ไชนีสดรีมกับอาเซียนดรีม
ไชนีสดรีมกับอาเซียนดรีม
ไชนีสดรีมกับอาเซียนดรีม : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี จงกิจถาวร
กรุงกัวลาลัมเปอร์-คนทั่วโลกคุ้นเคยกับอเมริกันดรีมกันมานานเป็นเวลาหลายสิบปี มันเป็นความฝันของคนทั่วโลกในสมัยก่อน ที่ปรารถนาอยากมีความเป็นอิสระและความรุ่งเรืองอยู่ดีกินดี สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่สามารถสร้างความฝันนี้ให้เป็นความจริง
มาในศตวรรษที่ 21 นี้ ประเทศจีนเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง กำลังจะสู้กับอเมริกันตัวต่อตัวในการสร้างฝันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยการเสนอ “ไชนีสดรีม” (Chinese Dream) ประเด็นที่สำคัญคือ ไชนีสดรีมสามารถจะพัฒนาเป็นทางเลือกของการขายฝันครั้งยิ่งใหญ่เวทีโลกได้หรือไม่?
ความฝันจีนต่างจากความฝันอเมริกัน ตรงที่ว่า จีนมุ่งไปที่ฝันของส่วนรวมทั้งคนทั้งประเทศ ในขณะที่ฝันของอเมริกาสนใจในตัวบุคคลและการพัฒนาขีดความสามารถ ฉะนั้นพลังขับเคลื่อนสังคมของฝันทั้งสองนั้นต่างกันมากๆ จีนมักจะเน้นว่า ในต้นศตวรรษที่ 19 จีนเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง เพราะมีผลผลิตเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของโลก ในที่สุดจีนยังตกเป็นเหยื่อของการเมืองอาณานิคมโลก (คงหมายถึงสงครามฝิ่น)
จีนมีความฝันใหญ่อยู่สองอย่างคือ หนึ่งพัฒนาเศรษฐกิจให้มีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2021 ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จะฉลองครบรอบ 100 ปีพอดี ความฝันที่สองคือ ประเทศจีนจะต้องพัฒนาเป็นประเทศสังคมนิยมที่แข็งแรง และรุ่งเรืองในปี 2049 ที่ครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ประธานคณะกรรมการต่างประเทศของสภาประชาชนจีน มาดามฟู หยิ่ง ตอกย้ำที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ต้นเดือนมิถุนายน ว่า ตอนเธอเป็นเด็ก จีนมีรถจักรยาน 6 ล้านคัน ตอนนี้จีนมีรถยนต์ 5 ล้านคัน เพื่อเน้นว่า จีนได้พัฒนาก้าวไกลมาก
อาเซียนก็มี "อาเซียนดรีม” (Asean Dream) เหมือนกัน คือการรวมตัวกันเป็นประชาคมเดียวที่สามารถลดช่องว่างความยากจน และมีการพัฒนาที่เท่าเทียมกัน ตามจริงคำว่า “อาเซียนดรีม” นั้น คนแรกใช้คำนี้คือ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนใหม่ คือ หวัง หยี่ ตอนพบกับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนต้นเดือนพฤษภาคม ที่กรุงปักกิ่ง รัฐมนตรีคนนี้รู้จักความคิดอาเซียนดีมาก เพราะเคยเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสจีนในการร่างกฎข้อบังคับในทะเลจีนใต้
วิเคราะห์ลึกๆ จะพบว่า ทั้งความฝันจีนกับอาเซียน มีจุดประสงค์เหมือนกันคือ สร้างสังคมองค์รวมให้มีความมั่งมี เข้มแข็ง พัฒนา และมีความมั่นคงมนุษย์โดยทั่วถึง อาเซียนเน้นประชาคม ส่วนจีนตอกย้ำของทั้งประเทศ ซึ่งประเด็นนี้เข้าใจได้ เนื่องจากจีนเป็นประเทศมีประชากรมากที่สุดในโลก ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ รวมทั้งความเป็นอยู่ของคนอาศัยในตัวเมืองและชนบท ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา คนจีนในชนบทได้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่เมืองเพื่อหางานทำและความเป็นอยู่ที่ดีกว่าถึงสาม-สี่ร้อยล้านคน
ความฝันจีนจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อสภาพสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอื้ออำนวยให้จีนสามารถพัฒนาประเทศและดำรงไว้ซึ่งความมีเสถียรภาพ ฉะนั้นสายสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนในทุกมิติจึงมีความสำคัญมาก ยิ่งในช่วงนี้จีนกับอาเซียนกำลังหาวิธีแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้
ตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาข้อยุติในทะเลจีนใต้ได้ ความตึงเครียดในภูมิภาคจะไม่หายไปไหน ความฝันทั้งสองมีความผูกพันต่อสถานภาพของทะเลจีนใต้ ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่ามีจะประเด็นอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจและสังคม แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้