'ส้มชัยสุนี'ปรับกลยุทธ์-รุกอาเซียน
'ส้มชัยสุนี'ปรับกลยุทธ์-รุกอาเซียน
'ส้มชัยสุนี' ผลิตผลจากแม่สาย ปรับกลยุทธ์-รุกตลาดอาเซียน : โดย - ธานี กุลแพทย์
ยุคของการแข่งขันทางการค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะการเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 ซึ่งนอกจากทำให้มูลค่าการตลาดสูงขึ้นแล้ว บรรดาผู้ประกอบกิจการในทุกภาคส่วนต่างพากันเร่งปรับตัว เร่งหายุทธวิธีเพื่อพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน ไม่เว้นแม้ภาคเกษตร อย่างผลผลิต "ส้ม" ไม้ผลเศรษฐกิจอีกชนิดที่มีอัตราการนำเข้าค่อนข้างสูง ดังข้อมูลสำนักเศรษฐกิจการเกษตรปี 2554-2555 ที่มีมูลค่าการนำเข้ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่ทะลักเข้าสู่ไทยเป็นจำนวนมากหลังจากทั้งสองประเทศได้มีการเปิดเขตการค้าเสรีกับมาตั้งแต่ปี 2547
"ธวัชชัย อุณหพัฒนา" เจ้าของกิจการสวนส้มชัยสุนี บนพื้นที่เกือบ 100 ไร่ แห่ง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในสองสวนส้มสายน้ำผึ้งที่เหลืออยู่ของท้องถิ่นนี้ บอกว่า แนวโน้มการแข่งขันที่จะสูงขึ้นจากการเปิดการค้าเสรีอาเซียนในปี 2558 นั้น ทางสวนส้มชัยสุนีซึ่งทำธุรกิจนี้มานานกว่า 10 ปี ก็ได้เน้นกระบวนการการผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อรองรับตลาดนี้ แม้ที่ผ่านมากิจการจะได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้ามาของส้มจากประเทศจีนเพียงเล็กน้อยก็ตาม
"ที่ผ่านมาการจัดการสวนส้มของเราใช้ระบบ GAP จัดระบบการให้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เพื่อไม่ให้ส้มมีสารตกค้าง ด้วยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก ระมัดระวังการใช้สารต้องห้าม นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างเครื่องพ่นยาที่ช่วยลดระยะเวลาและแรงงานได้เป็นอย่างดี การบำรุงต้นส้มโดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปีละ 3 ครั้ง ใส่โคนต้น ต้นละ 2-3 กิโลกรัม สลับกับปุ๋ยยูเรียบ้าง ทำให้ส้มสายน้ำผึ้งจากสวนผลผลิตที่ได้จึงมีคุณภาพ รสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก" ธวัชชัย แจง
โดยเฉพาะเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเปิดเสรีอาเซียน และป้องกันการไหลทะลักของส้มจากจีนแล้ว ธวัชชัย บอกว่า นอกจากกระบวนการผลิตที่ใช้ระบบ GAP อย่างเคร่งครัดเพิ่มมากขึ้น ทางสวนได้หาวิธีรับมือด้วยการผลิต "ส้มนอกฤดู" ที่ได้ดำเนินการเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาอันเป็นอีกทางที่จะแข่งขันกับตลาดอาเซียนได้ อย่างยิ่งช่วงที่ยังไม่ถึงฤดูกาลผลิตผลส้มของจีนออกสู่ท้องตลาด ทว่า ก็ไม่ราบรื่นเท่าที่ควรเพราะพื้นที่ปลูกมักประสบกับปัญหาน้ำท่วมทุกปี ดังนั้น จึงต้องมีการจัดการเรื่องน้ำให้ไหลผ่านออกไปอย่างรวดเร็ว เพราะไม่ใช่นั้นต้นส้มจะเกิดความเสียหาย
"อย่างปีที่ผ่านมาส้มเสียหายไปหลายไร่ ต้องปลูกทดแทนกันบ่อยครั้ง ปีนี้จึงวางแผนตั้งรับกับน้ำท่วมขังให้ไหลผ่านออกไปให้รวดเร็วโดยทำทางระบายน้ำ อีกทั้งเร่งผลิตส้มนอกฤดูเพิ่มขึ้น จากเมื่อก่อนผู้บริโภคจะหารับประทานได้เฉพาะในฤดู แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราสามารถบังคับให้ส้มออกลูกได้ตลอดทั้งปี และเก็บผลผลิตได้ 30% ของส้มปี ทั้งนอกฤดูและท้ายฤดู ซึ่งช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นพอจะนำไปปรับปรุงบำรุงสวนให้มีผลผลิตส้มที่ดีต่อไปได้" เจ้าของสวนส้ม กล่าว
พร้อมยืนยันว่า การเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 สำหรับสวนส้มชัยสุนี ถือว่าเป็นเรื่องดีมากกว่า เพราะแม้จะเกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงผู้ประกอบการสวนส้มจาก 10 ประเทศ จะได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงกรรมวิธีการผลิตส้มที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพมากขึ้น ที่สำคัญการรวมตัวกันเพื่อผลิตส้มคุณภาพดังกล่าว จะเป็นผลดียิ่งในการลดแรงเสียดทานผลผลิตส้มจากประเทศจีน อีกทั้งส่งผลให้ผลผลิตส้มของประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคในตลาดนี้มากขึ้น
"ผลผลิตส้มจากสวนชัยสุนีของเรา ยังคงยึดกลุ่มลูกค้าภายในประเทศซึ่งเป็นฐานเดิมเอาไว้ ภาคอาเซียนนั้นยังน้อยมาก เนื่องเพราะผลผลิตส้มมีปริมาณเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือต่างประเทศ หลักสำคัญของการผลิตส้มที่สวน จะเน้นและการันตีเรื่องของคุณภาพเป็นสำคัญ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้ลูกค้าวางใจในผลผลิต เพราะนอกจากได้ทานส้มสด ที่มีความปลอดภัยสูงแล้ว ในเรื่องรสชาตินั้นก็ไม่แพ้จากที่อื่นแต่อย่างใด" ธวัชชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม คุณภาพของสินค้าคือตัวชี้วัดไปยังผู้บริโภค ดังนั้น ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญและใส่ใจในรายละเอียดทั้งการใช้สารเคมี การเก็บเกี่ยว ฯลฯ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดก่อนถึงมือผู้บริโภค
---------------------
('ส้มชัยสุนี' ผลิตผลจากแม่สาย ปรับกลยุทธ์-รุกตลาดอาเซียน : โดย - ธานี กุลแพทย์)