เหตุที่ต้องล้มศาลรัฐธรรมนูญ/ราวี เวียงพยัคฆ์


เหตุที่ต้องล้มศาลรัฐธรรมนูญ

โดย ราวี เวียงพยัคฆ์
29 เมษายน 2556 14:34 น.

       กลุ่มคนเสื้อแดง 200 กว่าคนชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญเรียกร้องให้ตุลาการทั้ง 9 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ลาออก และถ้าหากขืนยังปฏิบัติหน้าที่ก็อาจจะถูกจับตัว ทั้งนี้เป็นไปตามสิทธิในรัฐธรรมนูญในความคิดของผู้นำฝ่ายบริหารปัญญาอ่อนที่ให้ความเห็นกับนักข่าวเมื่อปลายสัปดาห์นี้

       

       เพียงแต่ศาลรับคำร้องของผู้ร้องที่เขาคิดและเชื่อว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภาส่วนหนึ่งทำผิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยทั้งพรรคล้มศาลรัฐธรรมนูญเลยหรือ เป็นเหตุให้นักกฎหมายใหญ่อย่างนายอุกฤษ มงคลนาวิน ออกมาแสดงความคิดเห็นเสนอแนวทางปรับปรุงศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ยกคดีต่างๆ ที่คิดว่าฝ่ายทักษิณ บริษัทบริวารของทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น ทำกับข้าวถูกปลด เป็นกบฏถูกปล่อยเลยหรือ?

       

       ช่างสอดประสานกันดีเหลือเกิน

       

       พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลลงมือแก้รัฐธรรมนูญมาแล้ว เมื่อปีที่แล้ว มีผู้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ 4-5 ราย ในที่สุดศาลก็ตัดสินว่า การกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนฝ่ายรัฐบาลดังกล่าว ยังไม่ถึงขั้นที่จะล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปีนี้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลรวมทั้งวุฒิสมาชิกส่วนหนึ่งถูกร้องอีก

       

       ผลสรุปก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกับปีที่แล้ว แต่ทำไมหนนี้จึงมีท่าทีแข็งกร้าวถึงขนาดให้ศาลรัฐธรรมนูญหยุดปฏิบัติหน้าที่ให้ตุลาการทั้ง 9 คนลาออก

       

       เงื่อนปมไม่น่าจะอยู่ที่การรับคำร้องที่มีประชาชนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หากแต่อยู่ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่คล้อยตามความต้องการของรัฐบาล รัฐบาลเคยออกพระราชกำหนดกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยรัฐบาลบอกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำ หาไม่แล้วอาจจะเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2544 ก็ได้ พรรคประชาธิปัตย์ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า พระราชกำหนดขัดกับรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน

       

       วันนั้นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้ผ่าน มาถึงวันนี้เงิน 3.5 แสนล้านบาทใช้ไปไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท โครงการที่รัฐบาลบอกว่ารีบด่วนนั้นแท้จริงแล้ว รัฐบาลยังไม่ได้มีแผนงาน ไม่ได้มีโครงการที่ชัดเจนเลย

       

       วันนั้นศาลรัฐธรรมนูญถูกรัฐบาลหลอกต้มหรือไม่?

       

       ถ้าหากใครอ่านคำวินิจฉัยของศาลให้ดีก็จะพบว่า สิ่งที่ศาลพิจารณาก็คือ รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รัฐบาลมีสิทธิในการออกพระราชกำหนดกู้เงินเอามาบริหารจัดการประเทศ ศาลก็พิจารณาเพียงนั้น จะก้าวล่วงไปถึงว่าจำเป็นรีบด่วนหรือไม่รีบด่วน ศาลจะไปรู้ได้อย่างไร หรือถึงรู้ก็ไม่ใช่เรื่องของศาล เพราะศาลไม่ใช่ฝ่ายบริหาร

       

       จะทุจริตคอร์รัปชันก็มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ มี ป.ป.ช.คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินคอยตรวจสอบ ไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

       

       ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพียงว่าการออกพระราชกำหนดดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น

       

       มาวันนี้ ก่อนหน้าที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลรวมทั้งวุฒิสมาชิกส่วนหนึ่งเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อมาใช้กับการพัฒนาระบบคมนาคม จะสร้างรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา กรุงเทพฯ ไปหัวหิน และกรุงเทพฯ ไปพัทยา บ้างว่าเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมเพื่อรับกับการเป็นประชาคมอาเซียน ปัญญานิ่มบางนางบอกว่าเอาไว้ขนผักจะได้กินผักสด

       

       ศาลรัฐธรรมนูญคงจะไม่เอามาเป็นสาระหรอกครับว่าจริงๆ แล้ว รถไฟความเร็วสูงมันจะเอาไว้ขนคนหรือขนผักกันแน่ ศาลรัฐธรรมนูญคงจะไม่สนใจหรอกครับว่า ค่าก่อสร้างทำไมมันเพิ่มจากกิโลเมตรละ 300 ล้านบาทในปีที่แล้วมาเป็นกิโลเมตรละ 600 ล้านบาทในปีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่สนใจด้วยซ้ำว่า มันจะรับประชาคมอาเซียนได้ยังไงในเมื่อมันหยุดอยู่แค่นครราชสีมา และหัวหิน คนที่มาจากจีนเข้าลาวแล้วจะนั่งรถเมล์แดง รถหวานเย็นหนองคาย-นครราชสีมาแล้วมาขึ้นรถความเร็วสูงจากนครราชสีมาเข้ากรุงเทพฯ เลยไปหัวหินแล้วนั่งรถ บขส.ต่อไปหาดใหญ่ ปาดังเบซาร์เพื่อต่อไปมาเลเซีย สิงคโปร์

       

       ปัญหาเหล่านี้ล้วนไม่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ

       

       แต่สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาก็คือ พระราชบัญญัติกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่? นี่เป็นปัญหาที่ฝ่ายรัฐบาลจะต้องคิดหนัก การตั้งงบประมาณเงินกู้ไว้สูงขนาดนี้ ทั้งที่มาถึงวันนี้แผนงานทั้งหลายยังไม่เรียบร้อย ยังจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการคุ้ม ไม่คุ้ม

       

       แต่เป็นเงินกู้ และบอกว่าเป็นเงินนอกงบประมาณ ไม่มีรายละเอียดที่ฝ่ายค้านหรือประชาชนทั่วไปจะเข้าไปตรวจสอบได้

       

       ดังได้กล่าวแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็เหมือนประชาชนทั้งหลายนั่นแหละครับคือไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปตรวจสอบ ใช่หน้าที่

       

       พิจารณาได้อย่างเดียวว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

       

       อยากรู้ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาก็ต้องหยิบรัฐธรรมนูญมาอ่าน เปิดไปที่หมวด 8 การเงิน การคลัง และงบประมาณ หมวดนี้เริ่มที่มาตรา 166 แล้วไปจบที่มาตรา 170 รวม 5 มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้หมดแหละครับว่า งบประมาณทำกันอย่างไร งบประมาณผ่านไม่ทันทำอย่างไร จะต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างไร

       

       เป็นไปได้หรือครับกู้เงินมากที่สุดในประวัติการณ์ โครงการก็ยังไม่ชัดจะต้องใช้เวลาให้สภาพัฒน์ศึกษาอีก ประเทศไทยต้องใช้เวลา50 ปีในการใช้หนี้ ถึงวันนั้นบรรดาคนปัญญาอ่อนเหล่านี้อยู่นรกขุมไหนก็ไม่รู้

       

       เงินเหล่านี้กลายเป็นเงินนอกงบประมาณ

       

       แต่เวลาใช้หนี้มันเอาหยาดเหงื่อแรงงานที่เราประชาชนจ่ายเป็นภาษีไปจ่าย ทั้งดอกทั้งต้น

       

       ตรงนี้ต่างหากเล่าครับที่เขาแบ่งงานกันทำเพื่อล้มศาลรัฐธรรมนูญเวลานี้


ขอขอบคุณ manager.co.th


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

244

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน