เตือนปีนี้หนัก! สาธารณสุขเชียงใหม่รณรงค์ทำลายลูกน้ำยุงลายสู้ไข้เลือดออก

 
เชียงใหม่

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สาธารณสุขเชียงใหม่จัดรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายรับวันไข้เลือดออกอาเซียน ระบุปีนี้ระบาดแล้ว 3 สายพันธุ์-สถานกาณ์ส่อแววหนัก ชี้สภาพอากาศเปลี่ยนทำยุงเกิดเร็วขึ้นต้องเร่งกำจัด ส่วนผู้ป่วยต้องระวังยุงเกิดทำโรคแพร่ขยาย ชม “ออนใต้” ต้นแบบแก้ปัญหาหลัง อสม.-ชาวบ้านประสานพลังช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์จนไม่พบผู้ป่วยในพื้นที่

วันนี้ (14 มิ.ย.) ทพ.ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดการรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) ณ วัดป่าตึง (หลวงปู่หล้า) ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขจากตำบลต่างๆ ในอำเภอสันกำแพงเข้าร่วม

การจัดกิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นการจัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันไข้เลือดออกอาเซียน 14 มิ.ย.แล้ว ยังเป็นการทำการรณรงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไข้เลือดออก ซึ่งในปีนี้พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมาๆ ด้วยการนำเสนอแนวทางการดำเนินการของตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง ซึ่งที่ผ่านมาสามารถดำเนินการจัดการควบคุมการกำเนิดของลูกน้ำยุงลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้สองหมู่บ้านของตำบลได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดลูกน้ำยุงลายของจังหวัดเชียงใหม่ และทำให้ตำบลออนใต้เป็นตำบลที่ไม่มีรายงานการเกิดโรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นในปีนี้แต่อย่างใด รวมทั้งยังส่งผลให้อำเภอสันกำแพงมีอัตราการพบผู้ป่วยไข้เลือดออกต่ำ โดยพบผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. จนถึงวันที่ 6 มิ.ย.เพียง 61 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 86.60 ต่อแสนประชากร ซึ่งไม่ติดหนึ่งในสิบอันดับแรกของจังหวัดแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในพิธีดังกล่าว ทพ.ดร.สุรสิงห์ในฐานะประธานในพิธีได้ทำการทุบหม้อน้ำขังที่มีลูกน้ำยุงลาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงออกถึงการร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อป้องกันการระบาดของไข้เลือดออก จากนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอำเภอสันกำแพงได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ก่อนจะทำการปล่อยขบวนรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก Big Cleaning Day ในทั้ง 10 ตำบลขออำเภอสันกำแพง

ทพ.ดร.สุรสิงห์กล่าวว่า ในปี 2556 นี้พบว่าไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดมากและรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยพบว่าจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องทำให้วงจรการเจริญเติบโตของยุงลายเร็วขึ้นและทำให้จำนวนยุงเพิ่มมากขึ้นด้วย การฉีดพ่นยาเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผลเพราะจะมียุงกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นมาทดแทนอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการป้องกันปัญหาดังกล่าวจึงต้องให้ความสำคัญต่อการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้ได้มากที่สุดเพื่อลดปริมาณยุงลง ขณะเดียวกัน การระบาดซึ่งในขณะนี้พบแล้วรวม 3 สายพันธุ์จากที่มีการระบาดในประเทศรวม 4 สายพันธุ์นั้นแสดงให้เห็นว่าคนก็เป็นพาหะที่สำคัญซึ่งนำโรคจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง จึงต้องให้ความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัดเพื่อไม่ให้เป็นพาหะแพร่เชื้อออกไปอีก

ทพ.ดร.สุรสิงห์กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ของไข้เลือดออกในปีนี้ถือว่ารุนแรงกว่าในปี 2553 ที่ถือว่าสถานการณ์รุนแรงถึง 3 เท่า โดยมีการพบผู้ป่วยและการระบาดอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเร่งให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพื่อไม่ให้ยุงมีปริมาณมาก โดยจะต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี

ส่วนแนวทางการป้องกันของตำบลออนใต้ที่ได้นำเสนอในการหารือร่วมกันนั้นถือเป็นแนวทางที่พบว่ามีประสิทธิภาพ เนื่องจากทั้งชาวบ้านและ อสม.ต่างร่วมมือกันในการดำเนินการเป็นอย่างดี โดย อสม.จะเป็นผู้คอยตรวจสอบหาแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ส่วนท้องถิ่นและประชาชนจะช่วยกันดำเนินการกำจัด ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าหลายแห่งที่เกิดปัญหารุนแรงนั้นเป็นเพราะประชาชนปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ อสม.ในการป้องกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงทุกๆ ฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 12 มิ.ย. 2556 พบว่าจังหวัดเชียงใหม่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วทั้งสิ้น 2,244 ราย เป็นชาย 1,097 ราย หญิง 1,147 ราย ซึ่งจากสถิติดังกล่าวทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากจังหวัดเชียงราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกที่จังหวัดเชียงใหม่จนถึงขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 3 ราย


ทพ.ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่

ที่มา : http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrview.aspx?NewsID=9560000071986

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ paidoo.net ดูทั้งหมด

467

views
Credit : paidoo.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน