ผลงานคสช.ปรับโครงสร้างแก้ปัญหาภาคใต้-ตั้งศูนย์ปรองดองฯ-เชิญบุคคลรายงานตัว-จัดระเบียบวินรถตู้


คสช.

            วานนี้ 27ก.ค.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้แถลงสรุปผลการบริหารงานของคสช.ในระยะเวลา 2 เดือน ที่ผ่านมา โดยจัดทำเป็นรายการพิเศษ ใช้ชื่อว่า “สรุปผลงานในรอบ 2 เดือน” ออกอากากาศในเวลา 18.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ออกอากาศทั้งระบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีเนื้อหาผลงาน

         สำหรับส่วนงานที่เป็นหน่วยขึ้นตรงกับหัวหน้า คสช. โดย พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. และ พลโท ชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นรองเลขาธิการ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ของ คสช. รวมถึงการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาปากท้องของประชาชน  จากการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆของ คสช. พบว่าส่วนใหญ่มีความคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง  โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการในเรื่องการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมสำคัญตามนโยบาย จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีสถานการณ์การชุมนุมและคดีที่มีการใช้อาวุธสงครามก่อเหตุ

         ส่วนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนให้แก่ประชาชน และการปรับปรุงโครงสร้างการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและรวดเร็วตามแนวทาง “พื้นที่ปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัย” พบว่าสถิติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เช่น เดือนมิถุนายน 2556 เกิดจำนวน 141 ครั้ง เดือนมิถุนายน ปีนี้เกิด 102 ครั้ง เป็นต้น เมื่อ คสช.ได้จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ขึ้นทั่วประเทศในทุกระดับมาตั้งแต่ 28 พ.ค. 57 เพื่อยุติความเห็นต่างและสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองสมานฉันท์ ด้วยการจัดกิจกรรมคืนความสุขให้กับประชาชน  และการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เสนอความต้องการในการปฏิรูปประเทศแล้วเสร็จใน 30 กรกฎาคมนี้  ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ  สังเกตได้จากสถานการณ์ความขัดแย้งได้ลดลงจำนวนมาก แนวโน้มทางเศรษฐกิจดีขึ้น ครอบครัวที่เห็นต่างกันก็กลับมาคุยกัน ทำให้ปัญหาที่เคยหมักหมมมาค่อยคลี่คลายไป และสำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ที่ คสช. มีมติให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 2,575,000 ล้านบาท โดยเป็นนโยบายขาดดุล จำนวน 250,000 ล้านบาท รายได้สุทธิจำนวน 2,325,000 ล้านบาท งบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำนวน 50,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.0 นั้น คาดว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการพิจารณาภายในห้วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้  และจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในวันที่ 15 กันยายน 2557และสามารถประกาศใช้ได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557ส่วนการเปรียบเทียบการเบิกจ่ายงบประมาณ ภายหลังจาก คสช. เข้ามาบริหารประเทศหน่วยงานต่างๆ มีความชัดเจนในการดำเนินงาน ทำให้การเบิกจ่ายเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 240,363 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5

          ในส่วนของกลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย  ยังคงมีความจำเป็นต้อง เชิญบุคคลที่อยู่ในความขัดแย้งทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเข้ารายงานตัวเพื่อสร้างความเข้าใจ  โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความมั่นคงของประเทศ และประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี  และในช่วงเดือนที่ 2 นี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศลดความกังวลลง  กลับมาใช้ชีวิตตามปกติสุข  ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการกลับมามีความคล่องตัวดังเดิม อย่างไรก็ตาม คสช.ยังจําเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา

         ส่วนการจัดระเบียบรถบริการขนส่งสาธารณะ คสช.ได้ดำเนินการจัดระเบียบรถรับจ้างหรือรถบริการขนส่งสาธารณะ  โดยส่วนของรถตู้มีการจัดระเบียบไม่ให้จอดรถที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งกีดขวางการจราจร  และเคลื่อนย้ายจุดจอดไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ สำหรับการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซด์มีการขจัดผู้มีอิทธิพลที่แสวงหาประโยชน์จากวินเถื่อน  และจัดให้มีการจดทะเบียนวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างให้เกิดความถูกต้อง สำหรับการจัดระเบียบรถแท็กซี่ ต้องไม่ให้เอาเปรียบผู้โดยสารโดยคิดเกินกว่าอัตราค่าเดินทางจริงอย่างเข้มงวด  สำหรับการดำเนินการได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกคือการบังคับใช้กฎหมายและจัดระเบียบอย่างเข้มงวด  ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 คือการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันสภาพปัญหาต่อไป

       สำหรับกลุ่มงานสุดท้ายคือกลุ่มงานสร้างความปรองดอง และการปฏิรูป โดย พลเอก   สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบ  มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป มีพลโท กัมปนาท รุดดิษฐ์ เป็นหัวหน้า และคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ  มีหน้าที่กำหนดแนวทางในการเสริมสร้างบรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์  ซึ่งได้เดินหน้ารวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกกลุ่ม      ทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง  เพื่อเสริมสร้างความรักความสามัคคีและคืนความสุขแก่คนในชาติอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง  โดยสามารถจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดครบทุกจังหวัดในเดือนแรก  เดือนที่ 2 ได้รวบรวมและจัดทำหัวข้อการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ อาทิ ผลงานที่มีอยู่เดิม งานวิจัย วิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง ส่วนราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม และองค์กรอิสระต่างๆรวมทั้งข้อเสนอแนะของประชาชนจากทั่วประเทศนำมาสังเคราะห์ เพื่อให้ได้หัวข้อการรับฟังความคิดเห็น โดยคณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วน ทางช่องทางโทรศัพท์,จดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-mail, ไปรษณียบัตร จำนวน 2,787 เรื่อง รวมทั้งได้สังเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัย จำนวน 418 เรื่อง   จากข้อมูลดังกล่าวคณะทำงานฯ ได้สรุปประเด็นในการปฏิรูปขั้นต้น โดยพิจารณาจาก ความสำคัญและความเร่งด่วนได้ 11 ประเด็น อาทิ การขจัดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น , การเมือง , การบริหารราชการแผ่นดิน , กระบวนการยุติธรรม , พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคม เป็นต้น

        นอกจากนี้ยังได้จัดสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิ, ผู้มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญ ทั้งส่วนราชการ, นักวิชาการ , ผู้แทนพรรคการเมือง , ภาคธุรกิจ , องค์กรอิสระ, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, กลุ่มเห็นต่าง,รวมถึงภาคประชาชนอื่นๆรวม 53 ครั้ง จัดการประชุมกลุ่มย่อย 5 ครั้งครั้งละ 50 – 80 คน และจัดเสวนา 3 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 2,000 คน เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของแนวความคิดเห็นเพิ่มเติมใน 11 ประเด็น

       และจากการรวบรวมผลการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปจัดทำ “กรอบความเห็นร่วม” ในประเด็นการปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน สรุปได้ว่าการปฏิรูปการเมืองมีอยู่ 4 เรื่องคือ โครงสร้างทางการเมือง  การคัดสรรบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ปราศจากการครอบงำจากนายทุนพรรคการเมือง  กระบวนการถ่วงดุลอำนาจการบริหาร  และกระบวนการถอดถอนบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนของการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นมีแนวทางสำคัญรวม 4 ด้านได้แก่ ด้านการป้องกัน  ด้านการปราบปราม  ด้านโปร่งใส และด้านเป็นธรรม ซึ่งผลสรุปดังกล่าวจะสามารถรายงานให้ คสช.ทราบ เพื่อนำไปพิจารณาใช้ได้ในสิ้นเดือนนี้

         ส่วนผลงานที่สำคัญสามารถทำให้กลุ่มคู่ขัดแย้งกลับมาสามัคคีและร่วมมือร่วมใจกันเดินหน้าประเทศไทยอีกครั้ง  ผ่านการจัดกิจกรรมลักษณะเสริมสร้างบรรยากาศปรองดองสมานฉันท์โดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปของ กอ.รมน.ภาค 1 – 4 จนถึงขณะนี้รวมกิจกรรมทั้งหมด  84,252 ครั้ง และได้จัดทำ MOU ระหว่างผู้นำทางความคิดที่เคยเห็นต่างกันในแต่ละพื้นที่ มาแล้วกว่า 177 ฉบับ  ครอบคลุมกว่า 403 แกนนำ  กว่า 3,003 จังหวัดถึงระดับตำบล และเวทีเสวนาจัดแล้ว 176 เวที ครอบคลุมกว่า 30,842 หมู่บ้าน

        หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เห็นได้จากสังคม ถึงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศของ คสช.แล้ว  เห็นได้ชัดเจนว่าสถานการณ์และปัญหาในด้านต่างๆได้เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ  หลังได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน  โดยเฉพาะการจัดระเบียบสังคมและสิ่งผิดกฎหมายที่มีการดำเนินการอย่างเฉียบขาด  อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆที่อยู่ระหว่างการจัดการแก้ไขนั้น เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน  ซึ่งหลายปัญหาต้องใช้ระยะเวลาในการสะสาง และหลายปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย คสช.เพียงลำพังแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และสิ่งที่สำคัญที่สุดอันเป็นเจตนารมณ์ของ คสช. คือการคืนความสุขให้กับประชาชน โดยการลดความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดการทุจริตคอรัปชั่น สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้ได้โดยเร็ว พร้อมกับนำทุกปัญหาที่มีผลกระทบโดยเร่งด่วนกับความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน  การสร้างอาชีพรายได้ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย  สร้างกระบวนความคิด ความรู้ ให้กับประชาชนเพื่อให้เป็นประชาชนที่เข้มแข็ง มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และเพื่อให้พร้อมก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกในโอกาสต่อไปโดยเร็วที่สุด

          และในวันที่ 22 กรกฎาคม 57  ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 2 เดือนของการบริหารราชการแผ่นดิน โดย คสช. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว โดยมีทั้งหมด 17 หน้า ประกอบด้วย 48 มาตรา ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ ให้รัฐบาล ฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรี รับผิดชอบงานเฉพาะด้านการบริหาร  โดย คสช. รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีสมาชิก 220 คน ทำหน้าที่ออกกฎหมาย   สภาปฏิรูป (สปร.) มีสมาชิก 200 คน  ทำหน้าที่คล้ายสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คือ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอมาและยังมีหน้าที่กำหนดวาระการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น

        ทั้งนี้ คสช. มุ่งหวังให้การบริหารราชการแผ่นดิน นับจากนี้ต่อไป เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนชาวไทย ทุกพวก ทุกฝ่าย มีความรัก ความสามัคคี และมีความปรองดองสมานฉันท์ อันเป็นแนวทางสำคัญและมั่นคง เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสมบูรณ์ และยั่งยืนในทุกมิติ 


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

484

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน