คสช.ลุยปฏิรูปรูปพลังงาน รับข้อเสนอปรับโครงสร้างราคาจากภาคประชาชน


คสช.

‘บิ๊กจิน’ถกปฏิรูปพลังงานคืบ ประเดิมปรับโครงสร้างน้ำมัน-แก๊ส

“ประจิน” ถกผู้เกี่ยวข้องด้านพลังงานครั้งที่ 2 ได้ข้อยุติ เตรียมคลอดร่างปฏิรูปพลังงานภายใน มิ.ย.ก่อนเดินหน้าปฏิรูป 3-6 เดือน เร่งปรับโครงสร้างน้ำมันที่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอข้อมูลแก่ประชาชนในทิศทางเดียวกัน…

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศ อาทิ กระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน มาหารือเป็นครั้งที่ 2 หลังการหารือในครั้งแรก ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปพลังงาน ในการจัดทำแผนปฏิรูปพลังงานไทย ให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศ ภายในเดือน มิ.ย.นี้
      
ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า การหารือครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นร่างปฏิรูปพลังงานประเทศ ภายในสิ้นเดือนนี้และจะใช้เวลาในการปฏิรูป 3-6 เดือน โดยเรื่องเร่งด่วนจะดำเนินการ ได้แก่ การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและแก๊ส จากนั้นจะปฏิรูปโครงสร้างพลังงานทุกด้านที่จะใช้ในระยะยาว รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยสิ่งเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือ การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันที่จะให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ส่วนโครงสร้างอื่นๆ จะตามมาทั้งเรื่องการปฏิรูปแหล่งพลังงาน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่าจะเดินกันอย่างไร การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม การแยกท่อก๊าซ การหาเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วนมาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลนั้น ยอมรับว่า ช่วงสั้นจำเป็นต้องตรึงราคาไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ระยะหนึ่ง ส่วนการจะช่วยเหลือเป็นรายกลุ่มอย่างไรบ้าง จะหารือในคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย.)

นอกจากนี้ จากการหารือกับทุกฝ่าย ซึ่งได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากกลุ่มของน.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ได้เสนอแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน การใช้ก๊าซสำหรับกลุ่มปิโตรเคมี รวมถึงการนำเสนอข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเสนอการปรับโครงสร้างราคา และข้อมูลบางส่วนของระบบสัมปทานปิโตรเลียม จากนั้นเป็นการนำเสนอข้อมูลของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน มีการนำเสนอข้อมูลจากเดิมที่ได้ขอให้ไปจัดทำรายละเอียดมา เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โครงสร้างราคา ระบบสัมปทาน เป็นต้น
      
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงข้อมูลด้านพลังงานที่มาจากแหล่งเดียวกัน แต่มีการนำเสนอและมองไปคนละมุม ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนต่อประชาชนได้ ดังนั้นจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ต่อประชาชนไปในทิศทางเดียวกันและไม่มีการบิดเบือน

ด้าน ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ระบุว่า ได้เสนอข้อมูลให้คสช.ใน 3 เรื่องได้แก่ 1. ให้ทบทวนระบบการให้สัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตในการเปิดสัมทานปิโตรเลียมใหม่ และสัมปทานที่จะหมดอายุลงในอีก 7-8 ปีนี้ ส่วนของเดิมให้ดำเนินการไปตามปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศในอาเซียนเพื่อให้เป็นระบบสากล เพราะในภูมิภาคนี้ใช้ระบบดังกล่าวหมด และไม่ควรจะอ้างว่าไทยเป็นแหล่งผลิตขนาดเล็ก เพราะอินโดนีเซียมีแหล่งผลิตทั้งเล็ก และใหญ่ก็อิงระบบนี้หมด 2. การบริหารจัดการก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจี ควรจะแก้ไขมติ ครม.2551 ที่กำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสิทธิ์ในการใช้ก๊าซในอ่าวไทยร่วมกับประชาชน โดยให้ประชาชนมีสิทธิ์ก่อนลำดับแรก และที่เหลือหากต้องมีการนำเข้าให้ภาคปิโตรเคมีนำเข้าแทน
      
ส่วนประเด็นที่ 3. ได้เสนอให้ราคาน้ำมันที่อิงตลาดสิงคโปร์ปัจจุบัน ควรอิงราคาหน้าโรงกลั่นตลาดสิงคโปร์ ไม่ใช่อิงราคาหน้าโรงกลั่นบวกค่าพรีเมียมที่ได้จากการนำเข้า ซึ่งเป็นการบวกค่าขนส่งเข้าไปทั้งที่ค่าขนส่งเหล่านั้นได้เกิดขึ้นจริงแล้วในราคาน้ำมันดิบ แต่เมื่อไทยมีโรงกลั่นเองแล้วกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปก็ไม่ควรจะอิงราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเช่นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีการบวกส่วนนี้ไปประมาณ 70 สตางค์ต่อลิตร
      
เช่นเดียวกับ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า ได้เสนอ 3 เรื่อง ได้แก่ โครงสร้างราคาพลังงาน ท่อก๊าซฯ และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเรื่องราคาน้ำมันต้องการให้ทำโครงสร้างแยกราคาออกมาให้ชัดว่าชนิดใดเป็นก๊าซ เป็นน้ำมัน ไม่ใช่เอาคนใช้น้ำมันไปอุ้มราคาก๊าซฯ จนสับสนไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้ราคาน้ำมันต่ำเป็นประชานิยม แต่ต้องการเน้นความโปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้ใช้จริงๆ

สำหรับท่อก๊าซธรรมชาติ ได้เสนอให้แยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติออกมาทั้งบนและทางทะเลตามคำสั่งศาลปกครอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ ส่วนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้เสนอว่าจะต้องยกเลิกอะไร แต่ได้เสนอข้อมูลให้เป็นธรรม ไม่ได้สลับซับซ้อนอย่างที่เป็นอยู่.


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

310

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน