ซัด‘ซูจี’เมิน‘โรฮีนจา’


ซัด‘ซูจี’เมิน‘โรฮีนจา’

ไทยโพสต์ – อิสรภาพแห่งความคิด May 17, 2015

สหรัฐยกหูกดดันไทยจัดที่พักพิงชั่วคราว ดรามาขอร้องอย่าผลักดันเรือ เพื่อรักษาชีวิตโรฮีนจา ขณะที่ “บิ๊กเจี๊ยบ” รอดูสถานการณ์ หวั่นส่งซิกผิดเป็นช่องผู้อพยพไหลเข้าไทย รัฐบาลเชื่อหม่องแค่กั๊กท่าที เกรงถูกผูกมัด นักวิชาการมุสลิมประณามพม่าโหดกว่าฮิตเลอร์ ซัด “ซูจี” เมินปัญหา ชี้ไทยควรตั้งศูนย์ช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้ออกมาเพิ่มความกดดันต่อรัฐบาลชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่อกรณีผู้เดินทางทางเรือทั้งชาวบังกลาเทศและชาวโรฮีนจา โดยนายเจฟฟ์ รัธเก โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เปิดเผยว่า นายแคร์รีได้โทรศัพท์ถึง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อหารือสถานการณ์ผู้อพยพในทะเลอันดามัน และความเป็นไปได้ของประเทศไทยที่จะจัดหาที่พักพิงชั่วคราวให้แก่คนกลุ่มนี้

“เราเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคละเว้นการผลักดันผู้เดินทางทางเรือที่มาถึงรอบใหม่ และร่วมมือกันโดยเร็วเป็นอันดับแรกสุด เพื่อที่จะช่วยรักษาชีวิตของผู้คนเหล่านี้” โฆษกต่างประเทศสหรัฐกล่าว

นอกจากนี้ รายงานในเอเอฟพียังได้อ้างถึงคำบอกเล่าของชาวโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศที่รอดชีวิต และถูกช่วยขึ้นฝั่งราว 900 คน ที่เกาะสุมาตราของอินโดนีเซียเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยนายมูฮัมหมัด อามิน ชาวโรฮีนจาเล่าว่า เรือที่ขนคนมาอย่างอัดแน่นนั้นออกทะเลมาเมื่อ 2 เดือนก่อน และเมื่อเสบียงอาหารร่อยหรอลง กัปตันเรือที่เป็นชาวไทยก็จะยิงผู้อพยพที่เอ่ยปากขออาหารทิ้ง นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้แย่งชิงกันบนเรือ ซึ่งตัวเขาและอีกหลายคนถูกโยนทิ้งลงมา และต้องลอยคออยู่ถึง 6 ชั่วโมงก่อนได้รับความช่วยเหลือ ขณะที่ นายโมฮัมหมัด โคเยส ผู้รอดชีวิตชาวบังกลาเทศ เผยถึงสภาพเลวร้ายบนเรือว่า กัปตันและลูกเรือได้ทิ้งเรือไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่เรือถูกผลักดันออกมาโดยอินโดนีเซีย แล้วก็ถูกมาเลเซียผลักดันออกมาอีก เมื่อพวกเขาขออาหารก็จะถูกชาวโรฮีนจาทุบตี ซึ่งกลุ่มชาวบังกลาเทศอ่อนแรงมากจนไม่มีทางสู้กลับได้

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ของมาเลเซีย ได้ออกมาเรียกร้องขอความร่วมมือจากรัฐบาลเมียนมาเพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้องจากคลื่นการไหลทะลักของผู้เดินทางทางเรือ โดยหวังว่าจะได้รับการตอบสนองในทางบวกจากรัฐบาลเนปยีดอในขณะที่ปัญหาผู้ลี้ภัยนั้นถือเป็นเรื่องภายในที่ไม่สามารถแทรกแซงได้ แต่ทางมาเลเซียต้องการจะทำอะไรสักอย่างก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้

ทั้งนี้ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ยังมีชาวบังกลาเทศและชาวมุสลิมโรฮีนจาราว 6 พันคน ที่ยังคงต้องลอยเรืออยู่ในทะเล พร้อมทั้งตำหนิมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ถึงนโยบายผลักดันเรือที่บรรทุกผู้อพยพออกสู่ทะเลเปิด ขณะที่สถิติของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ระบุว่า ไตรมาสแรกของปี 2558 นั้น มีคนออกเดินทางโดยเรือจากเมียนมาและบังกลาเทศราว 2.5 หมื่นคน ซึ่งมากเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศได้เปิดเผยรายละเอียดการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างนายจอห์น แคร์รี และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐชื่นชมนโยบายของไทยในการให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบและผู้ลี้ภัยมาโดยตลอด นอกจากนั้น ยังได้ชื่นชมความริเริ่มของไทยในการจัดประชุมระหว่างประเทศเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พ.ค.นี้ โดยสหรัฐพร้อมส่งผู้แทนเข้าร่วม และยินดีให้ข้อมูล คำแนะนำ และการสนับสนุนในด้านต่างๆ รวมทั้งจะหารือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านของไทย

พล.อ.ธนะศักดิ์ชี้แจงว่า ไทยดำเนินนโยบายให้การดูแลผู้ลี้ภัยด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมมาโดยตลอด และจะไม่มีการผลักดันออกไป นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีเรือบรรทุกชาวโรฮีนจาที่เข้ามาในน่านน้ำของไทยบริเวณจังหวัดสตูลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งเจ้าหน้าที่กองทัพเรือไปตรวจสอบและให้เข้าเทียบท่าในไทย แต่ทางการไทยทราบต่อมาว่ากลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานในเรือลำดังกล่าวมีความประสงค์ที่จะเดินทางต่อไปอีกประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ ไทยได้ช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม และน้ำมัน สำหรับเรือลำดังกล่าวแล้ว

สำหรับการจัดหาพื้นที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้อพยพทางทะเล รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกล่าวว่า เป็นนโยบายที่เตรียมไว้ก่อนในกรณีฉุกเฉินจำเป็น เน้นด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบกฎหมายไทย และจะต้องรอดูสถานการณ์ในห้วงต่อไป เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดแก่ผู้ที่ไม่ได้ประสบภัยอย่างแท้จริง ซึ่งอาจใช้โอกาสดังกล่าวในการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้ การประชุมในวันที่ 29 พ.ค.นี้ จะเป็นการประชุมระดับผู้ปฏิบัติและเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งจะมีการหารือและกำหนดแนวทางให้ประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องปฏิบัติร่วมกัน โดยเน้นหลักมนุษยธรรม และความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างประเทศ (International burden sharing) และคาดว่าจะได้ผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีจุดยืนชัดเจนในการให้ความร่วมมือกับนานาชาติในการแก้ไขปัญหา การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติของชาวโรฮีนจา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นเหยื่อในวงจรการค้ามนุษย์ เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกชาติจึงจะแก้ไขปัญหาได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยดูแลผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายตามหลักมนุษยธรรมเสมอมา แต่ต้องเข้าใจว่าผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายเหล่านี้เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายของไทย จำเป็นต้องควบคุมตัวดำเนินคดี และส่งกลับต้นทางหรือประเทศที่สามตามความสมัครใจ ไม่มีนโยบายให้ตั้งรกรากในไทย

พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า แนวคิดจากบางองค์กรที่เสนอให้ประเทศไทยเปิดชายแดนรับผู้หลบหนีข้ามแดนเหล่านี้เข้ามา แล้วจัดหาที่อยู่ ดูแลเรื่องจัดหางานให้ทำ เป็นแนวคิดที่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง รวมทั้งสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายของไทย รวมทั้งอาจกระทบกับปัญหาความมั่นคงของประเทศไทย ทั้งนี้ บุคคลกลุ่มนี้เป็นผู้ลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย ข้อเสนอเช่นนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ วิธีการแก้ไขปัญหาที่สมเหตุสมผลคือ องค์กรนานาชาติที่มีหน้าที่บรรเทาทุกข์จำเป็นต้องเข้าไปจัดระเบียบและดูแลคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ในประเทศต้นทาง ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายและหลบหนีมายังประเทศอื่นอีก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมวาระการประชุม และกรอบในการหารือการประชุมในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เพื่อจัดทำระเบียบวาระการประชุม เพื่อส่งให้ 15 ประเทศที่ได้เชิญเข้าประชุม รวมถึงประเทศพม่า ซึ่งยังแสดงท่าทีลังเลในการเข้าประชุม ซึ่งหากได้รับทราบกรอบการประชุมแล้วทางพม่าอาจจะตัดสินใจในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้

“ทางพม่าเขาระวัง เพราะฟังดูแล้วทางพม่านั้นใช้คำพูดว่าอาจจะไม่มา เนื่องจากทางพม่านั้นยังไม่เห็นวาระการประชุมว่าจะคุยอะไร ปกติแล้วการประชุมระหว่างประเทศนั้น จะต้องเห็นวาระก่อน โดยต้องมีการคุยและตกลงในเบื้องต้นก่อน ถ้าไม่เช่นนั้นเขามาแล้วอาจจะโดนผูกมัด เขาอาจจะรอให้อะไรมันชัดเจนก่อน โดยระหว่างพม่ากับไทยเรามีท่าทีที่ดีต่อกันมาตลอด” แหล่งข่าวระบุ

นายจรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านตะวันออกลางศึกษา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมต่อการอพยพของชาวโรฮีนจาว่า รัฐบาลเมียนมานั้นไม่ยอมรับว่าชาวโรฮีนจาเป็นชาวเมียนมา มีการปล่อยให้เกิดขบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปัญหาชาวโรฮีนจาเป็นปัญหาที่แสดงให้เห็นถึงความเลวร้ายที่สุด ยิ่งกว่าสิ่งที่ฮิตเลอร์ทำกับชาวยิว ไม่มีชนกลุ่มน้อยใดโลกที่จะถูกกระทำอย่างเลวร้ายเท่านี้อีกแล้ว ก่อนหน้านี้ทางองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) และตุรกีเคยได้พยายามยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือชาวโรฮีนจาในประเทศเมียนมา แต่กลับได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาไม่เห็นว่าชาวโรฮีนจาเป็นคนในชาติ

“อย่างนางอองซาน ซูจี เองในตอนแรกก็ออกมาระบุว่าไม่รู้จักชาวโรฮีนจา แต่ในภายหลังแม้จะยอมรับว่ามีชาวโรฮีนจาอยู่ในประเทศเมียนมาจริง แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่ อาเซียนควรใช้กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการแสวงหาวิธีการแก้ไขร่วมกันในภายภาคหน้า” ศ.ดร.จรัญกล่าว

เขากล่าวต่อว่า ทุกประเทศมีข้ออ้างในการให้ความช่วยเหลือ อย่างกรณีมาเลเซียและอินโดนีเซีย ยอมรับชาวโรฮีนจาเข้าประเทศ แต่ก็ขอจำกัดจำนวน ส่วนบังกลาเทศนั้น ไม่ให้ความช่วยเหลือ โดยอ้างว่าตัวเองยากจน ตนเห็นว่าในความจำเป็นเฉพาะหน้าประเทศไทยควรที่จะให้จะช่วยเหลือ โดยมองว่าโรฮีนจาเป็นคน และควรให้มีการตั้งศูนย์พักพิงผู้อพยพพม่า ไม่ปล่อยให้ลอยคอในทะเล เพราะไทยก็เป็นประเทศที่มีความสามารถหาเงินช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยพิบัติได้อย่างมาก อย่างเนปาล การที่ชนกลุ่มน้อยที่ถูกกระทำอย่างเลวร้ายมานั้นไทยเองไม่ควรที่จะทอดทิ้ง

สำหรับความคืบหน้าการสอบสวนคลี่คลายคดีเครือข่ายค้ามนุษย์โรฮีนจา ล่าสุด พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ประชุมทีมสืบสวนสอบสวนเพื่อสรุปความคืบหน้าของคดี ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้า โดย พล.ต.ต.พุทธิชาต เอกฉันท์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 กล่าวว่า ผู้ต้องหาที่หลบหนีไปยังประเทศมาเลเซียทางกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 ทราบแล้วว่ามีกี่คน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยตัวเลข ซึ่งทางตำรวจมาเลเซียกำลังช่วยติดตามจับกุม โดยคดีนี้ได้รับความร่วมมือจากทางตำรวจมาเลเซียเป็นอย่างดี และจะเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยในวันจันทร์นี้ ทางผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซียจะส่งตำรวจมาเลเซียมาประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้า ซึ่งจะทำให้การสืบสวนรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของผู้เสียหายที่อยู่ในมาเลเซีย ซึ่งต้องสอบสวนบางคนเพิ่มรวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหา

ส่วนการติดตามยึดทรัพย์ของเครือข่ายค้ามนุษย์นั้นขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ยึดทรัพย์เครือข่ายค้ามนุษย์ไว้ตรวจสอบจำนวน 156 ราย มูลค่าทรัพย์สินกว่า 71 ล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.สตูล และกำลังดำเนินการยึดทรัพย์เพิ่มมากกว่านี้ ฐานความผิดพระราชบัญญัติฟอกเงิน ซึ่งทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ สำหรับการติดตามตัวนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูลนั้น ยังไม่ได้มีการติดต่อเข้ามอบตัวโดยตรงกับทางตำรวจภูธรภาค 9 แต่ได้ประสานงานกับทางผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ชาวโรฮีนจาจำนวน 106 คน ได้ถูกกลุ่มนายหน้าปล่อยทิ้งไว้เกาะสต๊อก หมู่เกาะสุรินทร์เหนือ อ.คุระบุรี จ.พังงา จนเจ้าหน้าที่ทหารเรือจากฐานทัพเรือพังงาต้องเข้าควบคุมตัวในช่วงค่ำวันที่ 14 พ.ค.58 เพื่อส่งไปให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พังงาทำการตรวจสอบไปแล้วนั้น พบว่ามีผู้หญิงและเด็กชาวโรฮีนจาอยู่ในกลุ่มเดียวกันถึง 25 คน เป็นเด็กชาย 7 คน เด็กผู้หญิง 15 คน และมีหญิงชาวโรฮีนจาที่มีลูกติดมาด้วยจำนวน 3 คน จึงได้ส่งทั้งหมดมายังบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 15 พ.ค.58.

ข้อมูลเสริม

โซเชียลพลิกข้อมูล…ประวัติศาสตร์ชาวโรฮินจา (โรฮิงยา) ทำไมอยู่พม่าไม่ได้ อองซานซูจีว่ายังไง?

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

456

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน