'จีน'ฮึ่มอาเซียนอย่าได้คิดพึ่ง'ปท.ที่3'ขณะ'ปินส์'รีบเร่งจับมือสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น

 
น่าน

อาเซียนและจีน บาดหมางกันเกี่ยวกับข้อพิพาทในบริเวณทะเลจีนใต้ เอเจนซี/เอเอฟพี - “จีน” ตีปลาหน้าไซก่อนหน้าเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียน ด้วยการประกาศในวันพฤหัสบดี (27มิ.ย.) ว่า “ไม่มีประโยชน์” หากพวกชาติที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกับแดนมังกรในบริเวณทะเลจีนใต้ พยายามร้องขอความช่วยเหลือจาก “ประเทศที่สาม” เพราะหนทางในการเผชิญหน้ากันมีแต่ “ความหายนะที่ถูกกำหนดไว้แล้ว” ส่วนทางด้านฟิลิปปินส์แบะท่าว่ากำลังมองหาวิธีที่จะให้สหรัฐฯกับญี่ปุ่น สามารถเข้าไปใช้ฐานทัพทางทหารของตนได้เพิ่มมากขึ้น ในเวลาเดียวกับที่มีรายงานว่าฝ่ายทหารตากาล็อกเตรียมเสนอแผนสร้างฐานทัพอากาศและฐานทัพเรือใหม่ๆ ในอ่าวซูบิก ที่เคยเป็นฐานเก่าของอเมริกัน เพื่อให้สามารถใช้รับมือตอบโต้การรุกล้ำอย่างหนักข้อยิ่งขึ้นของปักกิ่งในบริเวณน่านน้ำที่พิพาทช่วงชิงกันอยู่

จีนกำลังแสดงความยืนกรานแข็งกร้าวในการอ้างอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณเกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ จึงทำให้เกิดการพิพาทโดยตรงกับชาติเอเชียอื่นๆ ที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ต่างๆ ในน่านน้ำแห่งนั้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, บรูไน, มาเลเซีย, หรือกระทั่งไต้หวัน

ถึงแม้ในการแสดงความเห็นภายหลังไปกล่าวปราศรัย ณ เวทีประชุมสันติภาพโลกประจำปีของมหาวิทยาลัยชิงหวา ที่กรุงปักกิ่งวันพฤหัสบดี หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ไม่ได้ระบุชื่อ “ประเทศที่สาม” ออกมาตรงๆ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าเขากำลังหมายถึงสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรโดยตรงของไต้หวันและฟิลิปปินส์ รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอื่นๆ ที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ซึ่งเชื่อกันว่าอุดมด้วยน้ำมันและก๊าซ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและแหล่งประมงสำคัญ

“หากประเทศที่อ้างสิทธิ์รายใดเลือกการเผชิญหน้า เส้นทางนั้นจะเป็นความหายนะที่ถูกกำหนดไว้แล้ว

“หากประเทศที่อ้างสิทธิ์ดังกล่าวพยายามเพิ่มน้ำหนักให้แก่ข้ออ้างที่ขาดเหตุผลของพวกเขา ด้วยการขอความช่วยเหลือจากกองกำลังภายนอกแล้ว การดำเนินการดังกล่าวจะไร้ประโยชน์ และจะได้รับการพิสูจน์ในที่สุดว่า เป็นการคำนวณผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ซึ่งไม่ควรค่าแก่การใช้ความพยายาม” หวัง บอก

การแสดงความคิดเห็นเช่นนี้มีขึ้นไม่กี่วัน ก่อนที่หวังจะเดินทางไปร่วมประชุมกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน ซึ่งกำหนดจัดขึ้นที่บรูไนตั้งแต่วันเสาร์นี้ถึงวันอังคารหน้า (29 มิ.ย. - 2 ก.ค.)

อาเซียนนั้นวาดหวังว่า จะสามารถจัดทำ “แนวทางปฏิบัติ” เกี่ยวกับการจัดการข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมายบรรดาชาติผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย โดยที่ในตอนนี้ยังคงมีเพียง “ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติ" ซึ่งมีรายละเอียดและขอบเขตอำนาจเพียงผิวเผินเท่านั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนระบุว่า การที่จะบรรลุแนวทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความรอบคอบ และว่า ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติ นั้นเป็นพันธะสัญญาระหว่างจีนและสมาชิกอาเซียทั้ง 10 ชาติ ซึ่งจีนจะยึดถือปฏิบัติต่อไป

ในวันเดียวกันนี้เอง รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ วอลแตร์ กัซมิน กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวภายหลังการพบปะหารือกับ รัฐมนตรีกลาโหม อิสึโนริ โอโนเดระ ของญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางไปเยือนกรุงมะนิลาว่า รัฐบาลแดนตากาล็อกกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างเบื้องต้นเกี่ยวกับแผนการซึ่งจะเปิดทางให้กองทหารสหรัฐฯสามารถใช้เวลาอยู่ในฐานทัพต่างๆ ของฟิลิปปินส์ได้ยาวนานขึ้น โดยที่เรื่องนี้อาจจะมีการเสนอให้แก่ฝ่ายทหารของญี่ปุ่นด้วยในเวลาต่อไป

“ถ้าหากและเมื่อใดก็ตามที่มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับการเข้าใช้เช่นนี้แล้ว ก็จะมีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาจากสหรัฐฯ” กัซมิน ระบุ และกล่าวต่อไปว่า “เวลานี้ สำหรับในส่วนที่ญี่ปุ่นเกี่ยวข้องด้วยแล้ว เรายินดีต้อนรับประเทศอื่นๆ - โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นนั้นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รายหนึ่ง ในลักษณะที่สอดคล้องเป็นไปตามข้อตกลงและวิธีปฏิบัติต่างๆ ของเราที่มีอยู่ในปัจจุบัน”

ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ของฟิลิปปินส์ ได้เน้นย้ำแล้วว่า ยินดีต้อนรับให้สหรัฐฯมาปรากฏตัวในทางทหารในแดนตากาล็อกเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่กรณีพิพาทช่วงชิงดินแดนระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนกำลังตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม การแสดงความเห็นของกัซมินคราวนี้ บ่งบอกให้เห็นว่า ฟิลิปปินส์กำลังหวังที่จะขยายเพิ่มพูนให้มากไปกว่าการซ้อมรบทางทหารแบบมาตรฐานที่กองทัพของวอชิงตันและมะนิลา “กำลังมีปฏิสัมพันธ์กันเป็นประจำอยู่แล้ว”

“แบบวิธีสำหรับการเพิ่มการปรากฏตัวแบบหมุนเวียนให้มากขึ้นนั้น เวลานี้กำลังตรวจสอบศึกษากันอยู่ แบบวิธีหนึ่งที่อาจทำได้ก็คือการดำเนินการซ้อมรบชนิดที่มีคุณค่าสูงและผลกระทบสูง” เขากล่าวโดยมิได้ขยายตัวเพิ่มเติมใดๆ

อย่างไรก็ดี กัซมินย้ำว่า แผนการดังกล่าวนี้จะไม่ใช่การให้สหรัฐฯตั้งฐานทัพใหม่ๆ หรือตั้งฐานทัพถาวรขึ้นในฟิลิปปินส์

สหรัฐฯนั้นเคยมีกำลังทหารจำนวนหลายหมื่นคนประจำอยู่ในฟิลิปปินส์ ที่ฐานทัพอากาศคลาร์ก และฐานทัพนาวีอ่าวซูบิก ในบริเวณตอนเหนือของกรุงมะนิลา จวบจนกระทั่งถึงตอนต้นทศวรรษ 1990 เมื่อกระแสต่อต้านสหรัฐฯในแดนตากาล็อกตลอดจนการทะเลาะกันเรื่องค่าเช่าฐานทัพ บีบบังคับให้อเมริกันถอนตัวออกไป โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของฟิลิปปินส์ก็มีบทบัญญัติห้ามการมีฐานทัพต่างชาติอย่างถาวรใดๆ

กระนั้นก็ตาม พวกสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งที่คลาร์กและที่ซูบิก ซึ่งแม้เวลานี้บางส่วนได้มีการดัดแปลงไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจแล้ว แต่ก็ยังคงให้การต้อนรับและบริการซ่อมแซมเครื่องบินทหารและเรือรบของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในการซ้อมรบร่วมเป็นระยะเวลาสั้นๆ

ทั้งนี้ตามข้อมูลของทางการ เฉพาะในปีนี้ปีเดียว เรือรบผิวน้ำและเรือดำน้ำของสหรัฐฯได้ไปเยือนอ่าวซูบิกแล้ว 72 ลำ เปรียบเทียบกับตลอดทั้งปี 2012 ซึ่งมีจำนวน 88 ลำ และทั้งปี 2011 ที่มี 54 ลำ และทั้งปี 2010 ซึ่งมี 51 ลำ

**ฟิลิปปินส์มีแผนสร้างฐานทัพใหม่ๆในอ่าวซูบิก**

ในวันพฤหัสบดีเช่นกัน พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทัพเรือฟิลิปปินส์เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ฝ่ายทหารของแดนตากาล็อกกำลังปัดฝุ่นแผนการสร้างฐานทัพอากาศและฐานทัพเรือแห่งใหม่ๆ ในอ่าวซูบิก เพื่อรับมือการรุกล้ำของจีนในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท

ฐานทัพดังกล่าวเหล่านี้ จะทำให้ฟิลิปปินส์มีเรือรบและเครื่องบินขับไล่ประจำการอยู่ห่างเพียง 124 ไมล์ทะเลจากสันดอนสการ์โบโรห์ ซึ่งขณะนี้จีนเข้าควบคุมหลังเกิดการเผชิญหน้าตึงเครียดกับแดนตากาล็อกเมื่อปีที่แล้ว

กองทัพเรือฟิลิปปินส์ซึ่งห่างชั้นจากจีนทั้งด้านทรัพยากรและศักยภาพในการสู้รบ ยังไม่ได้เสนอแผนการพัฒนาฐานทัพแห่งนี้ที่มีมูลค่า 230 ล้านดอลลาร์ต่อประธานาธิบดีอากีโน แต่อย่างใด

กระนั้น เจ้าหน้าที่อาวุโสหลายคนเชื่อว่า ข้อเสนอนี้มีโอกาสอย่างมากที่จะได้รับการรับรองจากอากีโน ที่ต้องการยกระดับกองทัพที่ด้อยประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ถือว่าเร่งด่วน หลังจากมีการเผชิญหน้ากับจีนหลายครั้งในน่านน้ำที่เป็นปัญหา

เป็นที่คาดหมายกันว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ซึ่งก็จะเข้าร่วมการหารือของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในตอนต้นสัปดาห์หน้า จะหยิบยกข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ขึ้นมาหารือ โดยที่น่าจะแสดงท่าทีหนุนหลังฟิลิปปินส์และชาติอาเซียนอื่นๆ ที่ทะเลาะอยู่กับจีน

ที่มา : http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrview.aspx?NewsID=9560000078438

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ paidoo.net ดูทั้งหมด

397

views
Credit : paidoo.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน