ข่าวหน้า 1 บิ๊กตู่สลายสีเสื้อลดขัดแย้งตั้งศูนย์ปรองดอง
‘ประวิตร’นั่งปธ.ที่ปรึกษาคสช. ‘สมคิด-อุ๋ย-วิษณุ-อนุพงษ์’กก. ร่นเคอร์ฟิวเหลือเที่ยงคืน-ตีสี่
“ประยุทธ์” เร่งเครื่องปั่นผลงาน คสช. มอบ การบ้าน 8 ข้อใหญ่ วางกรอบบริหารราชการแผ่นดิน เฟ้นกุนซือตั้งที่ปรึกษา คสช.-ที่ปรึกษา ด้านความมั่นคงและที่ปรึกษาระดับนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ผุดไอเดียสร้างสภาสมานฉันท์ เล็งตั้ง “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป” ทั้งในส่วนกลาง และประจำพื้นที่กองทัพภาคที่ 1-4 สลายสีเสื้อลดไฟขัดแย้งกรุยทางสู่การปฏิรูปทุกมิติ ดึงทุกภาคส่วนร่วมวงหารือจัดเวทีเสวนา มทภ.1 ติวเข้ม กกล.รส. เอาจริงจับกุมพวกดื้อแพ่งไม่มารายงานตัว ไล่ล่ากวาดล้างกลุ่มติดอาวุธ พ้นเส้นตายคำสั่งรายงานตัวไร้เงา “จารุพงศ์” ยังกบดานโพสต์เฟซบุ๊กลั่นพร้อมรบสู้งานใหญ่ ด้าน “จาตุรนต์” แถลงข่าวต้านรัฐประหารต่อหน้าสื่อต่างประเทศ-สื่อไทยก่อนถูกทหารเข้าคุมตัวตามคำเชิญ “วินธัย” ชี้ความผิดชัดเจนต้องขึ้นศาลทหาร
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ประกาศถวายสัตย์ขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อเดินหน้าแก้ไขวิกฤติของประเทศ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ได้เร่งวางแนวทางการบริหารราชการให้มีผลงานเป็นรูปธรรมเห็นผลโดยเร็ว พร้อมปรับโครงสร้างการทำงาน คสช.ให้จัดตั้ง “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป”
“บิ๊กตู่” ขันนอตรีดผลงาน คสช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 27 พ.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงาน คสช. โดยมีการพูดถึงแนวทางในการทำงานของ คสช. นับจากนี้ เพื่อให้เป็นรูปธรรมและเห็นผลโดยเร็ว โดยเฉพาะการเร่งจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวให้เสร็จตามกำหนด แล้วให้ติดตามเรื่องผลผลิตทางเกษตรที่จะมีปัญหาตามมา
เล็งตั้งสภาสมานฉันท์สลายสีเสื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์แสดงความเป็นห่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อสีต่างๆในขณะนี้ โดยให้แนวทางกับคณะทำงานไปหาวิธีในการสลายสีเสื้อต่างๆ ด้วยการตั้ง “สภาสมานฉันท์” ขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเร่งดำเนินการให้ดีที่สุดเพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมกันนี้ หัวหน้า คสช.ยังจะเดินหน้าในการตั้งสภาปฏิรูปและสภานิติบัญญัติ เพื่อเร่งหาทางทางออกนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้เมื่อใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นตัวกำหนด
แจงดันศูนย์ปรองดองเพื่อปฏิรูป
ต่อมาเวลา 14.30 น. ที่อาคารกำลังเอก สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลการประชุม คสช.ว่า ที่ประชุมได้พูดถึงการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นควบคู่ไปกับการสร้างความสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งให้กับคนในชาติ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปด้านต่างๆ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้มอบหมายให้กองทัพภาคต่างๆจัดตั้ง “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป” ขึ้นในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นศูนย์ให้ข้อมูลความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายต่างๆนำข้อมูลไปบิดเบือนให้เกิดความไม่เข้าใจ โดยได้สั่งการให้เร่งตั้งศูนย์และแนวทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ล่าแก๊งแพร่คลิปให้ร้ายทหาร
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ในสังคมออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ข้อความหรือคลิปที่พยายามทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารลุแก่อำนาจ ยกตัวอย่างเช่น คลิปของบุคคลแต่งกายคล้ายทหารเข้าไปในร้านสะดวกซื้อเพื่อข่มขู่เอาสินค้าหรือสิ่งของ รวมไปถึงคลิปของบุคคลแต่งกายคล้ายทหารใช้คำพูดไม่เหมาะสมกับผู้ชุมนุมต่อต้าน เป็นต้น คสช.เห็นว่าการกระทำเช่นนี้ต้องการสร้างให้เกิดความเกลียดชังต่อเจ้าหน้าที่ จึงขอให้หยุดดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารทุกคนปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกรอบ และอดกลั้นในทุกๆเรื่อง เป็นนโยบายของหัวหน้า คสช.ที่ต้องการให้ทำหน้าที่ในขอบเขตที่เหมาะสม ส่วนผู้ที่กระทำไม่เหมาะสมในการเผยแพร่หรือโพสต์ข้อความต่างๆ คสช.กำลังดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเอาผิด
วอนอย่าตกเป็นเครื่องมือพวกยุยง
พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษก คสช.กล่าวว่า ขอความร่วมมือกับสื่อมวลชนทำความเข้าใจกับผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวว่า อย่าได้ตกเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่มที่ต้องการแสดงออกถึงความคิดของตนเองที่สามารถรับฟังได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย เพราะอาจถูกโน้มน้าวและชักนำมา คนที่ชักชวนมาก็ไม่ได้มาปรากฏตัว คนที่มาก็จะได้รับความเดือดร้อน เพราะจะถูกจับกุม ดังนั้นขอความกรุณาอย่าตกเป็นเครื่องมือ
“ประยุทธ์” สั่งทำการบ้าน 8 ข้อใหญ่
พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษก คสช. แถลงว่า หัวหน้า คสช.ได้สั่งการ 8 เรื่อง ดังนี้ 1.ในการบริหารราชการกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการต่างๆ คสช.ได้จัดคณะทำงาน มี ผบ.เหล่าทัพปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง เพื่อกำกับราชการให้เป็นไปตามนโยบาย และเป็นไปตามระเบียบ และระบบราชการที่โปร่งใส 2.เรื่องใดอยู่ในอำนาจนายกฯและคณะรัฐมนตรี เป็นอำนาจของหัวหน้า คสช.แต่เพียงผู้เดียว โดยให้ทุกส่วนราชการและฝ่ายต่างๆ ตรวจสอบกลั่นกรองให้ถูกต้อง 3.ปรับโครงสร้างการทำงาน คสช.โดยให้จัดตั้ง “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป” ประกอบด้วยศูนย์ปรองดองฯ ส่วนกลาง ดำเนินการโดย คสช.และศูนย์ประจำพื้นที่กองทัพภาคที่ 1- 4 ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรักความสามัคคี สลายสีเสื้อ เตรียมนำไปสู่การปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ต่อไปในอนาคต ส่วนแนวทางการเข้าร่วมในศูนย์ปรองดองฯ จะเป็นการสมัครเข้าร่วมจากทุกภาคส่วน ทุกฝ่าย ทุกสี และอาจจะคัดผู้นำ และแกนหลักในแต่ละกลุ่มเข้าประชุมหารือ จัดเวทีเสวนา
ลัดขั้นตอนธุรการเพื่อรวดเร็ว
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า 4.กำหนดให้ฝ่ายต่างๆของ คสช. ดำเนินการดังนี้ 4.1 กำหนดกรอบทำงานให้ชัดเจน โดยออกคำสั่งย่อย สร้างความเข้าใจการทำงานของข้าราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม 4.2 เร่งรัด ขับเคลื่อน ติดตาม กำกับดูแลงานของแต่ละกระทรวงที่รับผิดชอบ 4.3 ลำดับการทำงาน แผนงานเฉพาะหน้าเร่งด่วน แผนงานโครงการที่พร้อมปฏิบัติ แผนงานต่อไป แผนงานระยะยาว งานริเริ่ม งานที่ต้องผูกพัน ทุกแผนงานต้องคัดกรองอย่างรอบคอบ และลดเวลาธุรการให้เกิดผลต่อประชาชนและประเทศชาติโดยเร็ว 4.4 การดำเนินการตามแผนงานโครงการของทุกกระทรวงต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เสียวินัยการเงินการคลัง และ 4.5 สรุปรายงานผลการปฏิบัติงานทุกส่วนราชการให้กับหัวหน้า คสช.ทราบทุกสัปดาห์ ประกอบด้วย แผนการดำเนินงานที่สำคัญ แผนงานในอนาคต และปัญหาข้อขัดข้อง
ออกตัวทหารแค่กำกับดูแล ขรก.
พ.อ.วินธัยกล่าวอีกว่า 5.สำหรับแผนงานโครงการที่ริเริ่มใหม่นำเข้าบรรจุในแผนงบประมาณปี 58 6.การอนุมัติหรือใช้จ่ายงบประมาณของทุกส่วนราชการต้องโปร่งใส พึงพอใจประชาชน ไม่มีผลผูกพันกับรัฐบาลใหม่ 7.การบริหารราชการทุกเรื่อง ไม่ใช่ทหารจะไปสั่งการส่วนราชการให้ไปทำอะไรก็ได้ที่ผิดระเบียบ หรือผิดข้อกฎหมายปกติ เพียงแต่ไปกำกับดูแล เร่งรัด ติดตาม ขับเคลื่อน ให้การทำงานเร็วขึ้นเท่านั้น และ 8.ปัจจุบัน คสช.อยู่ระหว่างดำเนินการแต่งตั้งที่ปรึกษา 2 ระดับ ได้แก่ 1.ที่ปรึกษาระดับนโยบาย ประกอบด้วยที่ปรึกษา คสช. และที่ปรึกษาด้านความมั่นคง 2.ที่ปรึกษาระดับนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย ที่ปรึกษาของฝ่ายต่างๆใน คสช. โดยที่ปรึกษาทุกระดับจะได้รับการพิจารณาและอนุมัติโดยหัวหน้า คสช.
ย้ำ “ปู” ไปต่างประเทศต้องขอ คสช.
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกักตัว ขอยืนยันว่าได้รับการปล่อยตัวแล้วจริง โดยมีเงื่อนไขตามประกาศของ คสช. หากจะเดินทางออกนอกประเทศต้องขออนุญาตจากทาง คสช.ก่อน อย่างไรก็ตาม การควบคุมตัวบุคคลระดับแกนนำ ส่วนใหญ่มีการคุมตัวไม่เกิน 3 วัน โดยรายละเอียดของผู้ที่เข้ารายงานตัว และผู้ที่ถูกควบคุมตัวจะมีการชี้แจงในวันที่ 27 พ.ค.อีกครั้ง
ตั้ง “ประวิตร” ปธ.กุนซือ คสช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้ลงนามในคำสั่ง คสช. (เฉพาะ) ที่ 42/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา คสช. เพื่อให้การบริหารราชการของ คสช.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ จึงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา คสช. ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม เป็นประธาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. รองประธาน (ดูแลด้านความมั่นคง) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกและ รมว.คลัง รองประธาน (ดูแลด้านเศรษฐกิจ) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง ที่ปรึกษา (ดูแลด้านต่างประเทศ) นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พาณิชย์ ที่ปรึกษา (ดูแลด้านการพาณิชย์) นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ที่ปรึกษา (ดูแลด้านกฎหมาย) นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ ที่ปรึกษา (ดูแลด้านวิทยาศาสตร์์) พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีต ผบ.ทอ. ที่ปรึกษา พล.อ.นภดล อินทปัญญา ที่ปรึกษา และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรอง ผบ.ทบ. ที่ปรึกษาและเลขานุการ
บี้ไฟเขียวปล่อยงบบีโอไอ 7 แสนล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. คณะรักษา ความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ทั้ง 5 คน นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะที่ปรึกษา คสช. ที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง เพื่อหารือถึงงานสำคัญเร่งด่วนที่ คสช.สมควรต้องเร่งดำเนินการ โดยได้ข้อสรุปว่างาน 2 เรื่องที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ 1. ต้องเร่งรัดให้คณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดบีโอไอ สามารถทำงานได้ เพื่อให้มีการพิจารณาการยื่นขออนุมัติขอรับการสนับสนุนการลงทุนจากบีโอไอ วงเงิน 7 แสนล้านบาท โดยให้เริ่มดำเนินการได้ภายในสัปดาห์หน้า และ 2. การออกใบอนุญาต รง. 4 หรือใบอนุญาต ประกอบกิจการ เพื่ออนุมัติการขอใบอนุญาตประกอบโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 870 แห่งที่ค้างอยู่
หน.คสช.เบรกนักข่าวบี้ถามเชิงรุก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. ที่กอง บัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน พล.ต.พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก ได้เชิญตัวผู้สื่อข่าวสายทหาร ประกอบด้วยนายศุภฤกษ์ ธงไชยฤทธิ์ ผู้สื่อข่าว นสพ.ไทยรัฐ และ น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าว นสพ.บางกอกโพสต์ เข้าพบที่ห้องทำงาน เพื่อแจ้งข้อความจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช.ให้รับทราบ พร้อมขอความร่วมมือกรณีการตั้งคำถามกับหัวหน้า คสช. โดยเฉพาะที่ได้ซักถามหัวหน้า คสช.หลังการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 พ.ค. เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์รู้สึกไม่ดีที่ถูกตั้งคำถามในลักษณะรุกไล่จนทำให้กระทบความเชื่อมั่นในตัวผู้นำประเทศ
“พล.อ.ประยุทธ์ฝากมาบอกว่า วันนี้ท่านไม่ได้เป็นแค่ ผบ.ทบ.เท่านั้น แต่เป็นถึงผู้นำในการบริหารประเทศ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร ดังนั้น การจะตอบคำถามอะไรออกไปสู่สาธารณะ จำเป็นต้องใคร่ครวญอย่างดี และขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาในการตอบคำถามเหล่านั้น โดยเฉพาะการแต่งตั้งนายก-รัฐมนตรี การถามในลักษณะจี้เช่นนั้นไม่เหมาะสม จึงขอความร่วมมืออย่าถามในลักษณะการรุกไล่อีก” เลขานุการกองทัพบกกล่าว
ติงหยุดคอมเมนต์บนเฟซบุ๊ก
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เลขานุการกองทัพบกยังได้พูดถึงเฟซบุ๊กของ น.ส.วาสนา กองทัพบกขอความร่วมมือไม่ให้บุคคลเข้ามาคอมเมนต์ เพราะทำให้เกิดความขัดแย้ง ขณะที่ น.ส.วาสนาชี้แจงว่าไม่อาจปิดคอมเมนต์ของตนเองได้ เพราะมีเพื่อนจำนวนมาก บุคคลที่เป็นเพื่อนเข้ามาคอมเมนต์จะทะเลาะกันเอง เพราะมีทั้งสองสี แม้ก่อนหน้านี้ได้ออกประกาศในเฟซบุ๊กเชิงขอร้องไปแล้ว ส่วนผู้ติดตามที่เข้ามาคอมเมนต์นั้นได้ปิดไปแล้ว
ชาวบ้านขอลดเวลาเคอร์ฟิว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กองทัพบกเปิดสายด่วนให้ประชาชนทั่วไปได้โทรศัพท์มาร้องเรียนที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร ปรากฏว่า ในแต่ละวันมีประชาชนโทรศัพท์เข้ามามากกว่าวันละ 700 ราย มีทั้งการชื่นชมและตำหนิ รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการประกาศเคอร์ฟิว ส่วนใหญ่ร้องเรียนให้ลดเวลาเคอร์ฟิว เพราะกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป
มทภ.1 หัวโต๊ะติวเข้ม กกล.รส.
ขณะที่เวลา 09.30 น. ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติและข้อเน้นย้ำนโยบายสำคัญ โดยมีทุกส่วนราชการเข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียง อาทิ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 พล.ท.พิสิทธิ์ สิทธิสาร แม่ทัพน้อยภาคที่ 1 พล.ท.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) พล.ต.ท.จักร-ทิพย์ ชัยจินดา ผช.ผบ.ตร.ในฐานะรักษาการ ผบช.น. พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร. 2 รอ.) ตลอดจน ผบ.ระดับกองพล ผู้บังคับหน่วย และ ผบก.น. 1-9
สั่งเข้มรวบแกนนำ-กองกำลังติดอาวุธ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื้อหาการประชุม พล.ท.ธีรชัยเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ กกล.รส. 4 ประเด็น คือ 1.การควบคุมบุคคล ติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมายที่ไม่เข้ารายงานตัว กองกำลังติดอาวุธ และแกนนำปลุกระดมมวลชนทุกคน การเข้าตรวจค้นแหล่งซุกซ่อนอาวุธสงคราม วัตถุระเบิด อย่างต่อเนื่องในพื้นที่รับผิดชอบ 2.การควบคุมสื่อทั้ง 5 ประเภทอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ใช้สื่อยุยงปลุกปั่น ชักชวนเข้าร่วมชุมนุม และหมิ่นสถาบัน 3.ด่านตรวจในพื้นที่รับผิดชอบ เน้นการค้นอาวุธ วัตถุระเบิด สกัดมวลชนเข้ามาในพื้นที่ กทม. 4.ควบคุมพื้นที่ถึงระดับหมู่บ้าน ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงวัตถุประสงค์ 10 ประการ นโยบายเร่งด่วน 5 ประการ โดยทำควบคู่กับนโยบายเร่งด่วน 7 ประการ และขั้นตอนการดำเนินการของ คสช. 3 ระยะ
ฟันเด็ดขาดกำลังพลแตกแถว
ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุมต่อต้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก เน้นควบคุมแกนนำ เจรจาทำความเข้าใจ พร้อมทั้งเข้าวางกำลังก่อนการชุมนุม ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลักควบคุมพื้นที่ คลี่คลายสถานการณ์ หลีกเลี่ยงความรุนแรง ไม่ให้เกิดผลกระทบการบาดเจ็บ สูญเสียต่อประชาชน ส่วนมณฑลทหารบกจังหวัดทหารบกเป็นหน่วยหลักบูรณาการกำลังทุกภาคส่วนรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ประสานกับผู้ว่าฯ ผบก.ภ. ใกล้ชิด กอ.รมน.จว.ให้ใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่จากทุกส่วนราชการนำมวลชนมาสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน อยากให้นำความมุ่งหวังไปแจ้งให้กับผู้บังคับหน่วยและกำลังพลในสังกัดให้เข้าใจ หากมีผู้ใดขัดขวาง ละเว้น หรือให้การสนับสนุนกลุ่มบุคคลที่เสียประโยชน์ อันจะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด
ลั่นถืออาวุธคือโจรจัดการเฉียบ
จากนั้น พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 ให้สัมภาษณ์ว่า เชิญกองกำลังรักษาความสงบทุก กองทัพภาค มารับทราบแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเน้นย้ำการรักษาความสงบ เพื่อจะให้หัวหน้า คสช. ดำเนินงานบริหารประเทศได้อย่างเร่งด่วน สะดวก ราบรื่น พร้อมกำชับให้กองกำลังทุกกองทัพภาค รวมถึง กทม.ติดตามจับกุมกลุ่มคนที่ติดอาวุธให้ได้อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาจับได้มากพอสมควร เขาเตรียมเข้ามาก่อเหตุกับคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งหัวหน้า คสช.ยอมไม่ได้ คนที่ถืออาวุธสงครามถือว่าเป็นโจรให้ดำเนินการเด็ดขาด จะใช้กองกำลังตำรวจทุกพื้นที่และทุกภาค เป็นส่วนแรกเข้าไปดำเนินการ ทหารเป็นผู้สนับสนุน กลุ่มคนที่ออกมาต่อต้าน คสช.มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรกที่ยังไม่เข้าใจจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ส่วนกลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่สะสมกำลังอาวุธสงคราม กลุ่มนี้จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด กลุ่มที่ออกมาต่อต้าน คสช.รู้หมดแล้วว่าใครถูกจ้างหรือมาด้วยความสมัครใจ อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการอยู่ ส่วนที่มีประชาชนนำสิ่งของปะปนสิ่งของอันตรายมามอบให้เจ้าหน้าที่ทหารนั้น ได้สั่งการไปยังทหารว่าไม่ต้องระแวง สามารถตรวจสอบ หากจับได้จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด
ดื้อแพ่งไม่รายงานตัวเจอจับกุม
แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวว่า ส่วนการเรียกบุคคลมารายงานตัว จะดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมทั้งจับกุมดำเนินคดี คนที่มารายงานตัวแล้วอาจเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจก่อนปล่อยกลับบ้าน ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขผู้ถูกควบคุมตัวหรือผู้มารายงานตัว คสช.ทยอยปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว ยืนยันว่าคนที่ถูกควบคุมตัวสบายดี คนที่ปล่อยตัวไปแล้วมีการเซ็นรับรองว่าจะไม่ไปปลุกปั่นหรือไปนำมวลชนมาชุมนุม หากฝ่าฝืนจะมีมาตรการดำเนินการอย่างเด็ดขาด ซึ่งทุกคนพร้อมรับเงื่อนไขดังกล่าว ส่วนแกนนำ นปช. ที่ยังไม่ได้ปล่อยตัวมีความเป็นอยู่ที่ดี กินได้ นอนหลับ ถ้าถึงเวลาเหมาะสมจะปล่อยตัวออกมา แต่คนมีคดีติดตัวต้องถูกดำเนินคดีต่อ สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือ ประชาชนถูกยุยงปลุกปั่นผ่านสื่อต่างๆ อยากให้ใช้สติเสพข้อมูลข่าวสาร เพราะมีข่าวลือมาก ส่วนการควบคุมสื่อให้ติดตามดูพฤติกรรม ไม่ได้สั่งปิดสื่อ ขออย่าเสนอข่าวให้เกิดความแตกแยก
“ฐิติมา” มาทันเวลารายงานตัว
ด้านความคืบหน้าการเข้ารายงานตัวของบุคคลกลุ่มต่างๆตามคำสั่ง คสช. เป็นวันที่ห้า และเป็นวันสุดท้ายตามเส้นตายตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 41/2557 ที่ให้ผู้ที่มีชื่อตามคำสั่ง คสช. ที่ 12/13/14/15/16/18 และคำสั่ง คสช.ที่ 19/2557 ที่ยังไม่ได้มารายงานตัว ให้มารายงานตัวในวันที่ 27 พ.ค.เวลา 10.00-12.00 น. หากไม่มาถือว่าฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกสั่งห้ามกระทำการใดๆเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน เมื่อเวลา 09.40 น. ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ นางฐิติมา ฉายแสง อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้มีรายชื่อตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3 ถูกเรียกให้มารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. เดินทางเข้ามารายงานตัว ได้เปิดประตูรถโบกมือทักทายผู้สื่อข่าวซึ่งอยู่ถนนตรงข้ามหอประชุมกองทัพบก
“เติ้ง” เข้า 1 ชม. ปล่อยกลับบ้าน
จากนั้นผู้มีรายชื่อถูกเรียกเข้ารายงานตัว 16 คน ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 23 ทยอยเดินทางเข้ารายงานตัว โดยเวลา 10.00 น. นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย เดินจาก กบช.น.มายังหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ และให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารายงานตัวว่า ไม่ได้เตรียมเสื้อผ้ามาด้วย เพราะเชื่อว่าจะได้ปล่อยตัว เนื่องจากไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง ไม่เคยขึ้นเวที แต่พอมีข้อมูลช่วยอะไรได้บ้างเช่น เรื่องอบายมุข ตามมาด้วยนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) จากนั้นนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เดินทางมาพร้อมนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งหลังนายบรรหารเข้าไปประมาณ 1 ชั่วโมงจึงเดินทางออกมา โดยไม่ได้ถูกควบคุมตัว
“ผดุง” คนสนิท “แม้ว” มาแล้ว
ต่อมา 10.50 น. แนวร่วมกลุ่มคนเสื้อแดงทยอยเข้ารายงานตัว อาทิ นายทยากร ยศอุบล นายแดง แซ่เฮง นายอดิศร ผลลูกอินทร์ นางจุรีพร สินธุไพร ตามมาด้วยนายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเลขานุการ รมว.มหาดไทย คนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จากนั้นเวลา 10.55 น. น.ส.รังสิมา รอดรัศมี และนายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้ารายงานตัวพร้อมกัน โดย น.ส.รังสิมาให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ก่อนรายงานตัวว่ายังงงๆอยู่ ไม่รู้ว่าโดนเรียกข้อหาอะไร ได้เตรียมเสื้อผ้าและของใช้อย่างน้อยอยู่ได้ 5 วัน ส่วนนายวิทยาระบุว่าไม่ได้กังวลหรือกลัวอะไร เคยมีประสบการณ์มาแล้วเตรียมตัวพร้อมถูกกักตัว นอกจากนี้ยังมีนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาชน (กวป.) เข้ามารายงานตัว ต่อมาเวลา 11.05 น. พ.ต.ท.กุลธน ส่งตัวแทนมาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ไม่สามารถมารายงานตัวได้ภายในวันที่ 27 พ.ค. ขอเข้ารายงานตัวภายหลัง ต่อมา พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน อดีต ส.ส.เพื่อไทยเข้ารายงานตัวเช่นกัน
ควบคุมไปเก็บตัวค่ายทหาร
กระทั่งเวลา 12.00 น. สิ้นสุดเวลาการรายงานตัวของ 16 คน ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 23 พบว่าขาดเพียงนายมาลัยรักษ์ ทองชัย โฆษกกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ที่ไม่มารายงานตัว ส่วน พ.ต.ท.กุลธน ประจวบเหมาะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ส่งตัวแทนแจ้งกับเจ้าหน้าที่ขอเข้ารายงานตัวในวันหลัง ส่วนที่ปล่อยตัวกลับทันทีมีเพียงนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทยเท่านั้น ขณะที่นายวิทยา แก้วภราดัย และน.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ถูกคุมตัวไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในข้อหากบฏ ส่วนคนอื่นๆรวมทั้งนายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเลขานุการ รมว.มหาดไทย คนสนิท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรวมถึงนางฐิติมา ฉายแสง อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้มีรายชื่อตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2557 ที่เข้ารายงานตัวในวันนี้ ทั้งหมดถูกคุมตัวไปยังค่ายทหาร
พ้นเส้นตายยังไร้เงา “จารุพงศ์”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมตามคำสั่ง คสช.ที่ 41/2557 ให้ผู้ที่มีรายชื่อตามคำสั่งฉบับที่ 12/13/ 14/15/16/18/19 ที่ยังไม่เข้ามารายงานตัว มารายงานตัวในวันที่ 27 พ.ค.ภายในเวลา 12.00 น. แต่ปรากฏว่ามีเพียงนางฐิติมา ฉายแสง อดีตโฆษกประจำสำนักนายกฯเท่านั้นที่มารายงานตัว ขณะที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด นายพายัพ ปั้นเกตุ นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และ นายชินวัฒน์ หาบุญพาด แกนนำแนวร่วม นปช. ที่มีรายชื่อตามคำสั่งที่ 3/2557 ยังไม่เข้ารายงานตัว ก่อนหน้านี้ นายชินวัฒน์ได้โพสต์เฟซบุ๊กสถานที่โพสต์ข้อความระบุว่าอยู่ที่ประเทศกัมพูชา
หน.พท.ลั่นพร้อมรบสู้งานใหญ่
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า “เพจนี้เรามีไว้สื่อสารกับ ปชช.รักประชาธิปไตยหัวใจเสรีไทยนะครับ สำหรับผู้เห็นต่างทีมงานขอแบน มันเป็นการรบครับ ไม่ใช่ห้องสัมมนา เมื่องานใหญ่เสร็จ เราพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น”
“อ๋อย” แถลงจุดยืนค้านรัฐประหาร
ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อาคารมณียา ย่านเพลินจิต นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ นัดผู้สื่อข่าวต่างประเทศแถลงข่าวถึงจุดยืนคัดค้านการรัฐประหาร โดยใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง เป็นภาษาอังกฤษ เนื้อหาสำคัญระบุว่า การรัฐประหารไม่ใช่ทางออก มีแต่จะทำให้ปัญหาเลวร้าย เกิดความขัดแย้งมากขึ้น หากผู้มีอำนาจจัดการได้ไม่ดีจะเกิดความรุนแรงสูญเสียมากยิ่งขึ้น การรัฐประหารก่อนจะมีพระบรมราชโองการตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช.ไม่อาจถือได้ว่าการรัฐประหารสำเร็จ การยึดอำนาจถือว่าขัดรัฐ– ธรรมนูญมาตรา 68 แต่เมื่อมีพระบรมราชโองการตั้งหัวหน้า คสช.ขึ้นแล้ว แม้จะไม่เห็นด้วยรัฐประหาร แต่ทราบว่า คสช.มีอำนาจตามระบบกฎหมายไทยหลายประการ จึงพร้อมจะให้ คสช.มาควบคุมตัว หากมีการดำเนินคดีพร้อมจะสู้คดีตามสิทธิ์อันพึงมี แต่การดำเนินคดีผู้เห็นต่างทางการเมืองไม่ควรใช้ศาลทหารแต่ควรให้ศาลยุติธรรมพิจารณาคดี
ปัดข่าวลือตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น
นายจาตุรนต์กล่าวว่า ส่วนกระแสข่าวคนในรัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยคุยเรื่องนี้กับอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย เหตุที่มาแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แม้จะเสี่ยงหน่อย แต่สื่อมวลชนที่นี่มีภูมิต้านทานดีกว่าสื่อไทย แม้จะถูกนำเสนอแต่ออกได้เพียงเล็กน้อย เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของ คสช.
ทหารเข้าเชิญตัวทุลักทุเล
จากนั้นเวลา 15.30 น. นายจาตุรนต์ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวไทยอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าเมื่อเริ่มไปได้เพียง 2-3 นาทีมีนายทหารกว่าสิบนายพร้อมอาวุธครบมือ ขึ้นมาถึงห้องแถลงข่าว ทำให้เกิดความโกลาหลเนื่องจากสื่อไทย สื่อต่างประเทศกรูกันเข้ามาล้อมวงเพื่อให้ได้ภาพวินาทีที่ทหารควบคุมตัวนายจาตุรนต์ เมื่อทหารเดินมาถึงระบุว่า “ไม่มีอะไรนะครับ ผมมาทำตามหน้าที่ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มาเชิญตัว” โดยนายจาตุรนต์ตอบว่า “ขอบใจ มากที่มาด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส สื่อมวลชนเพียงต้องการบันทึกภาพเท่านั้น” และทหารก็ยังย้ำเหมือนเดิมว่า “ไม่มีอะไรนะครับ ผมมาทำตามหน้าที่” จากนั้นจึงเข้าควบคุมตัวนายจาตุรนต์ไปด้วยความทุลักทุเล เนื่องจากสถานที่คับแคบ แต่มีสื่อมวลชนไทย สื่อมวลชนต่างประเทศจำนวนมากแย่งกันบันทึกภาพ แม้กระทั่งช่วงที่นำตัวจากที่นั่งแถลงข่าวมายังหน้าลิฟต์ที่อยู่ห่างกันไม่กี่เมตร ต้องใช้เวลานานร่วมสิบนาที จนถึงช่วงจังหวะลงมาถึงชั้นล่างกำลังจะนำตัวนายจาตุรนต์ขึ้นรถตู้ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ในที่สุดก็ผ่านไปได้ด้วยความเรียบร้อย ทหารนำนายจาตุรนต์ขึ้นรถตู้ออกไป ซึ่งเป็นความประสงค์ของนายจาตุรนต์ ที่จะทำให้เกิดภาพเผยแพร่ไปยังสื่อต่างประเทศในช่วงที่ถูกทหารควบคุมตัว โดยมีการร้องขอให้ทหารเข้ามาควบคุมตัวเองถึงสถานที่แถลงข่าวดังกล่าว
ชี้ “จาตุรนต์” ผิดชัดขึ้นศาลทหาร
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษก คสช. กล่าวว่า กรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ ไม่ได้เข้ารายงานตัวตามประกาศของ คสช. แต่แถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯว่า กรณีของนายจาตุรนต์ได้เรียกมารายงานตัว แต่ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามประกาศของ คสช. จนถึงขณะนี้เลยเวลาที่กำหนด ถือว่ามีความผิด การดำเนินการใดๆ จะเป็นเรื่องขั้นตอนตามกฎหมาย เพราะเนื้อหาที่นายจาตุรนต์เผยแพร่ก่อนหน้านี้มีส่วนในการสร้างปัญหานำมาสู่ความไม่สงบ ขัดนโยบาย คสช.อย่างชัดเจน การแถลงข่าวดังกล่าวเป็นเพียงความต้องการช่วงชิงพื้นที่สื่อ แต่ คสช.มั่นใจในเหตุผลความจำเป็น และมีข้อมูลเพียงพอในการทำความเข้าใจกับสื่อต่างประเทศว่า สิ่งที่ปฏิบัติเป็นเรื่องทางกฎหมาย นายจาตุรนต์มีความผิดฝ่าฝืนประกาศ คสช.ขัดต่อการประกาศกฎอัยการศึก รวมทั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุม และนำตัวเข้าสู่กระบวนการส่งฟ้องต่อศาลทหารต่อไป
ตำรวจพา “สุรทิน” เข้า มทบ.24
เมื่อเวลา 15.00 น. พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขต 2 จ.อุดรธานี เข้าพบ พล.ต.ต.บุญลือ กอบางยาง ผบก.ภ.จ.อุดรธานี เพื่อประสานพาเข้ารายงานตัวกับทหาร มทบ.24 ค่ายประจักษ์ศิลปาคม จากนั้น พล.ต.ต.บุญลือ ได้สั่ง พ.ต.ท.สุขกวี ศรีอีสาน รอง ผกก.จร.สภ.เมืองอุดรธานี พา พ.ต.ท.สุรทิน ไปรายงานตัวทันที โดย พ.ต.ท.สุรทิน กล่าวว่า “การที่ทหารเรียกตัวมาก็เป็นหน้าที่ ผมก็ทำตาม ไม่คิดจะหลบหนีไปไหน ผมอยากให้บ้านเมืองคืนสู่ภาวะปกติไม่อยากให้เกิดปัญหารุนแรงเกิดขึ้น”
เด้ง ผวจ.ขอนแก่นเข้ากรุผู้ตรวจฯ
วันเดียวกัน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 9 ตำแหน่ง ดังนี้ 1.นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผวจ.ขอนแก่น เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 2.นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผวจ.ชัยนาท เป็น ผวจ.ขอนแก่น 3.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผวจ.สระบุรี เป็น ผวจ.ชัยนาท 4.นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผวจ.เชียงใหม่ เป็น ผวจ.สระบุรี 5.นายสุริยะ ประสาทบัณฑิต ผวจ.ตาก เป็น ผวจ.เชียงใหม่ 6.นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็น ผวจ.ตาก 7.นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผวจ.นครราชสีมา เป็น ผวจ.พัทลุง 8.นายธงชัย ลืออดุลย์ ผวจ.บุรีรัมย์ เป็นผวจ.นครราชสีมา 9.นายเสรี ศรีหะไตร ผวจ.พัทลุง เป็น ผวจ.บุรีรัมย์ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.เป็นต้นไป
“ปู่พิชัย” แนะ คสช.โชว์โรดแม็ปสู่ ปชต.
วันเดียวกัน นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ภายหลังการรัฐประหาร นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ แนะนำลูกพรรคว่าขณะนี้มีรัฐประหาร บ้านเมืองทำอะไรไม่ได้ก็ควรอยู่เฉยๆนิ่งๆ ดูสถานการณ์ ควรคิดจะทำอย่างไรต่อไป หัวใจของพรรคประชาธิปัตย์ไม่อยากเห็นรัฐประหาร ต้องต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตย เตรียมพร้อมเลือกตั้ง แม้จะ
- องค์กรสิทธิฯประสานเสียงร้องให้ปล่อยตัว14นักศึกษา หลังถูกขังเรือนจำ กลุ่มปชต.ใหม่แถลงสู้ต่อ
- “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ทรงเป็นประธาน ในพิธีไหว้ครูและพระราชทานเหรียญรางวัลการศึกษาแก่นักเรียนนายร้อยประจำปีการศึกษา
- “รมว.พลังงาน” จ่อขยับภาษีแอลพีจีภาคขนส่ง
- สหรัฐพร้อมช่วยชาติในอาเซียนรับภาระผู้อพยพ
- “ททท.”ชี้คนจีนแห่เที่ยวไทย-คาดปีนี้ไม่ต่ำกว่า 6ล้านคน