กกต. เผย “3โมเดล” วันเลือกตั้ง


news_img_577192_1

         23เม.ย.2557 กกต.เปิดโมเดลวันเลือกตั้ง ส.ส. 3 ช่วง “20 ก.ค.-17 ส.ค.-14 ก.ย.”

        คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดการหารือกับตัวแทนพรรคการเมือง 58 พรรค เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ เดิมพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมส่งคนเข้าร่วมหารือด้วย แต่ได้ถอนตัวไป เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย ขณะที่ในการหารือ กกต.ได้เสนอกรอบวันเลือกตั้งสามช่วง คือ วันที่ 20 ก.ค. ,17 ส.ค. และ 14 ก.ย. 2557 แต่ตัวแทนพรรคการเมืองเสนอให้เลือกตั้งวันที่ 15 มิ.ย. หรือภายใน 45-60 วัน นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เป็นโมฆะ ในวันที่ 21 มี.ค. 2557

        ในการหารือระหว่าง กกต.กับตัวแทนพรรคการเมือง บ่ายวานนี้ (22 เม.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มีพรรคการเมืองเข้าร่วมประชุม 58 พรรคการเมือง ทั้งนี้ ทันทีที่มาถึงห้องประชุม นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ เป็นตัวแทนกลุ่มสหพรรคการเมือง ได้ยื่นหนังสือต่อ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. เพื่อขอให้ กกต.เร่งดำเนินการเลือกตั้งภายในวันที่ 15 มิ.ย. นี้ นอกจากนี้ นายพูลเดช กรรณิการ์ หัวหน้าพรรคเพื่ออนาคต ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ กกต. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพื่อปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง

       กกต.ชงเลือกตั้ง “20 ก.ค.-17 ส.ค.-14 ก.ย.”

       นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต. ได้รายงานร่างปฏิทินที่สำนักงาน กกต.ได้ตั้งไว้เป็นแนวทางในการกำหนดวันเลือกตั้ง 3 แนวทาง คือ

       แนวทางที่ 1 กรอบระยะเวลาจัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 20 ก.ค. 2557 โดยกรอบนี้มีระยะเวลา 59 วัน นับแต่ร่าง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 22 พ.ค. 2557

        แนวทางที่ 2 คือ เลือกตั้งในวันที่ 17 ส.ค. 2557 กรอบระยะเวลา 87 วัน นับแต่ประกาศร่าง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง วันที่ 22 พ.ค. 2557

       ส่วนกรอบที่ 3 เลือกตั้งวันที่ 14 ก.ย. 2557 ระยะเวลา 115 วัน นับแต่ประกาศร่าง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง วันที่ 22 พ.ค. 2557

       จากนั้น ได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่มี ส.ส. ได้แสดงความคิดเห็นเพียง 3 พรรค ฝ่ายละ 15 นาที คือ พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ (ปชป.งด) ภูมิใจไทย ทำให้พรรคที่เข้าร่วมการประชุมโต้แย้งและเกิดความวุ่นวายขึ้น เนื่องจากเห็นว่า กกต. ไม่เป็นธรรม ไม่เปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นเหมือนกันทุกพรรค

     นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. จึงเสนอว่า 15 นาทีในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะให้พรรคอื่นอภิปรายแทน แต่พรรคอื่นๆ ยังไม่พอใจและมีการวอล์คเอาท์จากห้องประชุม

      ด้าน นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านพรรคการเมือง ได้เสนอให้ที่ประชุมนัดประชุมครั้งต่อไป 3 วัน 3 คืน ซึ่งหัวหน้าพรรคเงินเดือนประชาชน แสดงความเห็นด้วยและให้ดำเนินการประชุมต่อไป

       “สมชัย”จี้เลิกคุกคามฝ่ายตรงข้าม

       ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ขอฝากโจทย์ให้ทุกพรรคการเมืองกลับไปพิจารณา คือ การร่วมสร้างบรรยากาศที่ดีในการเลือกตั้งรอบใหม่ ด้วยการบอกให้มวลชนฝ่ายของตนเองร่วมสร้างบรรยากาศที่ดี และเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในทุกพื้นที่ เพราะหากยังใช้มวลชนในฐานพื้นที่ของพรรคการเมือง สร้างความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม ไล่ล่า ข่มขู่ ปิดล้อมพื้นที่และถูกคุกคาม อาจเป็นผลให้บางพรรคการเมืองไม่สามารถลงหาเสียงในพื้นที่ภาคเหนือ หรือภาคใต้ได้อาจถูกนำไปเป็นประเด็นการฟ้องร้องในเรื่องของความเป็นธรรมได้

     นายสมชัย กล่าวชี้แจงด้วยว่า เหตุที่ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งอย่างเร็ว ในวันที่ 20 ก.ค. นั้น เป็นการกำหนดให้มีการเลือกตั้งใกล้กับ 60 วัน หลัง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่มีผลบังคับใช้ โดยเหตุที่กำหนดให้ใกล้เคียงกับกรอบ 60 วันมากกว่า 45 วัน เพราะมีหลายอย่างที่ กกต.ต้องดำเนินการ

      “โภคิน”ชี้กรอบ90วันนานเกินไป

       ขณะที่ นายโภคิน พลกุล ฝ่ายกฎหมาย ในฐานะตัวแทนพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอให้ กกต.พิจารณาจัดเลือกตั้งให้เกิดขึ้นโดยเร็วกว่ากรอบเวลาที่ กกต. กำหนดไว้ 90 วัน ซึ่งอาจนานเกินไป ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองไม่ได้ข้อยุติ ทั้งนี้หากว่า กกต. ร่นเวลาเลือกตั้งให้เร็วกว่าที่กำหนดเพียง 1 สัปดาห์เชื่อว่าจะเกิดผลดี

      นายโภคิน กล่าวว่า อีกไม่นานประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกำหนดงบประมาณ มาดำเนินการต่อการทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางอาเซียน รวมถึงจำเป็นต้องมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ต่อสภา หากมีรัฐบาลล่าช้า การทำงบประมาณอาจล่าช้า และเป็นไปได้ว่าจะมีกฎหมายงบประมาณได้ในช่วงเดือนมี.ค. 2558 หากเป็นเช่นนั้นประเทศพังพินาศแน่นอน

         ชทพ.เสนอเลือกตั้งใน45-60วัน

       นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวแสดงความเห็นว่า สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ การไม่ยอมรับการเลือกตั้งและขัดขวางการเลือกตั้งรอบใหม่ ส่วนวันลงคะแนนเลือกตั้งตนยืนยันในความเห็นเดิม คือ ยึดกรอบ 45-60 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หากเกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าว อาจทำให้มีการถกเถียงว่ากกต.ไม่ได้ปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย

       กกต.รับข้อเสนอไปถกรัฐบาลต่อ

      การหารือระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ประธานกกต.กล่าวต่อที่ประชุมว่า จะนำความคิดเห็นในที่ประชุม ข้อเสนอแนะทุกพรรคการเมือง รวมทั้งเอกสารที่ยื่นมาไปเป็นข้อพิจารณาเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง โดยกกต.จะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวนำไปหารือกับรัฐบาลต่อไป

     “ชพน.-พลังชล-มหาชน”หนุน20ก.ค.

     นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวภายหลังการหารือว่า พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) พลังชล และ พรรคมหาชน เห็นว่าวันที่เหมาะสมคือควรเลือกตั้งก่อนวันที่ 20 ก.ค. นี้

      นายนิกร จำนง จาก พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) กล่าวว่า ที่ กกต.เสนอรูปแบบแรกเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. หรือในวันที่ 59 ของกรอบเวลา 60 เหมาะสมแล้ว แต่กกต.ต้องเคร่งครัดกับผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง

     “อภิสิทธิ์”แจงเหตุงดร่วมถกเลือกตั้ง

       นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้แจ้งงดเข้าร่วมการประชุม เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะช่วงก่อนการประชุมได้มีการชุมนุมอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานที่จัดการประชุม

      ด้านนายอภิสิทธิ์ ได้ออกหนังสือชี้แจงถึงเหตุไม่เข้าร่วมประชุม ตอนหนึ่งระบุว่า มีข้อมูลในเชิงลึกว่า อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการประชุม และหลังจากได้หารือเป็นการภายในกับกกต.แล้ว และมีความเห็นร่วมกันว่า การเข้าร่วมประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจริง จึงไม่ได้เข้าร่วมประชุม

       อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นในเบื้องต้นว่า วันเลือกตั้งที่เหมาะสมจะกำหนดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายได้ร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมือง ทั้งนี้ขอให้กกต.ส่งรายงานการหารือและแสดงความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ ให้ด้วย เพื่อประกอบการพิจารณา

      อ้างกลุ่มติดอาวุธจ้องถล่ม “อภิสิทธิ์”

      นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงเหตุที่นายอภิสิทธิ์ งดเข้าร่วมประชุมว่า เป็นการตัดสินใจนาทีสุดท้าย จากสาเหตุที่ไม่มั่นใจในความปลอดภัย จากข้อมูลเชิงลึกพบว่า จะมีการก่อเหตุในการประชุม และพุ่งเป้าหมายมาที่นายอภิสิทธิ์ ซึ่งมีการประกาศจากกลุ่มที่ใช้อาวุธ อาจจะพลีชีพเพื่อกำจัดนายอภิสิทธิ์

      จากนั้น นายชวนนท์ ได้นำข้อความจากเฟซบุ๊คของผู้ที่ใช้ชื่อว่า “ลุงยิ้ม ตาสว่าง” มีเนื้อหาว่า การประชุมพรรคการเมืองวันนี้จะมีการก่อเหตุในที่ประชุม โดยอ้างว่าเป็นการทำเพื่อประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เมื่อนายอภิสิทธิ์ ไม่ได้เดินทางไป ลุงยิ้ม ตาสว่าง ก็โพสต์ข้อความเหมือนกับตัวเองอยู่ในห้องประชุมด้วย และยังมีการระบุในเชิงข่มขู่ว่า จะมีการใช้อาวุธยิงใส่ในที่ประชุม ซึ่งที่ผ่านมาเฟซบุ๊คของลุงยิ้ม มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับความรุนแรงหลายครั้งล่วงหน้าโดยเกิดเหตุขึ้นจริงในเวลาถัดมา

ขอขอบคุณกรุงเทพธุรกิจ


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

227

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน