สภาพัฒน์ฯจ่อปรับจีดีพีโตเกิน2.5% ลุ้นส่งออกครึ่งปีหลังขยายตัว 6-7%


สภาพัฒน์ฯ ลุ้นส่งออกครึ่งปีหลังขยายตัว 6-7% เล็งปรับจีดีพีโตเกิน 2.5% ระบุยุโรปตัดสิทธิ์จีเอสพีไทย 50 รายการไม่กระทบส่งออก เผยมาตรการระยะสั้นเร่งโปรโมทสินค้ากระตุ้นตลาด ระยะยาวหนุนปรับโครงสร้างสินค้าลดพึ่งพาภาคการผลิต-เน้นภาคบริการ ด้านนักเศรษฐศาสตร์โลกเตือนวิกฤติต้นปี 58

นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า อาจมีการทบทวนการปรับประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งมีโอกาสขยายตัวมากขึ้นระหว่าง 1.5-2.5% หรือมากกว่านั้น จากสมมุติฐานภาคการส่งออกที่มีสัดส่วน 74% ต่อจีดีพีจะต้องขยายตัวเฉลี่ยเดือนละ 6-7% ในครึ่งปีหลัง จาก 5 เดือนแรกที่ผ่านมาขยายตัว 0.2% และขยายตัวสูง 7.2% ในเดือน มิ.ย.

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากความเชื่อมั่นการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ เนื่องจากการส่งออกมีการเติบโตในเชิงปริมาณ แต่ด้านมูลค่า หรือราคายังไม่ดี โดยการอ่อนค่าของเงินบาททำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงขึ้น

“เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเดือนต่อเดือน แต่ไม่เร็วอย่างที่คาดหวังว่าส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะสินค้าเริ่มฟื้นตัวดีในตลาดหลักอย่างสหรัฐ และยุโรป แต่ราคายังทรงตัว”

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงในด้านการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า(จีเอสพี) ส่งออกไปยุโรป 50 รายการในปีนี้ หรือ คิดเป็น 10 % ของมูลค่าการส่งออกไปยุโรปกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งผลกระทบสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ อาทิ ถุงมือยาง เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

เล็งปรับโครงสร้างสินค้าอุตฯ

สำหรับสินค้าไทยต้องเผชิญการแข่งขันสูงขึ้นซึ่งผู้ประกอบการต้องเร่งเตรียมปรับตัวเผชิญสถานการณ์ถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีเพิ่มในปี 2558 อีกประมาณ 700 รายการ ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกยังเผชิญความท้าทายต่อปัญหาระยะยาวในเรื่องการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ซึ่ง 5 ปีข้างหน้าจะต้องมีการพัฒนาสินค้าด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และมูลค่าที่สูงขึ้น รวมถึงการพัฒนาธุรกิจขยายสู่ภาคบริการมากขึ้น

“ระยะสั้นโปรโมทสินค้าไปตลาดต่างๆ ช่วยได้บ้างแต่ไม่มาก ระยะยาวสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานการผลิตที่ไม่เน้นเพียงสินค้าราคาถูก เพราะไทยแข่งยากขึ้น ต้องมีการลงทุนด้านวิจัยพัฒนา เช่น การส่งออกรถยนต์วางเป้าหมายผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคัน จะพัฒนาสินค้าเชิงมูลค่าใดขึ้นมาเพิ่ม”

ทั้งนี้ ไทยต้องปรับนโยบายรองรับการผลิตและการลงทุนมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้ เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบในด้านการเป็นศูนย์กลางผลิต การขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ที่สะดวก นักลงทุนที่มองระยะยาวจึงยังคงให้น้ำหนักลงทุนในประเทศไทย รัฐบาลต้องดำเนินการต่อเนื่องพร้อมสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนในระยะยาว

สศช. ยังวางแผนปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพื่อเตรียมพร้อมรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) เสริมความแข็งแกร่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคด้วยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระบบขนส่งรถไฟรางคู่ ท่าเรือเชื่อมอ่าวไทย ตลอดจนยกระดับรายได้ประชากรจากกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2570 หรือมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 15,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี จาก 9,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีในปัจจุบัน พร้อมกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำประชากรที่มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“5 ปีที่ผ่านมาไทยเผชิญอุปสรรคที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการให้ขยายตัว 5-6% ต่อปี จากปัญหาน้ำท่วม ความแตกแยกทางการเมือง เศรษฐกิจโลก ทำให้รายได้ประชากรไทยจากที่เคยเป็นรองสิงคโปร์ ปัจจุบัน มาเลเซีย ก้าวแซงไทย ซึ่งหล่นลงมาเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มอาเซียน หากวัดระดับโลก ไทยหล่นจากอันดับ 12 มาอยู่อันดับ 18″

ชี้ปี58เสี่ยงวิกฤติเศรฐกิจ

นายริชาร์ด ดันแคน นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและกลยุทธ์ด้านการลงทุน มองเศรษฐกิจโลกภายในปลายปีนี้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรก ขยายตัวเพียง 2.3% เติบโตลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 2.5% สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะเปราะบางและมีความเสี่ยง มีโอกาสเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือ Recession ในช่วงต้นปีหน้า

“รัฐบาลสหรัฐผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน (คิวอี) จะมีโอกาสกระทบต่อภาคการเงินหยุดชะงัก ลามไปสู่ภาคธุรกิจ และภาคการบริโภค ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐมีการเติบโตเพราะพึ่งพาคิวอีเป็นหลัก ดังนั้นหากหยุดทำคิวอีครั้งที่ 4 จะมีผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยหรือเกิดวิกฤติได้ในปี 2558″

เศรษฐกิจสหรัฐมีขนาดใหญ่ ย่อมส่งผลกระทบถึงภูมิภาคอื่นที่ส่งสินค้าไปสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นจีน ยุโรป เลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบมาถึงอาเซียน ที่ส่งสินค้าไปยังจีนในสัดส่วนที่มากเช่นเดียวกัน

โดยความเปราะบางทางเศรษฐกิจคาดต่อเนื่องไปอีก 2 ปี เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการปรับเปลี่ยนภาคธุรกิจ การเงิน และอุตสาหกรรมจากทั่วโลกที่สหรัฐย้ายฐานผลิตมาสู่ภูมิภาคเอเชีย เป็นการพัฒนาธุรกิจใหม่มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

1050

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน