ขีดแข่งขันไทยขยับขึ้นอันดับ27จากปีก่อน30
โฆษกรัฐบาลเผยสถาบัน IMD จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยปีนี้สูงขึ้นมาที่อันดับ 27 จากอันดับที่ 30 ในปี 2555
นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยได้รายงานสรุปและวิเคราะห์ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในปี 2556 ซึ่งทำการจัดอันดับโดยสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยได้จัดอันดับประเทศต่าง ๆ รวม 60 ประเทศทั่วโลก ซึ่งปีนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 60 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น 3 อันดับ (ปี 2555 อยู่ในอันดับที่ 30)
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผลการจัดอันดับดีขึ้นใน 4 กลุ่มตัวชี้วัด ได้แก่ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของรัฐบาล (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
ปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจในการทำธุรกิจในสายตาของนักลงทุน ประกอบด้วยความมีพลวัตของเศรษฐกิจที่น่าดึงดูดใจให้มาลงทุน มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ทัศนคติที่ดีและเปิดกว้างของคนไทย ต้นทุนที่แข่งขันได้ มีกำลังแรงงานที่มีความชำนาญ การให้ความสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนา ระบบการศึกษา กฎหมายที่มีประสิทธิผล ความสามารถของภาครัฐและระบบภาษีที่เอื้อต่อการลงทุนอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน ซึ่งมีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าประเทศไทย ได้แก่ มาเลเซีย และสิงค์โปร์ พบว่าสิงค์โปร์มีจุดเด่นด้านความสามารถของภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐานที่ดี ระบบกฎหมายที่มีประสิทธิผล ความแน่นอนและคาดเดาได้ด้านนโยบาย และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ส่วนมาเลเซียมีความคล้ายคลึงกับไทยในประเด็นต้นทุนที่แข่งขันได้ พลวัตทางเศรษฐกิจ กำลังแรงงานที่ชำนาญงานและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ส่วนที่แตกต่างกับประเทศไทยคือความแน่นอนและคาดเดาได้ด้านนโยบาย ดังนั้น IMD จึงได้ทำการจัดอันดับประเทศไทยในกลุ่มอาเซียนจำนวน 5 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 โดยอยู่ในอันดับที่สูงกว่า ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย แต่อยู่ในอันดับที่รองจาก สิงค์โปร์และมาเลเซีย
ทั้งนี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยหรือ Thailand Management Association (TMA) ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ประเด็นสำคัญที่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้รับการพัฒนาไปได้อย่างแท้จริง คือการผลักดันการดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรม การลงทุน การส่งออก โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา ระบบกฎหมายที่มีประสิทธิผลและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อนำไปสู่สังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/business/20130619/512154/ขีดแข่งขันไทยขยับขึ้นอันดับ27จากปีก่อน30.html