อุตฯหนุนเอสเอ็มอีใช้ไอทีแข่งเออีซี
กระทรวงอุตฯเคลื่อนแผนดันเอสเอ็มอีแข่งขันเวทีอาเซียน เปิดโครงการหนุนผู้ประกอบการใช้มาตรฐาน “อีบีเอ็กซ์เอ็มแอล” เสริมระบบหลังบ้าน-โลจิสติกส์ นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม (กพร.) กล่าวว่า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทยนำระบบไอทีไปใช้บริหารซัพพลายเชนบ้างแล้ว แต่ซอฟต์แวร์ที่ใช้มีมาตรฐานการพัฒนาแตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างองค์กร การจะแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องเร่งทำอย่างเร่งด่วนก่อนเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ล่าสุด จับมือผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยและกลุ่มเอสเอ็มอีทั้งภาคผลิตและการค้า แก้ปัญหาความแตกต่างของภาษาทางอิเล็กทรอนิกส์
โดยใช้ภาษาอีบีเอ็กซ์เอ็มแอล (ebXML; Electronic Business Extensive Markup Language) เป็นมาตรฐานกลางช่วยเชื่อมข้อมูลระหว่างซัพพลายเชน พร้อมยกระดับประสิทธิภาพอุตสาหกรรมให้เทียบเท่าสากล ผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค
“จากนี้การซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันจะแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยใช้ภาษาอีบีเอ็กซ์เอ็มแอล หากเกิดกรณีวัตถุดิบไม่เพียงพอ ก็เรียกดูข้อมูลจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ เปรียบเทียบราคา หรือเงื่อนไขก่อนตัดสินใจผ่านระบบได้ทันที”
ทั้งนี้ การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลนับเป็นเรื่องใหม่ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาเป็นแกนหลักช่วยส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำกระทั่งถึงปลายน้ำ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บเบสด์ แทนการส่งอีเมล แฟกซ์ หรือโทรศัพท์ ระยะแรกพุ่งเป้าอุตสาหกรรมก่อสร้าง อาหารและภัตตาคาร และเกษตร ขนาดกลางและเล็ก ซึ่งพร้อมใช้ระบบไอทีและมีระบบโซ่อุปทานที่ชัดเจนอยู่แล้ว
เฟสแรกคัดเลือกผู้ประกอบการ 13 ราย พร้อมบริษัทซอฟต์แวร์ 3 รายร่วมพัฒนาโปรแกรมการบริการ ใช้งบประมาณสนับสนุนรวมกว่า 3 ล้านบาท หลังเสร็จโครงการแรก เดือน ต.ค เตรียมชวนผู้ประกอบการอีก 150 รายเข้าฟังสัมมนาผลสำเร็จ จูงใจเข้าร่วมใช้ ตั้งเป้าเฟสต่อไปปี 2556 มีผู้ประกอบการนำไปใช้เพิ่ม 25 ราย ขณะนี้ของบประมาณไปแล้ว 5 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ จะแจกซอร์สโค้ดให้บริษัทต่างๆ นำไปพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่ใช้มาตรฐานภาษาอีบีเอ็กซ์เอ็มแอลขึ้นมารองรับการใช้งานที่ต่างกันของแต่ละองค์กร ตั้งเป้าจะมีบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์เข้าร่วมโครงการ 15 ราย
ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ปี 2553 ไทยมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 15.2% ของจีดีพี เทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน มาเลเซียใช้ 14% ส่วนสิงคโปร์ 7%
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com