ประเมินผลความร่วมมือการเมืองความมั่นคง
ประเมินผลความร่วมมือการเมืองความมั่นคง
ประเมินผลความร่วมมือการเมืองความมั่นคง : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี จงกิจถาวร
ประชาคมอาเซียนมีสามเสาหลักคือเศรษฐกิจ การเมือง/ความมั่นคง และสังคม/วัฒนธรรม ที่ผ่านมาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้นได้มีการประเมินผลอย่างจริงจัง ตอนนี้อาเซียนทำได้แค่ 77.5 เปอร์เซ็นต์ ทางด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนที่เหลือเกี่ยวกับมาตรการการลงทุน ด้านบริการและการกีดกันการค้าที่ไม่ได้เกี่ยวกับมาตรการภาษี
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนได้มีการประเมินผลความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่าด้านการเมืองได้แค่ 71 เปอร์เซ็นต์ และด้านความมั่นคงได้แค่ 62 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการวัดผล ในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมานั้นมีการประเมินผลประชาคมเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้ง และมีตัวเลขออกมาที่ไม่ตรงกัน
ต้องยอมรับว่าการประเมินความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงในกรอบอาเซียนและประเทศสมาชิกนั้นยากมากๆ เพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะประเมิน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของการวัดผล ในอนาคตคงมีองค์กรอื่นเข้ามาร่วมด้วย
ต้องยอมรับว่าอาเซียน ไม่ค่อยไยดีต่อความร่วมมือทางการเมือง/ความมั่นคงเพราะว่ามีความไม่ชัดเจนของข้อปฏิบัติต่างๆ ที่บรรจุในแผนของประชาคมการเมือง/ความมั่นคง นอกจากนั้นยังมีความละเอียดอ่อนในแต่ละเรื่อง โดยเฉพาะในส่วนเกี่ยวกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล เนื่องจากมีประเด็นอธิปไตยของประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง หลักการไม่แทรกแซงที่ค่านิยมของอาเซียนมาตั้งแต่ปี 1976 ที่เป็นอุปสรรค
โดยทั่วๆ ไปอาเซียนประสบความสำเร็จในเรื่องการดำเนินสัมพันธ์กับต่างประเทศ ขณะนี้อาเซียนมีคู่เจรจาอยู่สิบประเทศ และมีความร่วมมือรอบด้าน โดยเฉพาะกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนประเทศอื่นๆ ไม่เข้มข้นเท่าไร
หลังอาเซียนประกาศใช้กฎบัตรในปี 2008 มีประเทศต่างๆ กว่า 70 ประเทศได้รับรองสำนักเลขาธิการอาเซียนโดยแต่งตั้งทูตประจำอาเซียนขึ้นมา ส่วนใหญ่ใช้ทูตประจำที่กรุงจาการ์ตา ขณะนี้มีเพียงสี่ประเทศเท่านั้นคือจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียที่มีสำนักงานทูตถาวรประจำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา
ผลงานอีกเรืองคือ สนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือ (Treaty of Amity and Cooperation) มีถึง 31 ประเทศได้เข้ามาภาคยานุวัติ (นอร์เวย์จะเป็นประเทศที่ 32 ในเดือนกรกฎาคม) จนอาเซียนต้องกลับมาทบทวนดูว่าในอนาคตจะทำอย่างไรดีกับประเทศเหล่านี้ เพราะมีจำนวนมากกว่าสมาชิกอาเซียนเสียอีก ในอนาคตถ้ามีต้องการตัดสินอะไรขึ้นมาที่เกี่ยวกับสนธิสัญญานี้ อาเซียนอาจจะเสียเปรียบ เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนกำลังพิจารณาถึงคุณสมบัติสำหรับประเทศที่จะเข้ามาเป็นประเทศคู่เจรจาหรือภาคยานุวัติกับสนธิสัญญาอาเซียน
ความก้าวหน้าที่ได้รับการชื่นชม เห็นจะเป็นความร่วมมือทางด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหมที่มีการประชุมมาเพียงไม่กี่ปี แต่ความร่วมมือของกลุ่มนี้เข้มข้นขึ้นมาก มีการฝึกให้ความช่วยเหลือและการจัดการภัยวิบัติระหว่างสมาชิกที่ค่อนข้างใหญ่ จนเป็นที่โจษจันกันว่ากลุ่มความมั่นคงทำอะไรทำจริงจังและอลังการ์ ไม่เหมือนกับความร่วมมือในกรอบของเออาร์เอฟ (มีรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นเจ้าของงาน) ซึ่งมีการฝึกร่วมอยู่เสมอแต่เป็นขนาดเล็ก
ในปีที่แล้วผู้นำอาเซียนตกลงกันไว้ว่าภายในปี 2022 อาเซียนจะมีจุดยืนเหมือนกันในประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาโลกร้อน การก่อการร้าย เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองของอาเซียน มิฉะนั้นแล้วบทบาทอาเซียนในเวทีการเมืองโลกจะลดน้อยลงไป
ในปีนี้ผู้นำอาเซียนจะพบกับผู้นำญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียวเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 40 ปีระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน นอกจากนั้น ประธานาธิบดีบารัก โอบามา จะพบกับผู้นำอาเซียนในกรอบของการประชุมสุดยอด (ที่เคยพบกันมาสามครั้งเป็นเพียงความตกลงของแต่ละปี) ซึ่งจะมีขึ้นทุกๆ ปีในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนในปลายปี