ดัน! หลักประกันสุขภาพ สู่เวทีโลก เล็งจับมือพัฒนาสุขภาพ ปชช.ในภูมิภาคอาเซียน

สธ.อาเซียนเตรียมจับมือพัฒนาสุขภาพประชาชนในภูมิภาค พร้อมผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าสู่เวทีโลก รวมถึงการควบคุมโรคไม่ติดต่อ โรคเอดส์ และโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ จี้ FTA ต้องเพิ่มมาตรการทางสุขภาพด้วย

วันนี้ (5 ก.ค.) ที่โรงแรมโมเวนพิค อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 11 อย่างเป็นทางการ ในหัวข้อ ประชาคมอาเซียน 2558 : โอกาสและความท้าทายด้านสุขภาพ โดยมีรัฐมนตรีสาธารณสุข 10 ประเทศเข้าร่วมประชุม ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ลาว พม่า และ กัมพูชา นอกจากนี้ ยังมี นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ร่วมประชุมด้วย

นายวิทยา กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาสุขภาพหลักและพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของประเทศอาเซียน ใน 5 วาระ ได้แก่ 1.การเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อลดความรุนแรงและโรคแทรกซ้อน 2.การควบคุมบุหรี่ สุรา โดยเฉพาะมาตรการเรื่องภาษี เรื่องข้อตกลงการค้าเสรี เรื่องการห้ามทำซีเอสอาร์ (CSR) ของบริษัทบุหรี่ สุรา และการควบคุมบุหรี่เถื่อน 3.การสร้างประกันสุขภาพถ้วนหน้า 4.การลดปัญหาโรคเอดส์ และ 5.ความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายการฝึกอบรมด้านระบาดภาคสนาม ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มในการควบคุมป้องกันโรคระบาดต่างๆ

นายวิทยา กล่าวอีกว่า รัฐมนตรีสาธารณสุขในกลุ่มประเทศอาเซียน พร้อมที่จะร่วมมือ และพัฒนาสุขภาพประชาชนในภูมิภาคอย่างจริงจังใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปสู่การประชุมผู้นำในเวทีอาเซียนซัมมิต (ASEAN Summit) และสมัชชาสหประชาชาติ การจัดตั้งเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอาเซียนบวก 3 คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี โดยไทยรับเป็นประเทศหลัก 2.การร่วมกันดำเนินการอย่างเข้มแข็งตามข้อตกลงสหประชาชาติ เรื่องโรคไม่ติดต่อภายใต้ตัวชี้วัด และเป้าหมายที่กำหนดจากองค์การอนามัยโลก โดยมุ่งเน้นทั้งมาตรการที่ดำเนินการเฉพาะบุคคล ครอบครัว และมาตรการที่มีผลทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำหนดพฤติกรรมสุขภาพ 3.การร่วมมือกันดำเนินการอย่างเข้มแข็งและจริงจังในการบรรลุข้อตกลงด้านการควบคุมโรคเอดส์ให้เข้าสู่การเป็นศูนย์ คือ ไม่มีการกีดกันผู้ติดเชื้อ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ และไม่มีคนตายจากโรคเอดส์ และ 4.การร่วมมือการอย่างเข้มแข็งในการดำเนินการจัดการกับปัญหาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ รวมทั้งโรคสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรียดื้อยา โดยจะต้องเน้นเรื่องการรณรงค์กำจัดรากของปัญหา การจัดหาและการใช้ยา รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายนักระบาดวิทยาในอาเซียนที่ไทยเป็นหลัก

ด้าน นายสุรินทร์ กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งเน้นในเรื่องของเศรษฐกิจและการค้า อาจนำไปสู่โรคที่อยู่ในการเฝ้าระวังขององค์การอนามัยโลก จำนวน 4 โรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอดและช่องทางเดินหายใจ และโรคระบบทางเดินอาหาร เนื่องมาจากความมั่งคั่งร่ำรวย และผลจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การรับประทานอาหารแปรรูป ที่ไม่มีสารอาหารเหลืออยู่ โดยพบว่า ประชากร 600 ล้านคนในภูมิภาคอาเซียน มีการเสียชีวิตจากสาเหตุทั้งหมดรวม 4 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เสียชีวิต เพราะโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก ที่มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 57 ล้านคน เสียชีวิตเพราะโรคไม่ติดต่อ จำนวน 36 ล้านคน นอกจากนี้ การเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) กับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ มีประเด็นต้องระวัง โดยจากนี้ แต่ละประเทศในอาเซียน นอกจากจะขอให้พิจารณาเรื่องข้อตกลงทางการค้าแล้ว จะต้องเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นความปลอดภัยด้านสุขภาพด้วย เพื่อให้เป็นข้อตกลงทางการค้าที่ปลอดภัยทางสุขภาพด้วย

 

ที่มา : http://www.manager.co.th

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseantpa ดูทั้งหมด

720

views
Credit : aseantpa


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน