รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ชี้แนะการพัฒนาประเทศด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง !


รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ชี้แนะการพัฒนาประเทศด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง !


 

ภาณุมาศ ทักษณา

เช้านี้ 15 พ.ค.56 ผมตัดสินใจสะสางโต๊ะทำงาน และจัดตู้หนังสือในห้องทำงานให้เป็นหมวดหมู่ หลังจากที่เคยจัดเอาไว้แต่ตอนหลังเละเพราะอ่านแล้วเก็บไปม่เป็นที่เป็นทาง

แล้วผมก็โชคดีพบหนังสือปกสีฟ้าหนาไม่มากคือ 60 กว่าหน้า ที่ปกเขียนว่า

“การเผยแพร่ปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง” โดย รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา

มีคำอธิบายว่าเป็นการปรับจากการบรรยายเรื่องนี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 แต่เมื่อเปิดอ่านดูแล้วช่างเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันจริง ๆ ครับ

ปัจจุบัน รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากในหลวง ให้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดและต้องดูแลงานในพระราชดำริหลายเรื่อง

แต่ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดที่สุดคือ ทรัพย์สินในส่วนของพระมหากษัตริย์ ในตำแหน่ง

ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ครับ

ผมเคยพบท่านสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผมเป็น บ.ก.ข่าวเศรษฐกิจ ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งผมจึงเรียนท่านว่าอาจารย์ตั้งแต่นั้นมา

ในวันที่ไปบรรยายที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อ 4 ปีที่แล้วท่านได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเอาไว้อย่างด้าน อ่านแล้วเข้าใจง่าย

ผมอ่านทั้งคำบรรยายของท่านและการเสวนาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในมิติต่าง ๆ โดยบุคคลอื่น ซึ่ง ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ เป็นผู้ดำเนินรายการแล้ว เห็นว่าน่าจะบางเรื่องมาเผยแพร่ต่อ

จึงขออนุญาตอาจารย์จิรายุ และ ดร.ปรีขานุช มา ณ ที่นี้เลยนะครับ เพราะการพูดถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น พูดเมื่อไหร่ก็ยังทันสมัยอยู่เสมอครับ

อีกทั้งยังเป็นการ “กระตุกคนที่กำลังเหลิง” ให้กลับมา “ตั้งหลักใหม่” ได้ดีนัก

หากคนที่ถูกกระตุกยังมีสติ และไม่รั้นจนเกินไปนัก อย่างตอนนี้ รัฐบาลที่มาจากนักการเมือง กำลัง “คิดการใหญ่”

กู้เงิน 3.5 แสนล้านมาแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ยังไม่พอ

ยังจะกู้เงินอีก 2.2 ล้านล้านบาทมาพัฒนาการขนส่งขั้นพื้นฐานของประเทศเหมือน “คนหน้ามืด” ที่ไม่รู้จักเจียม

ผมเข้าใจดีครับว่า ประเทศต้องได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า ให้ทัดหน้าเทียมตาประเทศเพื่อนบ้าน หรือจะอ้างว่าเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนก็ตามใจเถิด..

เรื่องนี้อาจารย์จิรายุ พูดให้สติไว้ในหัวข้อ การพัฒนาประเทศด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยท่านได้ชี้ให้เห็นว่า “ควรจะมุ่งสร้างฐานรากที่มั่นคง” เสียก่อน

อาจารย์จิรายุบอกว่า

ประการแรก ต้องทำให้ประชาชนโดยทั่วไปมีความพออยู่พอกินก่อน คือจะพัฒนาประเทศแข่งกับใครก็ไม่เป็นไร แต่ต้องทำให้สมดุล คือพัฒนาพื้นที่ที่ประชาชนยังยากจนอยู่ด้วย

ประการที่สอง ท่านบอกว่าก่อนจะเปิดประเทศต้องนึกถึงความสามารถและความพร้อมของสาขาเศรษฐกิจที่จะเปิดได้ จึงควรเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เปิดทีเดียว

ข้อนี้อาจารย์จิรายุเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “ลมพัดเข้ามาก็อาจจะทำให้ผู้ที่อ่อนแออยู่ล้มไป”

(ข้อนี้ ชัดเจนครับ หากเปรียบทุนนอกเป็นน้ำก็กำลังจะท่วมเศรษกิจไทยแล้วละครับ)

ประการที่สาม อาจารย์บอกว่า จะต้องสร้างฐานการผลิต คือ ต้องทำฐานการผลิตของเราให้มีความมั่นคง และไม่ล้มไประหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงจากต่างประเทศ

(ข้อนี้ก็น่าเป็นห่วงครับ อีก 2 ปีทุกประเทศในอาเซียนจะไร้พรมแดน สินค้าประเภท เอสเอ็มอี.จากต่างชาติคงทะลักเข้ามา หากสินค้าเหมือนกัน แต่ของต่างชาติราคาถูกกว่า ก็น่าเป็นห่วง เอสเอ็มอี.ไทยนะครับ)

อาจารย์จิรายุย้ำว่า สิ่งเหล่านี้ คือ ข้อแนะนำสำหรับการพัฒนาประเทศในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งคิดว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)คงเข้าใจ

ท่านบอกว่า “เพียงแต่ต้องสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ภายใต้ความสมดุลของแนวทางการพัฒนานี้”

คำบรรยายหัวข้อนี้ของอาจารย์จิรายุ มีขึ้นก่อนที่รัฐบาลไทยและหน่วยงานต่าง ๆ จะ “ตื่นตัว” เพื่อ “ตั้งรับ” ประชาคมอาเซียนนะครับ แต่ทุกเรื่อง “เหมือนท่านเตือนให้รู้ล่วงหน้า”

แต่น่าเสียดายนะครับ ที่รัฐบาลที่มาจากนักการเมืองไม่เคยใส่ใจหรือตระหนัก

พรรคการเมืองที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศต่างกำหนดนโยบายทั้ง “เพ้อฝัน” และ “เพ้อเจ้อ”

คืออยากทำโน่นนั่นนี่ โดยหาได้ใส่ใจแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ สภาพัฒน์ (สศช.)ได้ระดมสมองจากนักวิชาการทุกสาขามา “ยกร่าง” เอาไว้ให้

ประจักษ์พยานในเรื่องที่ผมหยิบกมาอ้างก็คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงนั่นไงครับ หลังจากออกข่าวซะใหญ่โตว่าจะสร้างเส้นนั้นเส้นนี้ นั่งไง

เมื่อ คุณชัชชาติ สิทธิพันธ รมว.คมนราคม ส่งโครงการนี้ไปให้ สภาพัฒน์ได้พิจารณากลั่นกรองใหม่ ปรากฎว่าถูกสภาพัฒนฯ ทักท้วงกลับว่าไม่คุ้ม

ไม่เฉพาะ สภาพัฒน์นะครับ แม้แต่ ทีดีอาร์ไอ.ก็วิเคราะห์แล้วว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้ม และที่น่าเป็นห่วงก็คือ โครงการนี้อาจเป็นช่องทางให้เกิดการคอรัปชั่นได้อีกด้วย

ผมจึงอยากให้รัฐบาลที่มาจากนักการเมืองได้ทบทวนความคิดในการพัฒนาประเทศดูใหม่นะครับ

แนวทางที่อาจารย์จิรายุพูดมานี้ ไม่สลับซับซ้อนเลย

ขอแต่เพียงให้รัฐบาลที่มาจากนักการเมือง “ยอมรับความจริง”และ “รับฟังเสียงชาวบ้าน” บ้าง

ว่า เรามีความในเรื่องไหนบ้าง และควรทำอะไรก่อนหลังบ้างเท่านั้นครับ.


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

299

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน