ป่าเขาใหญ่นำร่องสร้างแผนที่คาร์บอนแห่งแรก

 
นครราชสีมา

"ดงพญาเย็น-เขาใหญ่"นำร่องสร้างแผนที่คาร์บอนจากป่าแห่งแรกในอาเซียนฝันไกลขายคาร์บอนเครดิตจากป่าภายใต้เรดส์พลัส หลังปี58

ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศไทย ซึ่งมีการประเมินว่าช่วง 20 ปีไทยต้องสูญเสียป่ากว่า 3,750,500 ไร่หรือร้อยละ0.15 ต่อปี ของเนื้อที่ประเทศโดยสาเหตุหลักยังมาจากการบุกรุกพื้นที่ เพื่อเข้าใช้ประโยชน์ทั้งด้านการเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัยนั้น ล่าสุดมีความพยายามในระดับโลก ที่จะผลักดันให้ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 เข้าในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากการทำลายป่า และความเสื่อม โทรมของป่า หรือ เรดด์พลัส (REDD+) ขึ้นในอนาคตอีกด้วย

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นประธานร่วมกับ ดร.อิงโก้ วิงเคิลมันน์ อุปทูตแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เปิดตัวโครงการตรวจวัดคาร์บอนป่า และการทำแผนที่ค่าคาร์บอน (TREEMAPS) จากป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นครั้งแรกในอาเซียน ทั้งนี้นายโชติ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 67 ล้านบาทจากรัฐบาลเยอรมนี เพื่อเตรียมสำรวจคาร์บอนของผืนป่าในประเทศไทย โดยจะนำร่องผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้ทราบว่าสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ และมีความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนได้เท่าใด ซึ่งการดำเนินงานจะมีการสำรวจข้อมูลภาคสนาม ภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับการนำเทคโนโลยีการตรวจวัดระยะไกล (ไลดาร์) ที่มีความแม่นยำสูงสามารถบันทึกภาพโครงสร้างของผืนป่าในรูปแบบ 3 มิติมาใช้เป็นครั้งแรก โดยไลดาร์จะช่วยประเมินการกักเก็บคาร์บอนของผืนป่า และยังชี้ว่าจุดไหนบ้างที่มีปัญหาความเสื่อมโทรมของป่าอยู่บ้างได้อย่างละเอียด

" ถึงแม้จะมีการประกาศผืนป่ามรดกโลกมาแล้ว แต่ในอุทยานต่างๆ อาทิ ทับลาน ปางสีดาที่อยู่ในกลุ่มป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ยังคงมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องทั้งการเปลี่ยนพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตอ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ปัญหาการทำสวนยางพารา และการทำเกษตรกรรมในหลายจุดๆ รวมพื้นที่กว่า 1 หมื่นไร่ ดังนั้นเมื่อตรวจวิเคราะห์โดยใช้เทคโนโลยีการตรวจวัดระยะไกล จะทำให้รู้ว่าจุดไหนที่สภาพป่าเสื่อมโทรม หรืออยู่ในชั้นลุ่มน้ำสำคัญ 1 เอ หรือลุ่มน้ำชั้น 3-4 เพื่อทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช และกรมป่าไม้ จะได้หารูปแบบที่เหมาะสมในการนำคนออกจากพื้นที่ต้นน้ำ" ปลัดทส. กล่าว

นอกจากนี้ นายโชติ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันภายใต้โครงการนี้ในอนาคตก็จะดึงภาคชุมชนและภาคเอกชน เข้าร่วมโครงการปลูกป่าฟื้นฟูป่าในจุดที่เสื่อมโทรมกลับคืนมา และอาจนำไปเข้าโครงการเรดด์พลัสต่อไป โดยปัจจุ บันทส.กำลังอยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมร่วมกับนักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมขายคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ในตลาดภาคสมัครใจ เนื่องจากจะต้องรอแผนที่คาร์บอนที่ได้มาตรฐานเสร็จในปี 2558 นี้ก่อนจึงจะเดินตามมาตรการเรดส์พลัสได้" นายโชติ กล่าว

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/life/20130607/509798/ป่าเขาใหญ่นำร่องสร้างแผนที่คาร์บอนแห่งแรก.html

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ paidoo.net ดูทั้งหมด

423

views
Credit : paidoo.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน