'นิตยากล้วยตาก'อร่อยพื้นบ้านขายทั่วไทย
'นิตยากล้วยตาก'อร่อยพื้นบ้านขายทั่วไทย
'นิตยากล้วยตาก' อร่อยพื้นบ้าน ขายทั่วไทย-เล็งตลาดอาเซียน : โดย...ธานี กุลแพทย์
ผลิตภัณฑ์ "กล้วยตาก" เป็นเมนูของฝากอีกชนิดที่สร้างชื่อให้ จ.พิษณุโลกมายาวนาน ปัจจุบันได้พัฒนาคุณภาพ กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่ง "เจนวิทย์ จันทรา" เจ้าของแบรนด์ "กล้วยตากนิตยา" แห่ง อ.บางกระทุ่ม ได้เร่งยกระดับให้มีมาตรฐานเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ขณะเดียวกันปรับตัวเตรียมพร้อมเปิดประชาคมอาเซียนปี 2558
"เจนวิทย์" เล่าให้ฟังว่า กล้วยตากนิตยา เป็นกิจการของครอบครัวเริ่มเมื่อเกือบ 10 ปี เป็นการผลิตแบบทั่วไป ขณะที่กลุ่มลูกค้าเป็นคนในพื้นที่ เมื่อจำหน่ายไปได้ระยะหนึ่งพบว่าลูกค้าเพิ่มขึ้น จึงขยายกิจการและทำระบบมาตรฐานการตากกล้วยในโดม โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และเป็นระบบปิด มีการคัดเลือกกล้วยที่มีคุณภาพ เหมาะแก่การทำกล้วยตาก บวกกับการปรุงรสชาติที่หวานพอดี สะอาดถูกสุขอนามัยจึงเป็นที่นิยมของตลาด กระทั่ง ปี 2555 ผลิตภัณฑ์ "นิตยากล้วยตาก" ได้รับการคัดเลือกเป็นสินค้าโอท็อป จ.พิษณุโลก
"วัตถุดิบหลักคือกล้วย เราหาซื้อในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเกษตรกรปลูกกันมาก จึงไม่ค่อยพบปัญหาวัตถุดิบขาดตลาด แต่เราจะเน้นการคัดเลือกกล้วยที่มีคุณภาพ การพัฒนาในแง่จะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานมากกว่า ทั้งเรื่องรสชาติ แพ็กเกจจิ้ง"
ผลิตภัณฑ์อร่อยแบรนด์ "นิตยากล้วยตาก" ประกอบด้วย กล้วยตากอบน้ำผึ้ง 60% และกล้วยน้ำว้าอบแห้ง 40% เจนวิทย์บอกว่า แต่ละปีมียอดขายสูงสุดช่วงเมษายน, ตุลาคม-มกราคม จำหน่ายตลาดในประเทศเป็นหลัก แต่จากการตอบรับของลูกค้าเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง จึงเริ่มหาช่องทางจำหน่ายตลาดต่างประเทศ เป้าหมายคือกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะการเปิดเสรีอาเซียน ปี 2558 ดังนั้นจึงเน้นการผลิตที่ใช้ระบบจีเอพี (GMP) และเอชเอซีซีพี (HACCP) เพื่อเป็นแนวทางประกันคุณภาพสินค้า และยกระดับมาตรฐานการผลิต
ด้วยขั้นตอนการผลิตที่ใช้โดมตากกล้วย มีเครื่องจักรช่วยบางขั้นตอน มีการควบคุมคุณภาพ แต่ยังไม่มีการเก็บข้อมูลปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ผลิต ความสูญเสีย และต้นทุนการผลิต เป็นเหตุผลให้เจนวิทย์เข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค กระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2555 และจากการเข้ารับการอบรม พบว่าต้องปรับแก้การสูญเสียของกล้วยในกระบวนการบ่มสุก ซึ่งพบเสียหายจากการบ่มคิดเป็นร้อยละ 10 เพราะกล้วยมีตำหนิทั้งจากการขนถ่าย หรือเป็นกล้วยอ่อน
เช่นเดียวกับการตากกล้วยไม่ได้คุณภาพ เกิดสีน้ำตาลไหม้ กล้วยผิดรูป มีตำหนิ ที่คิดเป็นร้อยละ 35 จึงปรับเปลี่ยนแล้วนำหลักการตากกล้วยด้วยตู้อบลมร้อนมาใช้ โดยออกแบบจุดวางพัดลมเพื่อให้อัตราการไหลของลมร้อนทั่วถึง คัดแยกกล้วยที่มีตำหนิ ฯลฯ ภายหลังปรับปรุงพบว่าลดการสูญเสียกล้วยตากที่ไม่ได้คุณภาพจากเดิมร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 21 ซึ่งนั่นหมายถึงลดต้นทุนของบริษัทลงด้วย
ทว่าอย่างไรก็ตาม แม้กิจกรรมจะบรรลุเป้าหมาย เจนวิทย์ ได้ยืนยันจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการขยายตลาด ส่วนผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ติดต่อไปได้ที่ 59 หมู่ 7 ต.บางกระทุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก หรือโทร.08-1619-9691
--------------------
('นิตยากล้วยตาก' อร่อยพื้นบ้าน ขายทั่วไทย-เล็งตลาดอาเซียน : โดย...ธานี กุลแพทย์)