ร้านผักดองซูโจวเอามาจากซูโจวจริงๆ หมวกข้าราชการปักขนหางนกยูงถ้าขนหางนกยูงมีแววมาก แปลว่ามีตำแหน่งใหญ่ ร้านขายว่าว มีว่าวรูปต่างๆ น่ารักแต่ไม่ได้ซื้อ ร้านขายตัวอักษร จะมีคนรับจ้างเขียน เช่น คำขวัญวันตรุษจีน ร้านเครื่องเขียนจานฝนหมึก แท่งหมึกมีเขียนลายตัวหนังสือแบบประดิษฐ์คือหลายๆ ตัวรวมกันเป็นตัวเดียว พู่กันขนาดต่างๆ ร้านขายกระดาษฉลุ ร้ายขายพัด ร้านขายเหล้า ร้านขายยาจีน (ไม่ทราบมียาแก้ไอบ้างไหม)

         หมดเวลาดูแล้ว ตอนนี้เราจะไปสถานทูตกัน วันนี้พี่อู๋ไม่ได้ไปด้วย วันนี้พบกับพวกข้าราชการสถานทูต การบินไทย นักธุรกิจไทย ทางฝ่ายจีนมีครูจีน 4 คน เติ้งอิงแวะมาได้เฉพาะวันนี้ เขาบอกว่าหมู่นี้งานยุ่งมาก เพราะมีคณะชาวต่างประเทศที่ต้องรับรองมาก ยิ่งเติ้งอิงพูดภาษาอังกฤษได้ยิ่งมีงานมาก

         รับประทานข้าวกับท่านทูตและอาจารย์ธิดา ครู สี่คน คุณเช่า คุณจาง คุยกันสนุก เมื่อรับประทานเสร็จแล้วมอบของให้คณะคนไทย จีนสองคนคือเหมยและเติ้งอิง นั่งรถไปโจวโข่วเตี้ยนซึ่งเป็นที่ค้นพบมนุษย์ปักกิ่งที่มีชื่อเสียง นั่งนานทีเดียว ที่นี่มีชื่อเสียง หลี่บอกว่าเขาเคยไปแล้ว เราผ่านบริเวณที่เรียกว่าฝังชาน บริเวณนี้เป็นภูเขาที่มีคนเคยบอกข้าพเจ้าว่าเขาเอาหินอ่อนจากบริเวณนี้มาทำบันไดที่พระราชวังหลวงในปักกิ่ง ดูแล้วก็น่าเป็นไปได้ เห็นมีการระเบิดภูเขาเอาหินทำปูนขาวก็มี

         ไปถึงสถาบัน คนที่มาต้อนรับชื่อศาสตราจารย์อู๋ซินจื้อ เป็นศาสตราจารย์ของสถาบันที่ชื่อยาวมาก ข้าพเจ้าไม่อยากจะคิดชื่อภาษาไทย ขอเรียกเป็นภาษาอังกฤษไว้ก่อนว่า Institute of Vertibrate Paleontology and Paleoanthropology ขึ้นกับสภาวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Academia Sinica) เช่นเคย ยังเป็นรองประธานสมาคมกายวิภาคอีกด้วย

         ท่านศาสตราจารย์อธิบายเป็นภาษาอังกฤษเป็นเหตุให้อธิบายได้แยะไม่ต้องเสียเวลาแปล แต่อาจจะจดได้น้อย เพราะจดภาษาไทยง่ายกว่า ท่านให้แผ่นพับคำอธิบายและเข็มกลัดรูปมนุษย์ปักกิ่ง ท่านอธิบายว่าซากดึกดำบรรพ์ที่ศึกษาที่นี้ มีทั้งคน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และปลา ที่บริเวณนี้มีอยู่สามถ้ำที่มีซากคน

         ถ้ำมนุษย์ปักกิ่ง อายุประมาณครึ่งล้านปี ร่องรอยขาดตอนไปเมื่อสองแสนปี ในถ้ำพบกระดูก เครื่องมือหิน ซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกประมาณร้อยชนิด เข้าใจว่าเป็นสัตว์ที่มนุษย์ล่ามา

         ถ้ำที่ 4 เป็นถ้ำที่ขุดพบใหม่ พบฟันมนุษย์อายุแสนปี เครื่องมือหินเถ้าถ่าน ซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

         ถ้ำบน พบโครงกระดูกคน 8 คน หัวกระโหลก เครื่องประดับกระดูกสัตว์ เครื่องมือหินอายุประมาณ 10,000 ปี

         ไปดูถ้ำที่ 1 แต่เดิมเป็นที่ตัดหินปูน แล้วมีผู้พบโครงกระดูก เขาแสดงชั้นหิน 13 ชั้น มีบางชั้นเท่านั้นที่พบซากมนุษย์โบราณ มีร่องรอยเถ้าถ่าน ถ้ำนี้ค้นพบใน ค.ศ. 1959

          ที่นี่ไม่ใช่ที่พบมนุษย์ที่เก่าที่สุดของจีน ที่เก่าที่สุดอยู่ในยูนนาน ที่หยวนโม่ อายุ 1.7 ล้านปี ในซีอานมีอายุประมาณ 1.15 ล้านปีพบใน ค.ศ. 1964

          จากถ้ำเราไปที่พิพิธภัณฑ์ ของในพิพิธภัณฑ์นั่นเขาว่าส่วนใหญ่เป็นของจำลอง ของจริงเอาไปเก็บไว้ที่สถาบัน เขาว่าเริ่มต้นทิ้งศพเอาไว้เฉยๆ มาถึงตอนหลังจึงรู้จักการฝังศพ

         ในพิพิธภัณฑ์นี้มีโครงกระดูกสัตว์หลายอย่างเช่น กวาง หมูป่า แรด ซากสัตว์เหล่านี้ช่วยเป็นเครื่องชี้บ่งถึงสภาพนิเวศน์ และภาวะแวดล้อมของสมัยนั้น เช่นแรดจะต้องอยู่ในภูมิอากาศชื้นที่ค่อนข้างจะอบอุ่น นกกระจอกเทศอยู่ในภูมิอากาศแห้งเป็นทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย มีสัตว์ป่าเช่นเสือ ลิง สัตว์ที่อยู่ในทุ่งหญ้า เช่นกวางชนิดหนึ่งที่มีเขาใหญ่ สัตว์ที่ชอบอยู่ในเขตที่มีบึงน้ำเช่นควาย สัตว์ที่อยู่ในถ้ำเช่นหมาในและหมี ที่มีสัตว์หลายๆ แบบคงจะเป็นด้วยในช่วงนั้นอากาศมีความเปลี่ยนแปลงสูง

         นอกจากนั้นสปอร์และเกสรพืชที่วิเคราะห์ได้จากดินในถ้ำยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาชนิดของพืชที่มีอยู่ในบริเวณนั้น บางอย่างก็คล้ายกับในปัจจุบันเพราะว่าวิวัฒนาการของพืชช้ากว่าวิวัฒนาการของสัตว์ มีเครื่องมือหินของสมัย Lower Paleolithic ในพิพิธภัณฑ์นี้ยังมีการอธิบายวิวัฒนาการมนุษย์โบราณทั่วโลก ไม่เฉพาะที่อยู่ในประเทศจีนเท่านั้น

         นอกจากนั้นยังมีวัตถุโบราณที่มาจากสถานที่อื่น เช่นแผ่นหินที่มีปลาฝังอยู่เต็มไปหมด อธิบายว่าบริเวณนี้เคยเป็นหนองน้ำ แต่มีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ทำให้พื้นพิภพยกตัวขึ้น

        อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายแห่งในโลก แต่สันนิษฐานได้ว่าเป็นสาเหตุอย่างหนึ่ง ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตบางอย่างสูญพันธุ์ไป ปลาในแผ่นหินนี้มีอยู่ 4 ชนิด ขณะนี้สูญพันธุ์ไปเสียแล้วสองชนิด คงยังพบอยู่อีกสองชนิดในตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียง

        ออกจากพิพิธภัณฑ์เราไปดูบริเวณถ้ำอีกแห่งซึ่งอยู่บนเนินเขา ท่านศาสตราจารย์ซึ่งอายุมากแล้วเดินนำลิ่วตัวปลิว พวกเราว่ากันว่าท่านคงมาเยี่ยมมนุษย์โบราณของท่านทุกวัน ถ้ำตรงนี้เป็น 3 ชั้น แต่ไม่เห็นมีเพดานถ้ำ เป็นเพราะว่าเพดานถ้ำพังไปตอนขุดค้น ประมาณ ค.ศ. 1933 ถึง 1934 ถ้ำแห่งนี้ท่านศาสตราจารย์อธิบายว่า ชั้นบนใช้เป็นที่อยู่อาศัย ชั้นที่สองเป็นป่าช้า และชั้นล่างสุดเป็นที่วางกับดักสัตว์ ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าคงจะต้องกลัวผีแย่ถ้าจะต้องอยู่แบบนี้

        จากบริเวณที่อยู่ของมนุษย์ปักกิ่ง เราไปวัดกันต่ออีก วัดนี้ชื่อวัดหยุนจู สร้างขึ้นในสมัยช่วงคาบเกี่ยวกันระหว่างตอนปลายราชวงศ์สุย ต้นราชวงศ์ถัง มีชื่อเรียกอีกชื่อว่าวัดซีหยูว อยู่ที่หมู่บ้านฉุ่ยโถว ตำบลฝังชาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของปักกิ่ง เมื่อเราไปถึงมีผู้ดูแลวัดเป็นฆราวาสมาต้อนรับ

        ให้ไก๊ด์คนหนึ่งเป็นผู้หญิงพูดภาษาอังกฤษได้ช่วยอธิบาย บางทีก็พูดเป็นภาษาจีนให้คุณก่วนมู่แปล สิ่งสำคัญที่สุดในวัดนี้ก็คือแผ่นศิลาจารึกพระไตรปิฎก ข้าพเจ้ามีข้อเสียที่อ่านหนังสือได้น้อยมากจึงได้แต่ฟังจากที่เขาอธิบายเป็นส่วนใหญ่ เข้าใจว่าแผ่นศิลาจารึกนั้นมิได้มีเฉพาะแต่พระไตรปิฎก

        จะมีประวัติการสร้างพระไตรปิฎกนี้ด้วย จึงทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ พุทธศาสนา การสลักพระไตรปิฎกนี้ก็ไม่ได้ทำเสร็จภายในคราวเดียวกัน เขาว่าทำในราชวงศ์สุย ถัง เหลียว จิน หยวน หมิง ชิง และน่าภาคภูมิใจว่าเป็นพระไตรปิฎกภาษาจีนที่สมบูรณ์ที่สุด วัดนี้อยู่ระหว่างการบูรณะฟื้นฟู ค่าใช้จ่ายมาจากเงินบริจาคของราษฎร และการอุดหนุนของรัฐบาล เขาว่าที่นี่เป็นถ้ำตุนหวงของปักกิ่งทีเดียว

         เราถ่ายรูปหมู่กันแต่ว่าพี่อู๋พอดีกำลังไปเอาเสื้อหนาวมาให้ข้าพเจ้าก็เลยไม่ได้ถ่าย ข้าพเจ้าก็เลยถ่ายกับพี่อู๋และก่วนมู่เป็นพิเศษ

         นอกจากจารึกที่วัดนี้แล้ว ในถ้ำบนภูเขาก็ยังมีแผ่นจารึกแบบนี้อีก

         ขณะนี้เขากำลังบูรณะวัดครั้งใหญ่ อาจเรียกได้ว่าสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดกะว่าจะเสร็จภายใน 1992

         นอกจากจะมีแผ่นหินศิลาจารึกแล้วยังมีบล็อกพิมพ์ไม้สำหรับพิมพ์พระไตรปิฎก สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงอีกด้วย

         เราต้องรีบกลับอย่างเร่งด่วนเพราะคืนนี้ท่านนายกรัฐมนตรีหลี่เผิงจะเลี้ยงอาหารค่ำที่ตึก 18 ในเตี้ยวหยูวไถ

         ขากลับเราคุยกันสี่คนอย่างสนุกสนาน เพิ่งรู้สึกตัวเองว่าคุยภาษาจีนก็สนุกได้ หลี่เป็นคนไม่ค่อยช่างพูด แต่ก็หัวเราะได้ทุกครั้งที่เราคุยกันถึงเรื่องที่ตลกๆ

         กลับมาเปียนเหมยขึ้นมาลาที่ห้อง พรุ่งนี้เขามาส่งเราไม่ได้ ความจริงบ้านเขาก็อยู่ใกล้ๆ เตี้ยวหยูวไถนี้เอง เวลาไปทำงานก็ต้องขึ้นรถเมล์สาย 57 ไป

         ข้าพเจ้ารีบอาบน้ำด้วยสบู่อาบน้ำที่ซื้อเมื่อวันก่อนที่โรงงาน ก็รู้สึกว่าดี แล้วลงไปข้างล่าง เจอคุณวิชัยกับตู่มาคอยรับอึ่งกับแป๊วไปรับประทานอาหารข้างนอก เลยได้คุยกันนิดหน่อย คุณวิชัยไปเทียนสินซื้อตุ๊กตาดินเผาจากร้านมีชื่อเสียงมาฝาก

         ท่านทูตมาเล่าว่าวันนี้ท่านนายกฯ คงจะต้องเหนื่อยมากเพราะเสนอรายงานในสภายาว 70 กว่าหน้า พูดอยู่สามชั่วโมงครึ่งก็ยังไม่จบ ที่ยาวมากเช่นนี้เพราะเป็นเวลาที่จะสิ้นแผน 7 และเริ่มแผน 8

         เมื่อท่านนายกฯ พร้อม เราก็เดินไปตึก 18 ท่านนายกฯ ภริยา แขกคนอื่นๆ เช่นท่านสูตุนซิ่น อธิบดีกรมพิธีการทูตเป็นต้น

         หนูน้อย หลาน หลาน ซึ่งเป็นหลานสาวท่านนายกฯ เพื่อนเก่าของข้าพเจ้าก็มาในงานตามเคย ข้าพเจ้าถามเธอว่าวันนี้จะร้องเพลงให้ฟังอีกหรือเปล่า เธอพยักหน้าอย่างมั่นใจ ท่านนายกฯ บอกว่าเมื่อปีที่แล้วนั้น

 

         ท่านเห็นว่าข้าพเจ้ามีหลานก็เลยชวนให้หลานของท่านออกมารับแขกบ้าง แต่คราวนี้พอได้ทราบว่าข้าพเจ้ามาก็ถือเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องมาต้อนรับโดยไม่ต้องบอกเลย

         เราเข้าไปสนทนากันในห้องรับแขก ท่านนายกฯ ถามถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ข้าพเจ้าเล่าว่าตอนที่ท่านรองประธานสภาไปเฝ้าฯ นั้น ได้กราบบังคมทูลเรื่องแม่น้ำหวงเหอ ท่านนายกฯ ก็บ่นว่าปัจจุบันนี้เรายังไม่สามารถควบคุมแม่น้ำหวงเหอนี้ได้อย่างสิ้นเชิง เร็วๆ นี้ก็จะสร้างเขื่อนที่ลั่วหยางอีกแห่งหนึ่ง

         ข้าพเจ้าขอบคุณท่านที่ทางจีนช่วยอำนวยความสะดวกให้ฝ่ายไทยในการติดต่อกับคนของเราในคูเวตเมื่อตอนต้นของเหตุการณ์อ่าวเปอร์เซีย

         ข้าพเจ้ามอบหนังสือ “ย่ำแดนมังกร” (ภาคภาษาจีน) และ “มุ่งไกลในรอยทราย” ให้ท่านนายกฯ หลาน หลาน รับเอาไปเลย ส่วนท่านนายกฯ ให้รูปประดับมุก เป็นรูปนก ผ้าไหม และหนังสือเกี่ยวกับทิวทัศน์ในเมืองจีน

          คุยกันพักหนึ่งท่านนายกฯ ก็ชวนให้ไปคุยกันต่อที่โต๊ะอาหาร ข้าพเจ้าเล่าถึงเรื่องที่ได้ไปดูคราวนี้ในจีน คุยกันถึงเรื่องการปลูกป่า ท่านนายกฯ เล่าว่าท่านเองก็คิดว่าการปลูกป่าได้ผล คือฝุ่นทะเลทรายลดน้อยไปมาก

         ปีที่แล้วที่ข้าพเจ้าเจอนั้นเป็นฝุ่นมาจากซินเกียง แต่ก็ไม่มากเท่าไร ท่านว่าเมื่อก่อนนี้เวลามีฝุ่นจะออกไปไหนไม่ได้ ถ้าออกไปก็ต้องมีผ้าปิดหน้าปิดตาหมด ท่านอธิบายว่าในเมืองจีนนั้น Remote Sensing มีประโยชน์มากในการคำนวณปริมาณการเก็บเกี่ยวและการตรวจสอบแร่

         ข้าพเจ้าเรียนถามท่านนายกฯ ในเรื่องของแผน 8 ว่ามีสาระอะไรที่สำคัญ ท่านบอกว่ารัฐบาลตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการพัฒนา ฉะนั้นจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง จีนก็ยังยืนหยัดกับนโยบายเปิดประเทศ ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไม่ให้โตเร็วเกินไป และช้าเกินไป ให้สม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าบางปีสูง บางปีต่ำ

         สัดส่วนของการเกษตรและการอุตสาหกรรมก็ต้องเหมาะสม และจะต้องคำนึงถึงสัดส่วนของอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมเบา ทุกอย่างมาจากประสบการณ์ของการพัฒนาตลอด 40 กว่าปีนี้การเกษตรเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เพราะประชากรจีนมีอัตราการเติบโตมาก

         ท่านว่าโตน้อยๆ จะดีกว่า เห็นตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ที่มีประชาชนมากและชาวนาทิ้งที่ดินเข้าเมืองก็ทำให้ประชากรเมืองมีมากเกินไป แนวทางที่คิดว่าเหมาะสมคือเสริมเรื่องอุตสาหกรรมย่อยๆ การก่อสร้าง งานบริการ ขณะนี้มีคนประมาณ 90 ล้านคนที่ทำกิจกรรมเช่นนี้ ท่านว่าคราวหน้าถ้ามาเมืองจีนอีกเขาจะพาไปดูอุตสาหกรรมหมู่บ้าน ท่านสูตุนซิ่น ชาวหยางโจวแนะนำให้ไปทางเจียงซู

         ท่านนายกฯ หลี่เผิง อธิบายถึงแผน 8 ต่อไปว่าจะต้องให้ความสำคัญต่อการเกษตร เน้นว่าจะต้องพัฒนาต่อเนื่องให้สมดุล ให้มีเสถียรภาพในด้านอุตสาหกรรมไม่ได้เน้นเรื่องการสร้างโรงงานใหม่แต่เน้นในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น เน้นการสื่อสาร การคมนาคม การพลังงาน เปิดประเทศขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาเมืองอื่นๆ ให้เติบโตขึ้น

         ข้าพเจ้าถามถึงซินเกียงที่ข้าพเจ้าได้ไปเห็นเมื่อปีที่แล้ว ท่านว่าถึงซินเกียงจะมีน้ำมัน แต่ก็มีอุปสรรคที่บุกเบิกยาก เนื่องจากเป็นทะเลทราย การคมนาคมไม่สะดวก

         ข้าพเจ้าว่าพรุ่งนี้ข้าพเจ้าก็จะเดินทางไปเมืองเปียงยางแล้ว ท่านว่าข้าพเจ้ามาเร็วเกินไปสักหน่อย ถ้าสักเดือนหน้าเมืองเปียงยางจะสวยงามมาก ข้าพเจ้าว่าพอดีเดือนหน้าก็ถึงวันเกิดแล้วต้องรีบกลับ ท่านว่าเกิดปีแพะนี้ดีเพราะว่าตัวอักษรว่า “หยาง” ที่แปลว่าแพะนั้น แทรกอยู่ในคำดีๆ หลายคำ เช่นคำที่แปลว่า มงคล หรือที่แปลว่าเมตตา

        อาหารมื้อนี้ถือว่าท่านนายกฯ หลี่เผิงเลี้ยงวันเกิดให้ข้าพเจ้าด้วย อาหารนอกจากจะมีของชอบของข้าพเจ้า คือบะหมี่ “หนวดมังกร” แล้วยังมีลูกท้อทำด้วยแป้งที่เขามักจะเลี้ยงกันในวันเกิด ท่านนายกฯ เล่าว่า

         เหตุที่เราถือกันว่าท้อทำให้อายุยืนนั้นมีความเป็นมาจากเรื่องเห้งเจียไปขโมยท้อสวรรค์มา คนธรรมดากินเข้าไปจะอายุยืนไปอีก 500 ปี อาหารที่เป็นมงคลอีกอย่างคือบะหมี่เส้นยาวๆ เขาถือว่าทำให้อายุยืนยาว

         รับประทานอาหารเสร็จแล้ว ท่านนายกฯ หลี่เผิง ยกแก้วขึ้นแล้วท่องบทกวีเกี่ยวกับแก้วเรืองแสงที่ข้าพเจ้าท่องเมื่อไปเมืองจิ่วฉวนเมื่อปีที่แล้ว (ใครสนใจติดตามได้ในเรื่องมุ่งไกลในรอยทราย) ภริยาท่านชวนข้าพเจ้าท่องต่ออีกสองบท คือบทที่ข้าพเจ้าท่องคล่องที่สุดคือบท “หน้าเตียงแสงจันทร์กระจ่าง” และบทที่เราเอามาแต่งเป็นกลอนไทยว่า

“ชุนเทียนนอนได้ไปถึงเช้า ทุกแห่งเราได้ยินเสียงปักษา

ยามราตรีเสียงลมฝนพัดมา ดอกไม้ร่วงไม่รู้ว่าเท่าไร”

         ท่องกลอนจบ เราลาท่านนายกฯ กลับที่พักที่ตึก 7 อาจารย์ธิดาบอกว่าไปเกาหลีด้วยไม่ได้เพราะตอนนี้พอดีเจ็บตามองไม่ค่อยเห็น

         ข้าพเจ้าขึ้นไปจัดแยกของที่จะไปเปียงยาง และที่จะส่งกลับกรุงเทพฯ เลย

         เปิดทีวีมีรายการข่าวที่น่าสนใจคือเรื่องการประชุมสภาประชาชน แต่ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถจับความได้หมด คงจะต้องค้นคว้าเพิ่มเติม เท่าที่เห็นมีท่านจางเจ๋อหมิน ท่านหยางช่างคุน ท่านหลี่เซียนเนี่ยน สมาชิกสภามาจากทั่วประเทศ บางคนก็แต่งชุดประจำชาติ เป็นชนชาติส่วนน้อย

         ท่านนายกฯ พูดเรื่องแผนพัฒนาที่ 8 และแผน 10 ปี มีเรื่องที่จะเพิ่มรายได้ประชาชาติ การเปิดประตูประเทศ หลักเกี่ยวกับการบริหารรัฐวิสาหกิจ นโยบายไต้หวัน นโยบายรัฐสังคมนิยม หรือสังคมนิยมประชาธิปไตย นโยบายเศรษฐกิจ เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบบกฎหมาย

         สำหรับนโยบายต่างประเทศ ในภาวะของโลกปัจจุบันถือหลักความเป็นอยู่ร่วมกัน นโยบายเพื่อความมั่นคงกระชับความสัมพันธ์กับประเทศประชาคมยุโรป สหรัฐ ความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียน และนโยบายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นเขาไปสัมภาษณ์ประชาชนที่มายืนดูโทรทัศน์กันที่ห้างสรรพสินค้า ยังมีข่าวอื่นอีกหลายอย่างแต่ข้าพเจ้าชักง่วงแล้ว.

…………………………………………………………….

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

2418

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน