ปชช.61.7% เชื่อว่า ไทยพร้อมรับมือเปิดประชาคมอาเซียน แต่การศึกษาต้องได้มาตรฐานกว่านี้
นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านนโยบายสาธารณะเพื่อกิจการอาเซียน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในสายตาชาวกรุง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18ปีขึ้นไปที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,525ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-23เมษายน 2556ที่ผ่านมา
จากการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือร้อยละ 61.7ระบุคนไทยมีความพร้อมต่อการรับมือกับการเปิดประชาคมอาเซียน ส่วนร้อยละ 33.4
ระบุว่ายังไม่พร้อม นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 80.3ระบุว่าผู้นำประเทศควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
เมื่อสอบถามเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุดต่อการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนพบว่า ห้าอันดับแรกของสิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ
- อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 24.8 ได้แก่ การพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ
- อันดับสองหรือร้อยละ 23.6 ได้แก่ ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ
- อันดับสามหรือร้อยละ 18.2 ได้แก่การส่งเสริมวิชาชีพชำนาญการและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
- อันดับสี่หรือร้อยละ 14.4 ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุน
- อันดับห้าหรือร้อยละ 7.6 ได้แก่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือสามอันดับแรกของประเทศในอาเซียนที่มีความพร้อมและศักยภาพมากที่สุดในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสายตาของกลุ่มตัวอย่างสามอันดับแรกได้แก่
- อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 34.5 ระบุสิงคโปร์
- อันดับสองหรือร้อยละ 25.7 ระบุไทย
- อันดับสามหรือร้อยละ 9.8 ระบุมาเลเซีย
นางสาวปุณฑรีก์ ผช.ผอ.กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ประชาชนเล็งเห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมของทั้งประชาชนและประเทศโดยภาพรวมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับประเทศอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและการประกอบอาชีพให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท ถิ่นทุรกันดาร ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการพัฒนาจะถูกมุ่งเน้นไปที่บริเวณชุมชนเมือง
นอกจากนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้าสู่สังคมนานาชาติ ควรให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการส่งเสริมและการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมอันดีงามของไทยให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญคือผู้ใหญ่ของประเทศก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ใช้เหตุและผลในการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้อง
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า
ตัวอย่างร้อยละ 53.3 เป็นหญิง
ร้อยละ 46.7 เป็นชาย
ตัวอย่างร้อยละ 4.2 อายุน้อยกว่า 20 ปี
ร้อยละ 18.3 อายุระหว่าง 20–29 ปี
ร้อยละ 22.3 อายุระหว่าง 30–39 ปี
ร้อยละ 22.4 อายุระหว่าง 40–49 ปี
ร้อยละ 32.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป
ตัวอย่างร้อยละ 64.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
ร้อยละ 34.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
ในขณะที่ร้อยละ 1.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่างร้อยละ 35.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว
ร้อยละ 22.0 ระบุเป็นพนักงานเอกชน
ร้อยละ 6.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 8.6 เป็นนักเรียนนักศึกษา
ร้อยละ 14.2 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป
ร้อยละ 10.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ
ร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ที่มา :มติชนออนไลน์
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanthai.net ดูทั้งหมด
484
views
Credit : aseanthai.net
News