โพลคนไทยไม่กังวลท่าทีนานาชาติ หลังถูกตอบโต้รัฐประหาร บิ๊กตู่เป็นนายกยังแรง เสนอ 9 แนวทางปฏิรูป


นิด้า

“นิด้าโพล” เผย ประชาชนไม่กังวลท่าทีนานาชาติตอบโต้รัฐประหารไทย ชี้อาเซียน-จีน-ญี่ปุ่นน่าไว้วางใจเป็นมิตรไทยมากสุด

วันที่ 29 มิ.ย. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความกังวลใจของประชาชนต่อท่าทีของนานาชาติกับการทำรัฐประหารในประเทศไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 – 26 มิถุนายน 2557 กรณีศึกษาจากประชาชนที่จบการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภูมิภาค และอาชีพ เกี่ยวกับความกังวลใจและความไว้วางใจต่อท่าทีนานาประเทศ ภายหลังการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค

จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random  Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากผลการสำรวจ

เมื่อถามถึงความกังวลใจของประชาชนต่อท่าทีของสหรัฐอเมริกา (USA) ในการตอบโต้การทำรัฐประหารในประเทศไทยด้วยการระงับความช่วยเหลือทางด้านความมั่นคงและทางทหาร พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.96 ระบุว่า ไม่กังวลใจเลย รองลงมา ร้อยละ 18.78 ระบุว่า ค่อนข้างกังวลใจ ร้อยละ 16.47 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวลใจ มีเพียง ร้อยละ 8.55 ที่ระบุว่า กังวลใจมาก และร้อยละ 0.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความกังวลใจของประชาชนต่อท่าทีของสหภาพยุโรป (EU) ในการตอบโต้การทำรัฐประหารในประเทศไทยด้วยการระงับการลงนามข้อตกลงระหว่างประเทศ และระงับการมาเยือนไทยของเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.24 ระบุว่า ไม่กังวลใจเลย รองลงมา ร้อยละ 21.74 ระบุว่า ค่อนข้างกังวลใจ ร้อยละ 15.75 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวลใจ มีเพียง ร้อยละ 10.95 ที่ระบุว่า กังวลใจมาก และร้อยละ 0.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความกังวลใจของประชาชนต่อการที่สหรัฐอเมริกา (USA) ปรับลดอันดับประเทศไทยสู่ระดับต่ำสุด ในรายงานการค้ามนุษย์ 2014 โดยให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศซีเรียและเกาหลีเหนือ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.93 ระบุว่า ไม่กังวลใจเลย รองลงมา ร้อยละ 27.10 ระบุว่า ค่อนข้างกังวลใจ ร้อยละ 19.90 ระบุว่า กังวลใจมาก ร้อยละ 13.19 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวลใจ และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อประเทศหรือกลุ่มประเทศที่น่าไว้วางใจและเป็นมิตรกับประเทศไทยมากที่สุด พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.09 ระบุว่า เป็นกลุ่มในประเทศอาเซียน รองลงมา ร้อยละ 32.69 ระบุว่า เป็นประเทศจีน ร้อยละ 11.91 ระบุว่า เป็นประเทศญี่ปุ่น ร้อยละ 3.12 ระบุว่า เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 1.84 ระบุว่า เป็นประเทศออสเตรเลีย ร้อยละ 1.20 ระบุว่า เป็นกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ร้อยละ 0.72 ระบุว่า เป็นประเทศอื่นๆ ได้แก่ ภูฏาน เกาหลี แคนาดา รัสเซีย และประเทศคู่ค้า ร้อยละ 1.12 ระบุว่า ไม่มีประเทศใดเลย ที่น่าไว้วางใจ ร้อยละ 6.31 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

โพลยัน ปชช. หนุน ‘บิ๊กตู่’ นั่งนายกฯ
‘มาร์ค-สุเทพ-ชวน-ปู’ ติดโผด้วย

“มาสเตอร์โพลล์” ยันประชาชนดัน “ประยุทธ์” นั่งนายกฯ “อภิสิทธิ์-สุเทพ-ชวน-ยิ่งลักษณ์” ติดโผด้วย ขอก้าวต่อไป คสช.ดูแลเศรษฐกิจปากท้อง-ประชาชน

วันที่ 29 มิ.ย. รศ.ดร. เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล รองประธานมาสเตอร์โพลล์ ชมรมนักวิจัยไทยความสุขชุมชน เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง ก้าวต่อไปของประเทศไทย หลังครบ 1 เดือน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่พักอาศัย ในพื้นที่ 15 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 2,087 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 23 – 28 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา

โดยผลการสำรวจเมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างถึงสิ่งที่ต้องการให้ คสช. ดำเนินการในด้านเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน หลังครบ 1 เดือน คสช. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.3 ระบุช่วยเหลือดูแลประชาชนเรื่องที่ทำกิน แหล่งทำมาหากิน หน้าที่การงาน และการประกอบอาชีพ

รองลงมาคือร้อยละ 82.8 ระบุแก้ปัญหาราคาน้ำมัน แก๊ส และเชื้อเพลิง ร้อยละ 71.7 ระบุแก้ปัญหา ราคาสินค้า ราคาอาหาร และบริการ ร้อยละ 65.2 ระบุแก้ปัญหา ต้นทุนการผลิตสินค้าการเกษตร และร้อยละ 60.2 ระบุช่วยเหลือประชาชนได้เมื่อประชาชนว่างงาน

นอกจากนี้ ตัวอย่างร้อยละ 59.9 ระบุดูแลประชาชนอย่างดีเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ต้องให้ประชาชนจ่ายมาก ร้อยละ 57.0 ระบุต้องดูแลเรื่องต้นทุน ค่าใช้จ่าย ในการประกอบอาชีพของประชาชน ร้อยละ 52.8 ระบุลดช่องว่างระหว่างคนรวย กับคนจน และร้อยละ 48.7 ระบุจัดหาความจำเป็นพื้นฐาน เช่น อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัยตามลำดับ

สำหรับด้านสังคมและการเมืองที่ต้องการให้ คสช.ดำเนินการในวันนี้ พบว่า ร้อยละ 76.8 ระบุจัดระเบียบสังคม ขจัดกลุ่มผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด และอาชญากรรม รองลงมาคือร้อยละ 69.8 ระบุเอาจริงเอาจังด้านกฎหมายและการจัดระเบียบสังคม ร้อยละ 68.8 ระบุทำให้การเมืองไม่มีคอร์รัปชัน ร้อยละ 59.4 ระบุจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง ร้อยละ 57.0 ระบุคอยช่วยลดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ประชาชน

อีกทั้งยังพบว่าต้องการให้ คสช. ทำให้ศาลช่วยประชาชนได้จากเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม ร้อยละ 56.0 ทำให้การเมืองช่วยลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ร้อยละ 55.9 แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ร้อยละ 53.5 ทำให้ประชาชนมีการศึกษาสูง มีคุณภาพในราคาที่ประชาชนมีความสามารถจ่ายได้ ร้อยละ 50.3 ให้บริการประชาชนด้วยความรวดเร็ว ยิ้มแย้มแจ่มใส แก้ปัญหาให้จบได้ดี ร้อยละ 43.9 และการแก้ปัญหาการค้างาช้าง นอแรด และสัตว์ป่าต่างๆ ร้อยละ 36.1

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 87.4 ของประชาชนที่ถูกศึกษามีความหวังในก้าวต่อไปของประเทศไทย ในขณะที่ร้อยละ 12.6 ยังคงมีความกลัวในก้าวต่อไปของประเทศไทย ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของตัวอย่างกรณีบุคคลที่ต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เป็นคำถามปลายเปิด ให้ประชาชนตอบเองโดยไม่มีการชี้นำ

ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 32.1 ระบุต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี รองลงมาคือร้อยละ 13.9 ระบุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 8.4 ระบุนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ร้อยละ 8.1 ระบุนายชวน หลีกภัย และร้อยละ 6.9 ระบุนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นอกจากนี้ ตัวอย่างยังระบุชื่อบุคคลที่ต้องการให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี อาทิ นายอานันท์ ปันยารชุน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น

0000

เปิด 9 แนวทางการปฏิรูป ‘คสช.’ ที่ประชาชนอยากเห็น

“สวนดุสิตโพล” เผย 9 แนวทาง ปชช. ขอ คสช.ปฏิรูปการเมืองเลือกตั้งให้โปร่งใส-มาตรฐานผู้บริหารมีจิตสำนึก ซื่อสัตย์-จนท.เป็นกลางในขบวนการยุติธรรม-ยึดแนวทางบริหารราชการเป็นธรรม-สร้างโอกาสให้ ปชช. ได้รับการศึกษาเท่าเทียม-คุมราคาสินค้าให้เหมาะสม

วันที่ 29 มิ.ย. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดผลสำรวจตามที่ คสช.ได้มีแนวทางการปฏิรูปทั้ง 9 ด้าน ซึ่งครอบคลุมการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา เพื่อที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการปฏิรูปดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติที่จะทำให้งานปฏิรูปสำเร็จลุล่วงสมดังจุดมุ่งหมายของ คสช.ที่กำหนดไว้ จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 2,218 คน ระหว่างวันที่ 18-28 มิถุนายน 2557 สรุปผลได้ ดังนี้

ประชาชนคิดว่า คสช. จะปฏิรูปสิ่งต่อไปนี้อย่างไร? จึงจะเห็นผลเป็นรูปธรรม

1. แนวทางการปฏิรูปการเมือง ควรทำดังนี้ คือ อันดับ 1 จะต้องปฏิรูปการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใส เป็นระบบ พรรคการเมืองควรคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด 88.86%

อันดับ 2 มีมาตรการป้องกันปราบปรามการทุจริตทุกรูปแบบ บทลงโทษต้องเด็ดขาด เช่น ยึดทรัพย์ ตัดสิทธิ์ทางการเมือง โดยติดตามและจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีอย่างจริงจัง 82.18%

อันดับ 3 สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ระบอบประชาธิปไตย สิทธิ บทบาทหน้าที่ และการปฏิบัติตนตามกฎระเบียบต่างๆ 80.54% อันดับ 4 ทำลายการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของนักการเมืองรุ่นเก่า เปิดโอกาสให้นักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน 64.95%

2. แนวทางการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้บริหารประเทศ ควรทำดังนี้

อันดับ 1 ผู้บริหารต้องมีจิตสำนึก ดำรงตนอยู่ในความดี ซื่อสัตย์ สุจริต 93.67% อันดับ 2 กำหนดวิธีการคัดเลือกและคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งบริหาร เช่น เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ ได้รับการยอมรับจากสังคม ประวัติดี มีภาวะผู้นำ 82.77%

อันดับ 3 คำนึงถึงส่วนรวม ไม่ใช้ระบบเส้นสาย ไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป มีการถ่วงดุลอำนาจ 82.53% อันดับ 4 เปิดโอกาสให้ประชาชนและทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการสรรหา ติดตาม ตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารประเทศ เมื่อพบการกระทำผิดต้องมีกฎหมายและบทลงโทษที่รุนแรง 71.51%

3. แนวทางการปฏิรูปขบวนการยุติธรรม ควรทำดังนี้ อันดับ 1 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่สองมาตรฐาน ไม่ให้อำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง 89.68% อันดับ 2 พัฒนาองค์กรให้เข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับ มีผลงานชัดเจน โดยเฉพาะคดีที่สังคมให้ความสนใจ 83.70%

อันดับ 3 บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ผู้กระทำผิดต้องได้รับการลงโทษอย่างจริงจัง
81.12% อันดับ 4 พิจารณาปรับแก้กฎหมาย ป้องกันไม่ให้มีผู้อาศัยช่องโหว่กระทำผิดและทันสมัยอยู่เสมอ 66.70%

4. แนวทางการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ควรทำดังนี้ อันดับ 1 ยึดแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินที่ถูกต้อง เป็นธรรม 92.61% อันดับ 2 มีกระบวนการติดตามตรวจสอบที่เคร่งครัด ตรงไปตรงมา ทั้งในด้านการบริหารงาน งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการตรวจสอบทรัพย์สินข้าราชการ 83.35%

อันดับ 3 ปรับปรุงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการให้โปร่งใส ปราศจากการวิ่งเต้น เส้นสาย 81.94% อันดับ 4 ควรมีการบริหารราชการแบบกระจายอำนาจทุกภาคส่วน กำหนดโครงสร้างหน่วยงานที่ชัดเจน เหมาะสมเป็นปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว
66.35%

5. แนวทางการปฏิรูปการศึกษา ควรทำดังนี้ อันดับ 1 สร้างโอกาสให้ทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง จัดสรรงบประมาณ ด้านการศึกษาอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะเด็กที่มีฐานะยากจน 87.81% อันดับ 2 กระทรวงศึกษาธิการต้องมีนโยบายด้านการศึกษาที่ชัดเจน ต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย พัฒนาระบบการศึกษาให้ได้มาตรฐาน และพร้อมเข้าสู่อาเซียน 84.86%

อันดับ 3 ผู้บริหาร ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง และนักเรียน จะต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจน ตรงกัน ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ ร่วมกันพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้า 81.83% อันดับ 4 ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กได้มีส่วนร่วม รู้จักคิดวิเคราะห์ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ 70.34%

6. แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ควรทำดังนี้ อันดับ 1 ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าสาธารณูปโภคให้เหมาะสม 92.97% อันดับ 2 ส่งเสริมการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและประชาชน 85.70%

อันดับ 3 รณรงค์ให้คนไทยใช้ของไทย นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต
79.60% อันดับ 4 พัฒนาการเกษตรที่เป็นรายได้หลักของประเทศให้เข้มแข็ง ดูแลเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี 69.05%

7. แนวทางการปฏิรูปด้านข่าวสาร ควรทำดังนี้ อันดับ 1 สื่อมวลชนจะต้องรักษาจรรยาบรรณของสื่อที่ดี เป็นกลาง ไม่เอนเอียง 86.75% อันดับ 2 ควรมีหน่วยงานเฝ้าระวังการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ ที่สร้างความขัดแย้ง แตกแยก หรือไม่เหมาะสม 81.71%

อันดับ 3 พูดคุย ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างรัฐกับสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อได้ทำงานอย่างเต็มที่ เป็นอิสระ 81.36% อันดับ 4 ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจนกับสื่อที่มีการนำเสนอข้อมูลบิดเบือน ยั่วยุ เกินจริง หรือสร้างกระแสปลุกปั่นในสังคม 67.29%

8. แนวทางการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ควรทำดังนี้ อันดับ 1 เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกชนชั้น ทุกอาชีพ สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ควรจะได้รับ กระจายรายได้สู่ประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม 92.50% อันดับ 2 ประชาชนควรนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต รู้จักพึ่งตนเอง ไม่รอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือนโยบายประชานิยมเพียงอย่างเดียว 83.24%

อันดับ 3 จะต้องสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรมจริยธรรมให้กับผู้นำ นักการเมือง และข้าราชการ 82.06% อันดับ 4 กฎหมายจะต้องเป็นธรรม ใช้ได้สำหรับทุกกลุ่ม ไม่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 65.65%

9. แนวทางการปฏิรูปการทุจริตคอร์รัปชัน ควรทำดังนี้ อันดับ 1 ควรมีการดำเนินคดี ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด บทลงโทษต้องรุนแรง ทำให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง กำหนดระยะเวลาของอายุความให้เหมาะสม 91.56%

อันดับ 2 บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่เลือกปฏิบัติ 84.17%

อันดับ 3 ปลูกฝัง สร้างจิตสำนึก ค่านิยมของคนในชาติ ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมจริยธรรม 80.66% อันดับ 4 มีการแต่งตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ 65.06%


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

364

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน