ยุทธศาสตร์ชาติเรื่องเด็ก โจทย์ต้องชัดว่าต้องการคนในชาติแบบไหน !

 

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต เราไม่เคยมีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ในการกำหนดเอกภาพในการเรียนรู้ของเด็กและครอบครัว ว่าควรไปในทิศทางไหน
ถามว่าแหล่งการเรียนรู้ของเด็กไทยอยู่ที่ไหน ?
ยังคงเป็นท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สวนสัตว์ อยู่หรือไม่ เท่าที่จำได้ก็ตั้งแต่สมัยดิฉันยังเด็ก และส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่โรงเรียนพาไปทัศนศึกษา
บางคนอาจเถียงว่าเยอะแยะไปหมด มีแทบทุกจังหวัด เดี๋ยวนี้จังหวัดนั้นก็มีสวนสัตว์ จังหวัดนี้ก็มีอะควาเรียม แล้วก็มีสารพัดสัตว์เหมือนกันไปหมด แต่มันถูกกำหนดด้วยวิธีคิดที่ออกแบบมาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดมากกว่าที่ถูกออกแบบมาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้
แม้แต่พิพิธภัณฑ์ของท้องถิ่นหรือชุมชนก็แล้วแต่บุญแต่กรรม มีงบประมาณก็พอเอาตัวรอด แต่บางแห่งที่ไม่มีงบประมาณก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง หรือไม่ก็ไม่มีชีวิต ปล่อยให้คงสภาพแบบนั้นไปเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดก็เฉาไปเอง
ถามว่าแล้วเด็กไทยไปไหนกัน?
เด็กไทยไปศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้ากันหมด เพราะภายในศูนย์การค้ามีหมด ทั้งสวนสัตว์ สวนน้ำ สวนสนุก ร้านอาหาร สถานที่กวดวิชา ร้านเกม แม้กระทั่งคาราโอเกะ ฯลฯ
ทิศทางการพัฒนาของบ้านเราก็เลยมีแต่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และแข่งขันกันใหญ่ที่สุด มีสาขามากที่สุด
ในขณะที่หันไปมองต่างชาติ ประเทศที่เข้าพัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญเรื่องแหล่งการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนคนในชาติของเขาเป็นอย่างมาก มีพิพิธภัณฑ์ดีๆ ที่ภาครัฐส่งเสริมอย่างจริงจัง และสนับสนุนให้โรงเรียนและครอบครัวพาเด็กๆ ไปเรียนรู้อย่างมาก เขาออกแบบให้เป็นยุทธศาสตร์ของชาติโดยให้พิพิธภัณฑ์และแหล่งการเรียนรู้ดีๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของคนในชาติตั้งแต่เล็ก
บางประเทศใช้พิพิธภัณฑ์สอนรากฐานของชาติ การสร้างชาติ กว่าจะเป็นชาติได้ เขาถึงทำให้คนในชาติรักชาติ

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือเราต้องยอมรับว่าขณะนี้สังคมเรามีปัญหา เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งโจทย์ตั้งแต่แรกให้ชัด และทำความเข้าใจว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน รวมไปถึงโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป ผู้คนมีลูกน้อยลง แต่งงานช้า และหย่าร้างมากขึ้น มีความซับซ้อนของครอบครัวมากขึ้น
โครงสร้างและรูปแบบของสถาบันครอบครัวมีรูปแบบเปลี่ยนไปมากพอจะคร่าวๆ มีอยู่ 4 กลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่ง พ่อแม่ท้องไม่พร้อม
กลุ่มที่สอง พ่อแม่หย่าร้าง
กลุ่มที่สาม พ่อแม่มีความพร้อมทุกด้าน แต่เลี้ยงดูไม่ถูกวิธี
กลุ่มที่สี่ พ่อแม่เลี้ยงดูอย่างเหมาะสม แต่เป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อยมาก
นั่นหมายความว่าเด็กๆ ที่เติบโตมาให้ครอบครัวกลุ่มที่หนึ่งถึงกลุ่มที่สามมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหา ทั้งจากสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู เพราะฉะนั้นการออกแบบนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ ก็ต้องออกแบบให้สอดรับกับกลุ่มเด็กเหล่านี้ที่จะต้องเติบโตขึ้นไปด้วย
การร่างนโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัวจะเขียนให้สวยหรูขนาดไหนก็เขียนได้ แต่เขียนเพื่อสามารถนำไปปฏิบัติและกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเด็กและครอบครัวจริงๆ ท่ามกลางสภาพสังคมแบบที่เห็นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้…ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะเป็นไปได้ !!!

ที่มา : http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrview.aspx?NewsID=9560000077584

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ paidoo.net ดูทั้งหมด

446

views
Credit : paidoo.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน