ร.ร.เอกชนสอนศาสนาเร่งพัฒนาศักยภาพครูสอนภาษามาลายูรับ AEC
ปัตตานี
ปัตตานี - ศอ.บต.จับมือกับสมาคมวิชาชีพบริหารสถานศึกษาเอกชนปัตตานี จัดอบรมพัฒนาศักยภาพครูสอนภาษามลายูให้เข้มแข็ง เตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมน้ำพราว โรงแรมซีเอสปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานพิธีเปิดอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพการสอนภาษามลายู สู่ประชาคมอาเซียน ประจำปี 2556 โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ สมาคมวิชาชีพผู้ประกอบวิชาชีพบริหารสถานศึกษาเอกชนปัตตานี จัดขึ้นเพื่อให้ครูผู้สอนได้ตระหนักในความสำคัญของการสอนภาษามลายูกลาง การใช้ภาษามลายูกลางในการจัดการเรียนการสอน ยกระดับคุณภาพภาษามลายูกลางของครูและนักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดปัตตานีให้สูงขึ้น และเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาผู้สอน และผู้เรียนเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
มีผู้เข้าร่วมเป็นครูสอนภาษามลายู จำนวน 200 คน จาก 80 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดปัตตานี อบรมระหว่างวันที่ 3 - 5 มิถุนายน 2556 รวม 3 วัน ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาศักยภาพการสอนภาษามลายูจากรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย มาเป็นวิทยากร
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ของโอกาส เป็นพื้นที่สิ่งท้าทาย จึงต้องทำความมาเข้าใจตรงกันก่อนว่า การอยู่ร่วมกันต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง จุดร่วมคือความเป็นชาติ แผ่นดิน จุดต่างคือต้องอยู่ด้วยความเคารพ ให้เกียรติ ยกย่อง อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข สิ่งที่ต้องให้ความเคารพ คือเรื่องเชื้อชาติ ซึ่งเชื้อชาติไม่มีใครจะกำหนดตัวเองได้ เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามา เรื่องศาสนา การนับถือศาสนาก็เป็นเรื่องของการเคารพจะบังคับให้ใครไปนับถือศาสนาใดอื่นไม่ได้ และเรื่องที่สำคัญยิ่งคือ ภาษา วันนี้ทุกคนได้ใช้ความพยายามร่วมกัน เนื่องจากภาษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมาถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าบรรพบุรุษในอดีตได้พยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาภาษามลายู
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า ในอดีตผู้ที่คิดจะใช้ภาษามลายูปัตตานีเป็นภาษาราชการ หรือใช้ในการเรียนในสถาบันการศึกษา มีความผิดและถูกจำคุก แต่มายุคนี้ถือเป็นโอกาส และสิ่งท้าทายที่จะมาร่วมกันรักษาภาษามลายู วันนี้รัฐบาลได้มองภาษาไม่ใช่เป็นเรื่องของความมั่นคง ไม่ใช่มองภาษาเป็นเรื่องของอุปสรรค แต่มองตรงข้าม มองภาษามลายูเป็นภาษาที่เสริมสร้างความเข็มแข็ง สร้างความเจริญรุ่งเรื่องให้กับสังคม จึงเป็นโอกาสโดยเฉพาะอีก 2 ปี ที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน วันนี้ประชากรอาเซียนเกินครึ่งใช้ภาษามลายู แม้ภาษามลายูจะผิดเพี้ยนในบางประเทศ แต่ก็สามารถสื่อสารกันรู้เรื่อง
“โครงการพัฒนาศักยภาพการสอนภาษามลายู สู่ประชาคมอาเซียน ในครั้งนี้ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทำอย่างไรให้ภาษามลายูมีการศึกษา มีการทำความเข้าใจ มีการปกป้องรักษา และที่สำคัญต้องมีการถ่ายทอดรุ่นสู่รุน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสืบไป” พ.ต.อ.ทวี กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrview.aspx?NewsID=9560000066771