สืบสานพระปณิธาน สร้างงาน…สร้างชีวิต ดอยตุง ถึง อุดรโมเดล


สืบสานพระปณิธาน สร้างงาน…สร้างชีวิต ดอยตุง ถึง อุดรโมเดล

                                                                                                         ทีมวาไรตี้

หากพูดถึง “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง” ทุกคนจะนึกถึง “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า” ของปวงชนชาวไทย

ส่วนมหาวิทยาลัยที่มีชีวิตก็จะนึกถึง “โครงการพัฒนาดอยตุง”

ซึ่งเปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ที่ใคร ๆ ก็มาศึกษาและดูงาน เพราะมีองค์ความรู้ที่เพิ่มพูนอยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งยึดคนเป็นศูนย์กลางและมุ่งพัฒนาอย่างมีบูรณาการ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม องค์กรท้องถิ่นเข้มแข็ง “คนอยู่ร่วมกับป่า” การทำธุรกิจเพื่อสังคม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น

เมื่อวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา คณะนักศึกษา หลักสูตร  “ผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย” รุ่นที่ 2 ของสถาบันพระปกเกล้า จำนวน 120 คน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ปลูกป่าแบบปลูกเสริม (พื้นที่ปางมะหัน) และปลูกป่าแบบไม่ปลูก (พื้นที่ปูนะ)

นอกจากนี้ยังศึกษาดูงานของศูนย์ข้อมูลโครงการพัฒนาดอยตุงที่จังหวัดเชียงราย  เช่น ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ ที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้สำหรับทุกคนไม่ว่าหญิงชาย ผู้ใหญ่หรือคนหนุ่มสาว

“โครงการพัฒนาดอยตุง” มีระยะดำเนินโครงการ 30 ปี ตั้งแต่ปี 2531-2560  โดยมุ่งแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม แก้ไขความยากจนและให้โอกาสชาวบ้านในการพัฒนาตนเอง ใช้แนวทางการพัฒนาเรียกว่า การพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Alternative Livelihood Development (SALD) ผ่านการสร้างอาชีพ การศึกษาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า  วัตถุประสงค์ที่ให้นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้ามาดูโครงการปลูกป่านอกจากให้รู้ถึงขบวนการปลูกป่าแล้ว ยังได้ให้ไปสัมผัสกับบุคลากรที่ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้ฝึกอบรมให้เขาสามารถดูแลตนเอง  และให้นักศึกษาเห็นว่าครั้งหนึ่งดอยตุงมีสภาพไม่ต่างจากป่า

 แม้ว่าปัจจุบันดอยตุงจะมีสภาพที่ดี หรูเลิศ แต่คนที่อยู่ที่นี้แม้จะผ่านมา 20 ปีก็ไม่ได้ต่างจากปางมะหันแต่ก่อน ชี้ให้เห็นว่าการเอาป่ากลับคืนมาได้เพราะคนเป็นปัจจัยสำคัญ หมายความว่า ชาวบ้านจะต้องมีรายได้เพียงพอ กินอิ่ม นอนหลับ และมีศักยภาพสามารถที่จะต่อยอดทุนต่าง ๆ ที่เขามีอยู่ในพื้นที่ได้

หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าวว่า  ปัจจุบันมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงถูกเรียบเรียงเป็นศาสตร์ในการพัฒนาศาสตร์หนึ่ง สิ่งที่เราพยายามจะทำต่อไปเยอะ ๆ ก็คือ พยายามขยายผลของการพัฒนาให้เกิดผลกระทบในเชิงลูกคลื่นต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น

เหตุผลคือ เรามีความเชื่อที่ว่า ตำราของพระเจ้าแผ่นดินนั้นเป็นตำราที่ปฏิบัติได้จริงเป็นตำราที่ไม่ใช่เป็นโครงการพระราชดำริแล้วทำให้เกิดผลสำเร็จ แต่เป็นตำราที่เกิดขึ้นจากการเข้าใจถึงปัญหาในท้องที่อย่างถ่องแท้ ผ่านการลงไปสัมผัสด้วยตนเอง

พระเจ้าอยู่หัวท่านเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ทำไมท่านไม่คิดนโยบายอยู่ในพระตำหนักจิตรลดา  เพราะท่านต้องการที่จะสัมผัส ถ้าเข้าไปที่หอบันดาลใจจะมีอยู่ท่อนหนึ่งที่ “สมเด็จย่า” เขียนไว้ว่า “ฉันจะเลี้ยงลูกฉันให้เป็นเสมือนคนธรรมดา เมื่อเขากลับมาประเทศ เขาจะได้เข้าใจว่าคนธรรมดานั้นเขาปฏิบัติและคิดอย่างไร”

จากความสำเร็จในการดำเนินโครงการพัฒนาดอยตุง  ปัจจุบันมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้จับมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ซึ่งเป็นหน่วยงานนำร่องในการเชื่อมโยงหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าไปดำเนินการโครงการต่าง ๆ ที่ชุมชนประสบปัญหาอยู่  ซึ่งมีอยู่ 16 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ยะลา พิษณุโลก เพชรบุรี น่าน อุดรฯ ตาก  เป็นต้น และล่าสุดที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนได้แก่ โครงการ “อุดรโมเดล”

ณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้ลงไปดำเนินโครงการ “อุดรโมเดล” เปิดเผยว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงทำหลายพื้นที่ แต่ละพื้นที่ปรับตามภูมิสังคม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะพูดเสมอก็คือ วิธีการที่เราลงไปทำ เพื่อที่จะตอบโจทย์ชุมชน ประชาชนและความต้องการของชาวบ้านเป็นหลัก

ฉะนั้นไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหนในประเทศหรือต่างประเทศ เราจะมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาพื้นฐานของชาวบ้าน และเรื่องปากท้องของชาวบ้านเป็นหลัก สำหรับพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เรามองว่า ในพื้นที่มีอ่างเก็บน้ำตามแนวทางพระราชดำริที่ใช้ประโยชน์ได้สูงสุดจำนวนมาก

แต่ในเวลานี้ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ถ้าดูการดำเนินงานแล้วจะเห็นว่า เราแก้ปัญหาเรื่องทุน ไม่ว่าจะเป็น น้ำ ดิน ป่า ดังนั้นองค์รวมในพื้นที่เราจะดูประเด็นทุนที่เป็นหลักในการดำรงชีวิตของชาวบ้านเป็นหลัก

“น้ำ” ถือว่าเป็นทุนที่สำคัญ ถ้าที่ไหนขาดน้ำ คนในพื้นที่จะเกิดปัญหาทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพเกษตรกรรม 

ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดว่า ที่ไหนมีอ่างเก็บน้ำที่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งจังหวัดอุดรธานี ก็เป็นหนึ่งที่ที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ อาจเนื่องจากไม่มีท่อ ไม่มีระบบการจัดการน้ำที่ดี หรือเนื่องจากน้ำอุดตันส่งไม่ถึงที่นา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปลูกป่า การจัดการน้ำ หรือการฝึกอาชีพต่าง ๆ ก็มุ่งเน้นการตอบโจทย์การแก้ไขความยากจน  การขาดโอกาส โดยเริ่มต้นด้วยการปลูกป่า หรือแก้ปัญหาเรื่องน้ำ

ทั้งนี้ วิธีการเริ่มต้นดำเนินโครงการจะเหมือนกัน คือ นำชาวบ้านเป็นตัวตั้งว่า ชาวบ้านมีความประสงค์ ต้องการอย่างไร ถ้าเราจะมาแก้ปัญหาให้กับเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่า เรื่องน้ำ หรือเรื่องปากท้อง ประชาชนต้องการลุกขึ้นมาแก้ปัญหาร่วมกันหรือไม่  สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี และหลาย ๆ ที่ ที่เราจะดำเนินการไป ถ้าชาวบ้านมีความประสงค์ที่จะแก้ปัญหาของตัวเอง  โดยเฉพาะเรื่องทุน ได้แก่ น้ำ ดิน  ป่า 

ฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทางกระทรวงมหาดไทย มีความคิดว่าให้ภาครัฐ นายอำเภอ อบต.อบจ. และผู้นำในพื้นที่ ได้เข้าไปฟังรับรู้ปัญหาของชุมชน โดยเอาอ่างเก็บน้ำซึ่งมีน้ำเป็นตัวตั้งไปคุยกับประชาชน หรือชาวบ้านว่ามีความประสงค์ในการแก้ปัญหาอาชีพของตัวเองอย่างไร และเราจะสนับสนุน ภาครัฐซึ่งมีองค์กรต่าง ๆ ให้เดินไปพร้อมกันได้อย่างไร เมื่อไปฟังพร้อมกันแล้วทีมดำเนินงานก็จะเกิดขึ้นทันที

โครงการ “อุดรโมเดล” ใช้ในพื้นที่  35 อำเภอ 31 จังหวัด โดยเอาเรื่องน้ำเป็นตัวตั้ง  และชาวบ้านเป็นเจ้าของร่วมกันคิดร่วมกันทำก่อเกิดการพัฒนา และการแก้ปัญหาปากท้องให้ชาวบ้านอย่างยั่งยืน

จากการเดินทางมาศึกษาดูงานของ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง” สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนของโครงการก็คือ การทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชาวบ้านสามารถที่จะประกอบอาชีพสุจริต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ไม่เป็นหนี้สิน มีการศึกษา และสามารถที่จะเลี้ยงตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณของรัฐหรือเงินบริจาค

อย่างไรก็ตาม ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ทุกคนจะต้องปรับตัวในการเรียนรู้ การใช้ทุนศักยภาพในพื้นที่ และภูมิปัญญาท้องถิ่น 

เพื่อที่จะได้เป็นภูมิคุ้มกันในการต่อสู้และเป็นพื้นฐานในการที่จะพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งประเทศต่าง ๆ ก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

แต่หากคนไทยยังนิ่งเฉย ต่อไปเราคงจะอยู่อย่างลำบาก เพราะโลกได้ก้าวล้ำหน้าไปไกลแล้ว.

 


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

850

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน