'ซีอีโอ'ดันเอเชียตลาดของโลก

'ซีอีโอ'ดันเอเชียตลาดของโลก

เปิดวิชั่นซีอีโอเอเชียชูภูมิภาคเป็นตลาดกับกลไกสำคัญของโลกทศวรรษหน้า ชี้บริษัทอาเซียนผันตัวเองไปเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคมากขึ้น

             นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในหัวข้อเรื่องวิสัยทัศน์ของธุรกิจในปี 2563 ในงานสัมมนา ”เอเชียขับเคลื่อนโลก” ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสครบรอบการก่อตั้งเนชั่นกรุ๊ป 43 ปี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยยกให้เอเชียจากนี้ไปจะเป็นกลไกสำคัญของโลกในช่วงทศวรรษหน้า ในขณะที่โลกตะวันตกยังเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยุโรปมีปัญหาหนี้ภาครัฐอยู่ และเอเชียก็กำลังมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เข้ามาช่วยกำหนดกิจกรรมในภูมิภาค

             “แม้ระยะสั้นตลาดการเงินโลกผันผวน เพราะคาดการณ์ว่า เฟดลดคิวอี (มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ) จนทำให้การทำธุรกิจของเราไม่ง่าย ที่ผ่านมาเรามองว่า การเปลี่ยนแปลงของเอเชียและอาเซียนมีการปรับตัวและเตรียมตัวไปหลายเรื่องน่าสนใจ” นายชาติศิริแสดงทัศนะ และมองว่า บริษัทไทยหลายแห่งกำลังยกระดับตัวเอง เป็นบริษัทระดับภูมิภาค ด้วยการไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น ปตท., ไทยเบฟ, ซีพี, บ้านปู, มิตรผล, ล้วนไปตั้งโรงงานเครือข่ายในประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนกันทิ้งสิ้น ขณะที่กลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ก็กำลังติดตามบริษัทใหญ่ออกไปนอกบ้าน ส่งผลในปี 2555 การลงทุนในต่างประเทศของบริษัทไทยนั้น มีมากกว่าการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

             สำหรับธนาคารกรุงเทพ กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงเทพ กล่าวว่า ได้วางตัวเองพร้อมเป้าหมายเป็นธนาคารชั้นนำของภูมิภาค เพื่อออกไปให้บริการลูกค้าของธนาคารที่มีอยู่ทั่วภูมิภาค ซึ่งขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวที่ดี ความสามารถไปเจาะตลาด การพัฒนาด้านไอที การเอาชนะอุปสรรคด้านภาษาและวัฒนธรรม

             ทั้งในปี 2563 อาเซียนจะมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น มีรถไฟเชื่อมจากคุนหมิงไปสิงคโปร์ และทางด่วนเชื่อมเวียดนามไปไทย ลาว กัมพูชา พม่า และอินเดีย และอาจมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกัน การเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศทำให้สายการบินโลว์คอสต์มีความสำคัญมากขึ้น ขณะเดียวกันเมืองตามแนวชายแดนก็มีความคึกคักด้านการค้ากับเพื่อนบ้านมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ความท้าทายอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจอาเซียน บริษัทในภูมิภาคต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาค และโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนมีมาก

 

โตโยต้าขอโตตามเอเชีย

             ด้านนายเคียวอิจิ ทานาดะ ประธานของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า โตโยต้าให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียอย่างมาก ด้วยการอ้างอิงข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ของกลุ่มโตโยต้าในปี 2554 ซึ่งโตโยต้าสามารถขายรถได้ 82 ล้านคัน และในจำนวนนี้มากกว่า 50% ผลิตในเอเชีย            

            ประธานโตโยต้ามองว่า ขณะนี้พบว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในตลาดเกิดใหม่ อย่างบราซิล อินเดีย จีน และอาเซียน รวมไทยนั้น ยังมีแนวโน้มความต้องการรถยนต์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์นี้เป็นไปในทางตรงข้ามกับสถานการณ์ส่วนอื่นของโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีความต้องการลดลง และการขยายตัวของจีดีพีกลับลดลง

             นายทานาดะกล่าวว่า ตลาดเกิดใหม่รวมทั้งเอเชีย ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ขณะที่เขาประเมินว่า จากอัตราการขายรถยนต์โตโยต้าทั้งในอินเดีย ไทยและอินโดนีเซียมีมากและต่อเนื่อง ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ทั้ง 3 ตลาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอเชีย ช่วยทำให้ยอดขายทั่วโลกของโตโยต้าเพิ่มขึ้นในอนาคต และเชื่อว่าการเติบโตของโตโยต้าจะสอดคล้องกับการเติบโตของตลาดเอเชียในอนาคตด้วยเช่นกัน

             “เราหวังจะขยายธุรกิจตลาดเกิดใหม่ในกลุ่มอาเซียน จากธุรกิจที่แข็งแกร่งอยู่แล้วในไทยและอินโดนีเซีย เราวางแผนเข้าไปสร้างการผลิตเพิ่มในประเทศใหม่ เช่น พม่า เวียดนาม ลาวและกัมพูชา”

ลดเหลื่อมล้ำดันเอเชียรุ่ง

             ส่วนดาโต๊ะ ปาดุกา ทิโมธี ออง เทค มอง ประธานเอเชียองค์ ฟอรัม จากบรูไน กล่าวว่า อุปสรรคใหญ่ของเอเชียโดยรวมเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้และทางสังคมเสียก่อน แล้วจะช่วยให้เศรษฐกิจเอเชียโดยรวมขยายตัวต่อไป ทั้งยังมีความพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ

             "ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่มีสูตรสำเร็จแก้ได้เบ็ดเสร็จ รัฐบาลต้องพัฒนาการศึกษาให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ซึ่งดีกว่าไม่ทำอะไรเลย"

             ส่วนประเด็นเกี่ยวกับธุรกิจการค้าในเอเชียนั้น เขาแนะนำสมาชิกประเทศในอาเซียนให้สร้างมาตรฐานการทำธุรกิจให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อให้การทำธุรกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ง่ายขึ้น พร้อมยกตัวอย่างการสำรวจของธนาคารโลกที่ระบุเอาไว้ว่า ความยากง่ายในการทำธุรกิจของอาเซียนติดอันดับตั้งแต่อันดับ 1-100 สะท้อนถึงความแตกต่างของกฎระเบียบในการทำธุรกิจในภูมิภาค

             “การจัดตั้งบริษัทบางประเทศใช้เวลาจัดตั้งนานเป็นหลายเดือน และบางประเทศสามารถจัดตั้งบริษัทได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้แน่นแฟ้นจึงยังต้องมีการบ้านให้ทำอีกมากมาย”

             นอกจากนี้ ดาโต๊ะ ปาดุกา ทิโมธี ออง เทค ยังพูดถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยในอาเซียนด้วยว่า ถึงแม้ในภูมิภาคจะสามารถลดจำนวนคนยากจนลงได้ แต่กลับเกิดปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้คนจนกับคนรวยที่มีมากขึ้น จนอาจทำให้เกิดปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางสังคม และอาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ลุกฮือทางการเมือง หรือ อาหรับสปริงขึ้นได้

 

ถกความขัดแย้งทะลจีนใต้

             ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนกับญี่ปุ่น จะกระทบการทำธุรกิจในอาเซียนหรือไม่นั้น นายทานาดะให้ความเห็นว่า ยอดขายของโตโยต้าในจีนฟื้นตัวแล้ว จากก่อนหน้านี้ที่มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ แต่อยากแนะนำให้ผู้นำญี่ปุ่นเพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการสื่อสารกับจีน            

            ขณะที่ นายงอ ทันห์ ทุง ประธานบริษัทกฎหมายเวียดนาม อินเตอร์เนชั่นแนล มองว่าการแก้ปัญหาต้องแก้ด้วยสันติวิธี ที่ผ่านมาเวียดนามก็เป็นประเทศที่ทำสงครามมาตลอดก็ไม่อยากทำสงครามอีกแล้ว สิ่งที่เวียดนามห่วงใยตอนนี้คือ การเปิดเศรษฐกิจของเวียดนามจะช้ากว่าพม่า

             “พม่าเปิดเร็วและมาแรงก็กลัวว่าจะแซงหน้าเป็นคู่แข่งสำคัญของเวียดนาม โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนต่างประเทศ(เอฟดีไอ)จะไหลไปพม่ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบไทยกับเวียดนามในแง่เศรษฐกิจ ไทยล้ำหน้าเวียดนามไปมาก”

 

พม่าเดินหน้าไม่ลดการปฏิรูป

             ด้านนายยู ซอว์ ซอว์ ประธานบริษัทแมกซ์ เมียนมาร์ กรุ๊ป มองว่า การเปิดประเทศที่ผ่านมา เขามั่นใจว่าพม่าจะขับเคลื่อนไปข้างหน้า จะไม่มีทางที่จะหันกลับไปอย่างเดิมอีก แต่พม่าก็ยังเจอปัญหาการศึกษาที่ยังไม่ได้พัฒนา ซึ่งพม่าจำเป็นต้องพัฒนาการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมและมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องรีบทำคือการพัฒนาคุณภาพของครู

             ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ แต่ก็อาจจะยังไม่สามารถหานักศึกษามาเรียนได้ เพราะระบบและคุณภาพการศึกษาระดับล่างยังไม่ดี จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าหันมาอุดหนุนเรื่องการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น เพราะคนพม่าส่วนใหญ่ยังยากจนไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนได้


"สุรเกียรติ์"แนะเอเชียร่วมมือสร้างการเติบโต


             นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย (เอพีอาร์ซี) ปาฐกถาพิเศษ "อนาคตเอเชีย" ในงานครบรอบ 43 ปี บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา

             นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียมีเงินทุนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์เคลื่อนย้ายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ ที่มีเงินไหลเข้าเกือบทุกนาที ไม่ว่าจะเป็นโตเกียว มุมไบ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ดูไบ นิวเดลี สิงคโปร์ และกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีองค์กรระดับภูมิภาคเกิดขึ้นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พบว่าความเชื่อมั่นของภาคเอกชนไม่ได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน และยังมีความกังวลในหลายๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ กังวลว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆพร้อมที่จะเสียสละผลประโยชน์ของแต่ละชาติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับภูมิภาคหรือไม่

             "แม้การค้า การบริการ การลงทุน และการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่เป็นอิสระมากขึ้นจะทำให้เกิดการเติบโต แต่การที่แต่ละประเทศหยิบยกความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมท้องถิ่นมาใช้บ่อยครั้ง ทำให้การเปิดเสรีเต็มตัวของภูมิภาคล่าช้า ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการเคลื่อนไหวของเงินทุน ภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ด้วย"

             ดังนั้นหากเอเชียมองว่า อนาคตคือการสร้างความรุ่งเรืองและความยั่งยืนที่แท้จริงให้แก่ประชาชน ก็จำเป็นที่แต่ละประเทศจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างการดูแลอุตสาหกรรมท้องถิ่น และการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะมีบทบาทหลักคือ วิสัยทัศน์ของนักการเมือง ไม่ใช่ภาคเอกชน

             นอกจากนี้เอเชียยังต้องเผชิญหน้าปัญหาสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ การขยายตัวที่รวดเร็ว เนื่องจากมีหลายประเทศที่ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวเร็วกว่าที่การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจมหภาคของตัวเองจะสามารถรับมือได้

             นอกจากนี้การที่เงินทุนไหลเข้ามาก ก็จะก่อให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน เช่น วิกฤติที่เกิดขึ้นในปี 2540 กระแสเงินเปลี่ยนจากไหลออก มาเป็นกระแสเงินไหลเข้าแบบมากเกินไป ทำให้สกุลเงินแข็งค่า และทำให้เกิดความเสี่ยงได้เงินเฟ้อ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ในเอเชียพากันถกเถียงถึงวิธีการรับมือ

             สถานการณ์เหล่านี้ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่โลกตะวันตกกำลังเจอกับปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เอเชียบางประเทศต้องทบทวนการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคใหม่ เพื่อให้หน่วยงานทั้งหมดในประเทศมีจุดยืนเดียวกันถึงวิธีรับมือกับปัญหาใหม่ คือ มีเงินมากเกินไปแต่การส่งออกทำได้ลำบาก

             นอกจากนี้เอเชียยังเกิดความท้าทายใหม่ คือ การขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาเมือง การขาดแคลนด้านอาหารและพลังงาน การปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนไป นวัตกรรมที่เปลี่ยนแปรตามยุคสมัย

             อีกประเด็นหนึ่งที่เอเชียต้องจัดการคือ ปัญหาความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเขตแดน ความตึงเครียดทางการเมือง ทำให้เกิดความกังวลอาจจะมีการใช้กำลังทหาร หรือทำให้เกิดกระแสชาตินิยมขึ้นมาได้ง่าย เช่น กรณีของไทยกับกัมพูชา ปัญหาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ และปัญหาในทะเลจีนใต้ซึ่งสมาชิกอาเซียน 5 ชาติมีข้อพิพาทกับจีนนั้น ยังมีอยู่

             ขณะเดียวกันการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยของเอเชียก็อาจได้รับการตีความผิดๆ จนนำไปสู่การปะทะกันได้ เรื่องดังกล่าวยังถือเป็นความท้าทายว่าเอเชียจะมีวิธีการอย่างไร ในการที่จะคิดหากลไกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ลดความตึงเครียด และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะจะมีผลต่อการบั่นทอนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจในภูมิภาค

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

225

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน