หวั่นศก.จีนชะลอ ฉุดส่งออกไทย
ธปท. จับตาเศรษฐกิจจีนเพื่อประเมินผลกระทบ หลัง ส่งออก-นำเข้าหดตัวกว่าคาด ด้าน สศอ. ยังมั่นใจส่งออกไปจีนฟื้นตัวไตรมาส 2
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จับตายอดการค้าจีนร่วงหนักในเดือนมี.ค. ต่ำกว่าคาดการณ์ของบรรดานักวิเคราะห์ประเมินไว้ ซึ่งช่วยตอกย้ำกว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากมาตรการปฏิรูปครั้งใหญ่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
วานนี้ (10 เม.ย.) สำนักงานศุลกากรของจีน รายงานว่า การส่งออกเดือนมี.ค. ของจีน หดตัวลงราว 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าก็หดตัวลงประมาณ 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้จีนมียอดเกินดุลการค้าในเดือนมี.ค. ประมาณ 7.7 พันล้านดอลลาร์
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจชะลอตัว
ก่อนหน้านี้ บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่ารัฐบาลอาจต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากแนวโน้มการชะลอตัวเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนปฏิเสธว่ายังไม่ถึงเวลา
นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน กล่าวว่า จีนจะไม่ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อจัดการกับภาวะผันผวนระยะสั้นของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่า เจ้าหน้าที่มีความยืดหยุ่นในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้
นายหลี่ กล่าวว่า การทำให้ตลาดแรงงานของจีนขยายตัวแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของรัฐบาล และไม่ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวสูงหรือต่ำกว่าเป้าหมาย ที่ 7.5% หรือไม่นั้น ก็มีความสำคัญน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน
ธปท.จับตาผลกระทบส่งออก
ตัวเลขการค้าของจีนชะลอตัว อาจเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าอาจจะมีการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงไทยลดลงในอนาคต ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปีที่ผ่านมา ซึ่งจีนถือเป็นตลาดใหญ่ของไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกราว 12%
นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนตัวเลขการส่งออกและนำเข้าของจีนเดือนมี.ค. ที่ติดลบไปค่อนข้างมากนั้น ในส่วนของการส่งออก ธปท.เองไม่ได้กังวลมากนัก เพราะคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า การส่งออกช่วงต้นปีของจีนอาจยังไม่ดีนัก อันเกิดจากปัจจัยเรื่องของฐาน เนื่องจากปีที่แล้วตัวเลขการส่งออกของจีนอยู่ในระดับค่อนข้างสูง อีกทั้งถ้าดูตัวเลขการส่งออกแบบเทียบเดือนต่อเดือน พบว่ายังขยายตัวได้อยู่ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง จี3 (สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น)
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการนำเข้านั้น ยอมรับว่า มีการติดลบค่อนข้างมาก ซึ่งตัวเลขการนำเข้าที่ติดลบนี้ ธปท. กำลังติดตามดูในรายละเอียดว่าเกิดจากปัจจัยใด โดยจะถือเป็นการสะท้อนถึงความต้องการใช้หรือแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนที่อ่อนแรงลงหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังต้องติดตามดูในรายละเอียดก่อน
“ถามว่าจะส่งผลกระทบกับไทยอย่างไรบ้างนั้น เรื่องนี้ยังต้องรอดูในรายละเอียดก่อนว่า การนำเข้าที่หดตัวลงไปค่อนข้างมากนี้ เกิดจากปัจจัยอะไรกันแน่ จะสอดคล้องกับแรงส่งภายในประเทศของเขาที่อาจจะมีการชะลอตัวหรือไม่ เพราะเครื่องชี้อื่นๆ ภายในประเทศของเขาก็ค่อนข้างชี้ไปว่ามีการชะลอตัว ซึ่งก็ต้องไปวิเคราะห์รายละเอียดตรงนี้ก่อนจึงจะบอกถึงผลกระทบที่มีต่อเราได้” นางรุ่ง กล่าว
สศอ.คาดไตรมาส2จีนเพิ่มนำเข้า
นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ยอดการส่งออกและนำเข้าในเดือนมี.ค. ของจีนที่ลดลงมากนั้น ก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่าในไตรมาสแรก ยอดการนำเข้าจากจีนจะลดลง เนื่องจากรัฐบาลจีนได้ลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจโดยการชะลออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปีก่อน โดยหันไปใช้นโยบายพึ่งพาตนเองเน้นการขยายตลาดภายในประเทศมากขึ้น รวมทั้งลดการนำเข้าหันไปใช้วัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบภายในประเทศ รวมทั้งที่ผ่านมาจีนยังมีสต็อกสินค้าค่อนข้างสูง ทำให้มีการนำเข้าลดลง
ในปัจจุบันครัวเรือนจีนมีเงินเยอะมาก เนื่องจากอยู่ภายใต้นโยบายการมีบุตรคนเดียว มีสวัสดิการที่สังคมสูง และมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลจีนหันไปเน้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อนำเงินทุนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจีนได้นำเข้าสินค้ากึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบเพื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมจากภูมิภาคอาเซียน โดยในส่วนของไทยจะนำเข้าพวกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัตถุดิบการเกษตร ยางพารา และ ไม้ยางพารา ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้ยอดส่งออกในกลุ่มวัตถุดิบการเกษตร และยางพารา อาจจะลดลงบ้าง
“ในภาพรวมยังคงมั่นใจว่าการส่งออกไปยังจีนในปีนี้จะอยู่ในแดนบวก โดยคาดว่าในไตรมาส 2 การนำเข้าของจีนจะเพิ่มการนำเข้า เพราะว่าสต็อกสินค้าเริ่มลดน้อยลง”
คาดไตรมาส2ตลาดโลกฟื้นตัว
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ในไตรมาส 2 นี้ ความต้องการสินค้าในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของตลาดหลัก เห็นได้จากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน และวัตถุดิบในเดือนก.พ. 2557 ขยับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 2 ยอดการส่งออกจะดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก
นอกจากนี้ สศอ. ยังได้ดำเนินโครงการประเมินผลการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำตัวชี้วัดและระบบประเมินผลนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ทั้งในระดับภาพรวม ระดับสาขาอุตสาหกรรมและระดับพื้นที่ เพื่อนำผลการประเมินไปใช้กำหนดแนวนโยบายที่สามารถผลักดันไปสู่การปฏิบัติในการส่งเสริมหรือแก้ไข เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบได้อย่างเหมาะสม
โดยจะประกอบด้วย 4 มิติ คือ 1.มิติด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หมายถึง การสร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการผลิต และการพัฒนาไปสู่รูปแบบการเชื่อมโยงการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทาน เชื่อมโยงการผลิตการตลาดระหว่างประเทศ โดยสร้างรูปแบบการเข้าถึงตลาดใหม่ 2.มิติด้านการใช้ศักยภาพของทุนมนุษย์ หมายถึง การใช้ภูมิปัญญาเพื่อสร้างให้เกิดนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่ม เป็นการสร้างการเติบโตจากฐานของภูมิปัญญา ความรู้ นวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
3.มิติด้านสังคมการเป็นอยู่ที่ดี หมายถึง การพัฒนาและสร้างเครือข่ายการผลิตเชื่อมโยงกับชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น รวมถึงการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม และ 4.มิติด้านสิ่งแวดล้อม หมายถึง การส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับภาคการผลิต มิให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมรายสาขาในเชิงนโยบายให้มีความเหมาะสมต่อไป
สำหรับการพัฒนาตัวชี้วัดต่างๆ มุ่งเน้นเฉพาะการชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป็นหลักแต่ผลที่ตามมาของการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมนั้น ยังมีอีกหลายมิติที่เกี่ยวข้อง และในปัจจุบัน ก็เริ่มจะเห็นถึงผลกระทบในด้านต่างๆ ที่ตามมาชัดเจนขึ้น
ดังนั้น การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมจึงควรมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศที่มีความสมดุลกันในทุกด้าน ก่อนอื่นคงต้องเริ่มจากการจัดทำระบบการประเมินเพื่อวัดระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถสะท้อนการพัฒนาของอุตสาหกรรมได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วน และนำไปสู่การวางแนวทางเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสม เพื่อนำพาประเทศให้สามารถเติบโตภายใต้ความสมดุลในทุกมิติ
ที่มา : www.bangkokbiznews.com
- องค์กรสิทธิฯประสานเสียงร้องให้ปล่อยตัว14นักศึกษา หลังถูกขังเรือนจำ กลุ่มปชต.ใหม่แถลงสู้ต่อ
- “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ทรงเป็นประธาน ในพิธีไหว้ครูและพระราชทานเหรียญรางวัลการศึกษาแก่นักเรียนนายร้อยประจำปีการศึกษา
- “รมว.พลังงาน” จ่อขยับภาษีแอลพีจีภาคขนส่ง
- สหรัฐพร้อมช่วยชาติในอาเซียนรับภาระผู้อพยพ
- “ททท.”ชี้คนจีนแห่เที่ยวไทย-คาดปีนี้ไม่ต่ำกว่า 6ล้านคน