โอกาสแรงงาน'ไอที'ในเออีซี

โอกาสแรงงาน'ไอที'ในเออีซี

เปิดหูเปิดตาอาเซียน : โอกาสแรงงาน 'ไอที' ในเออีซี

 

                                หากมองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมาเทคโนโลยี โทรคมนาคม ไอทีค่อยๆ คืบคลานเข้ามามีบทบาทในทุกด้านรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ การทำงาน การศึกษา ธุรกิจ ล้วนแต่มีส่วนประกอบของเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น และในอนาคตอันใกล้เชื่อว่าทุกสิ่งรอบตัวเราเทคโนโลยีจะกลืนไปในทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอดีตที่ผ่านมาจะเห็นถึงการเติบโตในธุรกิจดังกล่าว โดยเติบโตขึ้นในแต่ละปีประมาณร้อยละ 20 และที่เห็นได้ชัดคือกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ อันเป็นผลให้แรงงานในกลุ่มดังกล่าวเป็นที่ต้องการตามลำดับ และหลายฝ่ายเองก็มองว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีจะเป็นอีกสาขาที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในอนาคต

                                วันนี้การเติบโตทางธุรกิจรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ภาคส่วนต่างๆ มีการตอบสนองรับกระแสเป็นอย่างมากทั้งภาครัฐ และเอกชนที่วันนี้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจด้านเทคโนโลยี โทรคมนาคมการสื่อสาร ไอทีต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อวันนี้กระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ก็กำลังจ่อคอประเทศไทยอยู่ในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่วันนี้ประเทศไทยได้เตรียมรับมือกับการเปิดตลาดเสรีไปแล้วแค่ไหน

                                ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจในด้านไอทีมีทั้งที่เป็นของเชื้อสายไทย เชื้อสายต่างชาติ หรือลูกผสมที่มีการร่วมทุนกันเปิดธุรกิจในประเทศไทย โดยประเทศในแถบใกล้บ้านเราได้เดินหน้าเตรียมความพร้อมไปแล้วระดับหนึ่ง โดยเฉพาะรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบ การทำงาน คือ บุคลากรที่มีศักยภาพ ตรงตามความต้องการที่หน่วยงาน หรือองค์กรนั้นๆ ต้องการ

                                ผลสรุปจากการศึกษาหรือสำรวจของ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ที่ได้จากคำบอกเล่าของ "ไซมอน แมททิวส์" ผู้จัดการประจำประเทศไทย, แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ที่ควบคุมดูแลตลาดแรงงานในภาคพื้นดังกล่าว เปิดเผยถึงข้อมูลดังกล่าวว่า เทรนด์ในวันนี้ รวมถึงเทรนด์ในอนาคตของธุรกิจด้านเทคโนโลยี-ไอที ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปี ประเทศไทยอาจจะค่อยๆ เติบโต แต่ไม่ถึงกับก้าวกระโดด อาจเป็นเพราะระบบในด้านต่างๆ ยังไม่ได้มีความเสถียรมากนัก แต่นับจาก 3 ปีข้างหน้าเชื่อว่าภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ จะนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ดังนั้น เมื่อในอนาคตธุรกิจเติบโต แรงงานที่มีศักยภาพก็เป็นที่ต้องการมากขึ้นเช่นเดียวกัน

                                อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจกำลังไปได้ดี การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็เป็นเปิดตลาดเสรีเช่นเดียวกัน ดังนั้น ข้อมูลจากหลายๆ ฝ่ายของหน่วยงานในด้านดังกล่าว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บุคลากรไทยมีศักยภาพ มีทักษะในด้านการทำงานที่ดี แต่ขาดเรื่องภาษา ซึ่งวัดได้จากปริมาณแรงงานที่ก้าวเข้าสู่ตลาดดังกล่าวคือ 100 คน มีความสามารถในด้านภาษาที่ดีอยู่ที่ประมาณ 1-5 คน และสามารถที่จะสื่อสารได้อยู่ที่ประมาณ 10-20 คน ที่เหลือกว่า 65 คนสามารถสื่อสารด้านภาษาอังกฤษได้น้อยมาก

                                "ส่วนใหญ่แรงงานกลุ่มไอทีจะมีทักษะภาษาที่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น และทำให้การเติบโตในสายงานดังกล่าวค่อนข้างทรงตัว โดยเฉพาะในระดับบริหารงานที่จะเติบโตจากระดับปฏิบัติการต้องการความรู้ ทักษะ และความสามารถในด้านการสื่อสารที่ค่อนข้างดี" 

                                ทั้งนี้ แรงงานในกลุ่มเทคโนโลยี โทรคมนาคม ไอที ปัจจุบันสามารถแบ่งสัดส่วนในประเทศไทยได้ที่ร้อยละ 60 จะเป็นในระดับปฏิบัติการ ระดับบริหารงานอยู่ที่ร้อยละ 30-35 และกลุ่มประเภทซีอีโอ หรือผู้บริหารระดับสูงจะอยู่ที่ร้อยละ 5-7 ซึ่งตัวเลขนี้ ปัจจุบันจะเห็นว่าระดับปฏิบัติการณ์และบริหารงานจะใช้คนท้องถิ่นเป็นหลัก ส่วนในระดับซีอีโอจะเป็นคนต่างชาติ หรือคนที่ใช้ภาษาได้ดี จะเห็นได้ว่าในอนาคตหากมีการเปิดเออีซี การเคลื่อนย้ายแรงงานก็จะตามมาด้วย ซึ่งแต่ละองค์กรเองก็ต้องการแรงงานที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี เพื่อประสิทธิภาพงานที่ดีตามไปด้วย

                                สำหรับคนกลุ่มที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนในอนาคตคือ กลุ่มบริหารงานที่จะมีการดึงคนของแต่ละประเทศเข้ามามีบทบาทการทำงานในประเทศไทยมากขึ้น แต่การเติบโตของธุรกิจประเภทนี้จะมีเทรนด์ใหม่เติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจที่เกิดกับแอพพลิเคชั่น สมาร์ทโฟน อุปกรณ์ต่างๆ ที่ตอบสมองไลฟ์สไตล์คนเมือง ส่วนค่าตอบแทนของบุคลากรเหล่านี้ มักมีเรื่องค่าจ้างที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นแรงงานที่ตลาดต้องการเป็นอย่างมาก และยังขาดแคลนแรงงาน

 

 

-----------------------------

(เปิดหูเปิดตาอาเซียน : โอกาสแรงงาน 'ไอที' ในเออีซี)

 

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

214

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน