'เนาวรัตน์'ร่าย'กลอนครู'ชู'สุนทรภู่'

'เนาวรัตน์'ร่าย'กลอนครู'ชู'สุนทรภู่'

'เนาวรัตน์'ร่าย'กลอนครู'ชู'สุนทรภู่' ผู้เจียระไนภาษาไทยให้งดงาม วันวธ.แถลงเปิด 10 กวีอาเซียนรับรางวัลสุนทรภู่


               เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556  ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 19 กระทรวงวัฒนธรรม หลังจากนายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในงานแถลงข่าวรางวัลสุนทรภู่ประจำปี2556   ที่กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ได้ดำเนินโครงการรางวัลสุนทรภู่ ภายใต้กรอบแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ระหว่างปี 2555 – 2558 ในหัวข้อ “การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน” เพื่อเป็นอนุสรณ์และเผยแพร่เกียรติคุณของสุนทรภู่ รวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติความสามารถด้านกวีนิพนธ์ของกวีผู้สร้างสรรค์ในอาเซียน ตลอดจนสร้างความตระหนักและความเข้าใจในประเพณีนิยมด้านกวีนิพนธ์ของประเทศต่างๆ อีกทั้งยังส่งเสริมความผูกพันทางวัฒนธรรมและสนับสนุนบทบาทของประเทศไทยในอาเซียน

               ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม และสมาคมนักกลอนของประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยได้ดำเนินการคัดเลือกกวีผู้มีผลงานโดยองค์รวมแสดงความเชี่ยวชาญ เชิงวรรณศิลป์และมีคุณธรรมเหมาะสมที่จะเป็น “กวีของชาติ” เป็นผู้สร้างสรรค์ มีพัฒนาการที่ต่อเนื่องและโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในวงการกวีนิพนธ์ของประเทศ เพื่อเป็นกวีรางวัลสุนทรภู่ จำนวน 10 คน โดยประเทศไทยได้แก่  นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

               หลังจากนั้นนายเนาวรัตน์ได้ขึ้นกล่าวแสดงความรู้สึก โดยเริ่มจากการอ่านกลอนชื่อ "กลอนครู" ความว่า

               @คือจังหวะจะโคนของโทนทับ
ทั้งฉิ่งฉับรับช่วงเป็นพวงพุ่ม
ทำนองถ้อยร้อยสอดเข้ากอดกุม
ค่อยโอบอุ้มชุมช่อลออองค์

               คือกระจังตาอ้อยค่อยแตกช่อ
เป็นก้านต่อดอกช้อยลอยระหง
กนกเปลวปลิวไหวในวนวง
ละไมลงลึกซึ้งเป็นหนึ่งเดียว

               คือองค์พระพิสุทธิ์พุทธรูป
กลางควันธูปเทียนเต้นเด่นโดดเดี่ยว
สงบวางว่างวายกลายกลมเกลียว
ไม่เกาะเกี่ยวไม่คลายไม่เราร้อน

               คือลำนำคำกลอน"สุนทรภู่"
คำกลอนครูศักดิ์แห่งอักษร
คือคำทิพย์อาถรรพณ์นิรันดร
ประนมกลอนกราบกลอนด้วยกลอนครูฯ

               นายเนาวรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า นับได้ว่า"สุนทรภู่"เป็นผู้เจียระไนเพชรแห่งอักษรภาษาไทยที่มีความไพเราะอยู่แล้วให้เป็นระบบ เรียบเรียงให้เป็นดุจเสียงดนตรี ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะพิเศษของภาษาไทยที่ภาษาอื่นไม่มี นับว่าเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับคนไทย ที่ "สุนทรภู่" ทำภาษาไทยให้เด่นขึ้น ซึ่งตนเองก็ได้ฝึกหัดเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

919

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน