นักการเมืองท้องถิ่นสงขลาแห่เข้าคอร์ส “กลยุทธ์การพูดสำหรับผู้นำยุคใหม่” ของ มสธ.
สงขลา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ท้องถิ่นสงขลาแห่เข้าคอร์สติวเข้มเตรียมความพร้อมฝึกฝีปากในหลักสูตร “กลยุทธ์การพูดสำหรับผู้นำยุคใหม่พัฒนาชุมชนรองรับประชาคมอาเซียน” เผยรุ่น 2 จองคิวร่วมพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ จ.สตูล
นางกรกมล อาจณรงค์ สมาชิกเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ในฐานะผู้ที่ผ่านในหลักสูตรกลยุทธ์การพูดสำหรับผู้นำยุคใหม่รุ่น 1 เปิดเผยว่า หลักสูตรดังกล่าวสามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันมาก โดยเฉพาะในวาระการประชุม การพูดในสถานการณ์ต่างๆ เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประชาชนในท้องถิ่น เพราะต้องมีทักษะการพูดที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญก่อนที่จะสื่อสารด้วยการพูดในภาษาต่างประเทศ เพื่อรองรับประชาคมอาเซียนในอนาคต การเตรียมพร้อมในหลักสูตรดังกล่าวนับเป็นทักษะเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับบุคคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายสุธีรวัฒน์ ศรีสุวรรณ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองสิงหนคร อ.สิงหนคร จ.สงขลา กล่าวว่า มีโอกาสเข้าเรียนในหลักสูตร์กลยุทธ์การพูดสำหรับผู้นำยุคใหม่รุ่นที่ 1 ยอมรับว่าได้รับประโยชน์มากทั้งเนื้อหาสาระของหลักสูตร ตลอดจนวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่ถ่ายทอดเทคนิคและกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้บรรยากาศการเรียนรู้ สามารถจัดลำดับความคิดและเกิดทักษะการพูดที่มีลำดับมากขึ้น การพูดสามารถถ่ายทอดให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้น อยากเพิ่มเรื่องระยะเวลาของหลักสูตรเพื่อให้ฝึกทักษะและได้รับข้อเสนอแนะจากวิทยากร เพราะอยากเน้นในเรื่องการฝึกที่ผ่านความคิดเห็นและการชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น
“เป็นหลักสูตรที่ดีมากในการพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้นำ การพูดเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้งนี้จะได้ผมากน้อยเพียงใดชึ้นอยู่กันการประยุกต์ใช้เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับผมได้รับประโยชน์มาก ที่สำคัญรูปแบบการเรียนในหลักสูตรดังกล่าวยังเป็นการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับสมาชิกท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น”
นายสุวัฒ เลิศจิตต์ธรรม นายกเทศมนตรีตำบลคลองแงะ อ.สะเดา จ.สงขลา กล่าวเสริมว่า ต้องยอมรับว่าในหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นมีหลายๆ สถาบันเปิดโอกาสให้บุคคลากรในท้องถิ่นเข้าร่วมอบรมเพิ่มความรู้ความสามารถ แต่หลักสูตรการพูดสำหรับผู้นำยุคใหม่ถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นในยุคคปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าหลังผ่านการติวเข้ม ได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและเทคนิคการพูดต่างๆ อย่างมาก สามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างสอดคล้องในชีวิตประจำวันในฐานะผู้นำในท้องถิ่นในยุคคปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มากในสร้างความรู้และความเข้าใจในชุมชน
ส่วนนายเมด ติเอียดย่อ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม อ.เทพา จ.สงขลา กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าวเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้นำในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะยุคที่ต้องใช้การพูดในการสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นของตัวเองได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากสังคมและโลกภายนอก รวมถึงการพูดเพื่อผ่านสื่อ หลักสูตรดังกล่าวนอกจากนำหลักวิชาการมาใช้แล้วการได้เรียนรู้นิคต่างๆ นับว่าสำคัญมาก โดยเฉพาะเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์โดยตรง เช่นเทคนิคการกำหนดกลุ่มเป้าหมายประชาชน สถานการณ์แต่ละพื้นที่ เนื้อหาสาระที่จะพูด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
สำหรับ ดร.กานต์ บุญศิริ นักวิจัยประจำศูนย์และพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวการบริการวิชาการแก่สังคมทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชว่า ได้ดำเนินการมาแล้วนับร้อยรุ่น แต่โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำรองรับประชาคมอาเซียน หลักสูตรกลยุทธ์การพูดสำหรับผู้นำยุคใหม่ เป็นหลักสูตรในรูปแบบการเจาะลึกถึงชุมชนในแต่ละพื้นที่ โดยเลือกจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่นำร่องถือว่าประสบความสำเร็จมีผู้นำในท้องถิ่นต่างให้ความสนใจเกินเป้าหมายที่กำหนด จนต้องมาเรียนหลักสูตรดังกล่าวในรุ่นที่ 2 ซึ่งจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 11-14 มิ.ย.2556 ที่ จ.สตูล
ด้าน รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ปัจจุบันผู้นำยุคใหม่ในระดับท้องถิ่นให้ความสนใจในการพัฒนาศักยภาพของตนเองมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อทำหน้าในการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในเรื่องหลักสูตรการสื่อสาร หรือกลยุทธ์ในการพูดในรูปแบบต่างๆ การพูดของผู้นำจะต้องมีการวางแผนโครงสร้างการพูด เลือกเนื้อหาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ลำดับการถ่ายทอดได้อย่าง “น่าสนใจ เข้าใจ กินใจและได้ผล” ด้วยบุคลิกภาพการปรากฏตัวที่ดี ควบคุมกริยาอาการได้ดี มีความมั่นใจในการสร้างพลังเสียงในการพูด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นประเด็นที่ผู้นำต้องเรียนรู้อย่างลึกซึ้งและฝึกฝนอย่างถูกวิธี จึงจะทำให้ผู้นำมีความสามารถในการสื่อสารด้วยการพูดต่อที่สาธารณชนได้
“ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคมของ มสธ.นอกจากมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาผู้นำในระดับท้องถิ่นแล้วยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคลากรในท้องถิ่นทุกระดับ รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชนมีหลักสูตรและการจัดกิจกรรมหลากหลาย โดยยึดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะ ใช้เทคนิคการฝึกอบรม การถ่ายทอดเชิงกลยุทธ์ เอกสาร การบรรยายประกอบสื่อ การฝึกปฏิบัติ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์”
ที่มา : http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrview.aspx?NewsID=9560000070102