อาเซียนเรียกร้องจีนหารือปัญหาทะเลจีนใต้

 
น่าน


บรรดาผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลม ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ในกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน วันที่ 25 เม.ย. ประเด็นสำคัญในการหารือของอาเซียนคือความพยายามที่จะลดความตึงเครียดเกี่ยวกับข้อพิพาททะเลจีนใต้และการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน. -- AFP PHOTO/Roslan Rahman.
เอเอฟพี - ผู้นำชาติสมาชิกในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในวันนี้ (25) ได้เรียกร้องการหารือกับจีนเพื่อให้มั่นใจว่าความตึงเครียดในเหตุพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้จะไม่ยกระดับไปสู่ความรุนแรง

อาเซียนได้สรุปการประชุมสุดยอดเป็นเวลา 2 วัน ที่บรูไน ด้วยแถลงการณ์ของประธานอาเซียนที่เน้นถึงความสำคัญของสันติภาพ เสถียรภาพ และความปลอดภัยทางทะเลในภูมิภาค

สุลต่านฮัสซานัล โบเกียห์ แห่งบรูไน ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมสุดยอดว่า ผู้นำชาติอาเซียนต้องการเร่งจัดทำหลักปฏิบัติ (Code of Conduct) แก่จีน ในเป้าหมายที่จะลดความตึงเครียดในน่านน้ำที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์

ประเด็นสำคัญอื่นที่มุ่งเน้นในการประชุมครั้งนี้คือ การผลักดันแผนการสร้างตลาดเดียวของอาเซียน และของประชากรราว 600 ล้านคน หรือที่รู้จักในชื่อ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี 2558

อย่างไรก็ตาม ประเด็นทะเลจีนใต้ยังคงครอบงำการประชุมท่ามกลางความวิตกกังวลที่เพิ่มสูงขึ้นในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนในการอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือน่านน้ำดังกล่าว

จีนระบุว่า มีสิทธิอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าอุดมไปด้วยน้ำมัน และก๊าซ และยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะที่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน รวมทั้งไต้หวัน ต่างอ้างสิทธิเหนือพื้นที่บางส่วนในทะเลจีนใต้เช่นกัน

การเรียกร้องอ้างสิทธิมีมาเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ ทำให้พื้นที่นี้เป็นชนวนระเบิดสำหรับความขัดแย้งทางทหารที่มีศักยภาพแห่งหนึ่งของเอเชีย ซึ่งจีน และเวียดนามเคยสู้รบกันในปี 2517 และ 2531 เพื่อเข้าควบคุมเกาะที่ส่งผลให้มีทหารเสียชีวิตหลายสิบนาย

ความตึงเครียดได้พุ่งขึ้นอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อจีนใช้กลยุทธ์ทางทหาร และทางการทูตที่แข็งกร้าวมากขึ้นในการยืนยันอำนาจของตน เช่น การยึดครองเกาะที่อยู่ใกล้กับเกาะใหญ่ของฟิลิปปินส์เมื่อปีที่ผ่านมา และในเดือน มี.ค. กองเรือจีนได้เคลื่อนกำลังเข้าใกล้น่านน้ำของมาเลเซีย เป็นต้น

ในปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนามต่างล้มเหลวที่จะโน้มน้าวกลุ่มให้ส่งข้อความถึงข้อวิตกกังวลดังกล่าวไปยังจีน เนื่องจากกัมพูชา ที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดจีน ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนในปี 2555 ได้ขัดขวางความพยายามของฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนกล่าวว่า การประชุมในสัปดาห์นี้ประสบความสำเร็จในความรู้สึกของความเป็นเอกภาพภายในอาเซียนที่ได้รับกลับคืนมาในประเด็นดังกล่าว โดยประธานาธิบดีเบนิโญ อากิโน ของฟิลิปปินส์ ยกย่องบรูไนที่เป็นเจ้าภาพสำหรับการเจรจาต่อรองที่ช่วยสร้างฉันทมติ

ด้านนักวิเคราะห์กล่าวว่า การเรียกร้องของอาเซียนต่อจีนให้เห็นชอบกับหลักปฏิบัติทางทะเลที่มีผลผูกพันตามกฎหมายมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ความว่างเปล่า

อาเซียน และจีนได้เห็นพ้องกันเป็นครั้งแรกในการจัดทำหลักปฏิบัติเมื่อปี 2545 แต่นับตั้งแต่นั้น จีนได้ปฏิเสธที่จะหารือถึงการจัดทำหลักปฏิบัติต่อไปอีก

“จีนไม่เคยกระตือรือร้นเกี่ยวกับหลักปฏิบัติ เพราะไม่ต้องการที่จะลงนามข้อตกลงที่จะจำกัดอำนาจอธิปไตยของตัวเอง” เอียน สตอเรย์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา กล่าว

อย่างไรก็ตาม อากิโน ระบุว่า รู้สึกยินดีที่ผู้นำชาติอาเซียนอย่างน้อยมีความเป็นหนึ่งเดียวกันในความพยายามที่จะให้แน่ใจว่าข้อพิพาทในทะเลจีนใต้จะไม่กลายเป็นเหตุนองเลือด

นายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะเปิดการเจรจาหารือกับจีนในประเด็นดังกล่าวที่กรุงปักกิ่งในช่วงปลายปี

สุลต่านฮัสซานัล โบเกียห์ และผู้นำอาเซียนชาติอื่นๆ ระบุว่า การทำงานเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นมีความเห็นชอบร่วมกันคืบหน้าไปแล้วมากกว่า 3 ใน 4 แต่เตือนว่า การเจรจาในส่วนที่ยากที่สุดนั้นเพิ่งเริ่มต้น.

ที่มา : http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrview.aspx?NewsID=9560000049880

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ paidoo.net ดูทั้งหมด

429

views
Credit : paidoo.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน