นายกรัฐมนตรี ย้ำพร้อมเดินหน้าพัฒนางานด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในกลุ่มประชาคมอาเซียน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” โดยได้กล่าวถึงผลการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 22 ที่ประเทศบรูไน ระหว่างวันที่ 24-25 เม.ย.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า
 
ผู้นำประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี2015 จะทำอย่างไรให้ 3 เสาหลักทำงานเชื่อมโยงกันทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองความมั่นคงและสังคมวัฒนธรรม การดูแลสิทธิมนุษยชน ปราบยาเสพติด วัฒนธรรมและท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยเห็นตรงกันที่จะเสนอตั้งหน่วยงานขึ้นมากำกับดูแลติดตามให้ความร่วมมือเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
 
นอกจากนี้ยังหารือถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการและพัฒนาต่อหลังจากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะได้มีการเชิญนักลงทุนมาร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับประชาชนรวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษา สาธารณสุขและการพัฒนาด่านชายแดน ทั้งนี้ เจ้าภาพการจัดงานคือบรูไนได้เสนอให้เปิดช่องทางให้สมาชิกอาเซียนได้สิทธิพิเศษในการเดินทาง ซึ่งไทยก็เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม จะพูดคุยกันอีกครั้งในเดือนพ.ค.นี้
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้พูดถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ด้วยว่าอาเซียนอยากเห็นการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีด้วยการพูดคุยเจรจาและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนและจีนได้เสนอการสร้างสันติภาพและความมั่นคงทางทะเลและพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อหารือในรายละเอียดซึ่งทุกประเทศก็เห็นด้วย
 
อย่างไรก็ตามในระหว่างการประชุมได้มีการประชุมร่วมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ3ฝ่ายไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ครั้งที่ 7 โดยทั้ง3ประเทศเห็นตรงกันในการประกาศเจตนารมณ์แผนพัฒนาร่วมทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ภายในระยะเวลา 5 ปี ส่วนใหญ่ไทยเสนอพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่แต่ละประเทศก็มีแผนมาเชื่อมกัน สุดท้ายก็ไปเชื่อมแผนใหญ่
 
นอกจากนี้ ไทยก็เสนอว่าควรจะลดช่องว่างทางเศรษฐกิจในเรื่องของการสร้างรายได้ ในกลุ่มของ 3 ประเทศนี้น่าจะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลร่วมกันได้ หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราเป็น รับเบอร์ ซิตี้ ทางมาเลเซียก็คาดหวังจะเห็นการพัฒนาในส่วนนี้ร่วมกัน เราจะพูดตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในการประชุมยังได้กล่าวถึงการหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเมียนมาร์ ติดตามความคืบหน้าการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่ทั้ง 2 ประเทศเห็นด้วยกับการพัฒนาแบบรัฐต่อรัฐและเอกชนต่อเอกชน
 
ในส่วนนี้ทางเมียนมาร์ก็ให้สิทธิพิเศษและกำหนดเขตพิเศษมาให้ ก็เป็นจุดสนใจสำหรับนักลงทุน ในส่วนของรัฐต่อรัฐเราก็ให้คำปรึกษากับเมียนมาร์เพื่อให้เกิดการพัฒนาในส่วนของเอกชนและเอกชนของทั้งสองประเทศ และจะเชิญญี่ปุ่นเข้ามาในส่วนของรัฐต่อรัฐด้วย และหารือว่าจะทำอย่างไรให้เกิดอุตสาหกรรมนี้เร็วขึ้นเป็นนิคมอุตสาหกรรม และจะมีการหารือกันอีกครั้งในเดือนพ.ค.นี้
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ทางเมียนมาร์เขาก็ขอเรื่องการเปิดด่าน เห็นชอบในการพัฒนาด่านเพิ่มเติมกับเมียนมาร์อีก3 แห่ง ได้แก่ ด่านเจดีย์สามองค์-พญาตองซู ด่านบ้านน้ำพุร้อน-ทิกิ ด่านสิงขร-มอต่อง ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระชับและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ในระดับ ประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ ถือเป็นการพัฒนาชายแดน เนื่องจากเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นการเชื่อมโยงและการเปิดพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ด้วยกัน”
 
 
 
ที่มา : เดลินิวส์

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanthai.net ดูทั้งหมด

677

views
Credit : aseanthai.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน