เวิลด์แบงก์ห่วง สภาพไร้รัฐบาล ‘ศก.’เสี่ยงวิกฤติ
เวิลด์แบงก์ห่วง สภาพไร้รัฐบาล ‘ศก.’เสี่ยงวิกฤติ
ธีระชัย” หวั่นการเมืองลากยาวถึงครึ่งปีหลัง กระทบจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กดเศรษฐกิจไทยหัวทิ่มบ่อ วอนทุกฝ่ายเร่งเจรจาหาทางออก ลุ้น 1-2 เดือนเกมโอเวอร์ ขณะที่เวิลด์แบงก์ห่วงสภาพไร้รัฐบาลยิ่งทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ ฉุดจีดีพีต่ำลงกว่าเป้า ด้านโพลหอการค้าฯ เผยสงกรานต์เงินสะพัด 1.16 แสนล้าน
เมื่อวันอังคาร นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา เรื่อง “ผลกระทบวิกฤติการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย” ว่าการเมืองน่าจะลากยาวไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2557 จนทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อการภาพรวมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นไปได้สูงมาก ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีการเจรจาตกลงกันเพื่อหาทางออก และสามารถยุติความขัดแย้งได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
“ขณะนี้ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจยังขาดความมั่นใจที่จะลงทุนอยู่มาก ดังนั้นโจทย์สำคัญของไทยในขณะนี้คือการเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าได้เต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการเร่งแก้ปัญหาความล่าช้าในการจ่ายเงินจำนำข้าว เพราะตอนนี้ชาวนากำลังเดือดร้อนอย่างหนัก รวมถึงควรเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในต่างจังหวัด โดยเฉพาะด้านน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคเกษตรด้วย” นายธีระชัยกล่าว และเชื่อว่าในเดือนเมษายนนี้ น่าจะเริ่มเห็นปัญหาการเมืองคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมจะมีการตัดสินคดีสำคัญๆ ทางการเมือง
นายธีระชัยกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเน้นใช้นโยบายที่กระตุ้นการใช้จ่ายในระยะสั้นผ่านการอุปโภคบริโภคมากเกินไป ทำให้หลายอุตสาหกรรมได้ถูกบิดเบือน แม้จะมีข้อดีช่วยให้จีดีพีในช่วง 2 ปีก่อนเติบโตได้ดี แต่กลับทำให้เกิดการก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในระดับสูงจนน่าตกใจ โดยจากสถิติปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย หรือคิดเป็น 82% รองจากไต้หวันและมาเลเซีย
ขณะที่ นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การเมืองในขณะนี้ต้องพยายามหาข้อยุติให้ได้โดยเร็วที่สุด และต้องเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนทุกฝ่าย และสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และตั้งใจ มีเจตนารมณ์ในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง และให้ความสำคัญกับการกำหนดแผนการส่งออกในปีนี้ โดยเฉพาะการหาตลาดใหม่ๆ เนื่องจากปีนี้ภาคการส่งออกจะกลายมาเป็นความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงอยากเสนอให้ข้าราชการและเอกชนร่วมมือกันและพุ่งเป้าหมายไปที่การสนับสนุนภาคการส่งออก เพราะกลไกขับเคลื่อนตัวอื่นๆ ยังคงมืดมน
นายธวัชชัยกล่าวต่อว่า ต้องการให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาเร่งปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาของไทย เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคแรงงานและอุตสาหกรรมไทย โดยยอมรับว่าในการเลือกตั้งที่ผ่าน ๆ มา พรรคการเมืองส่วนใหญ่ชูนโยบายในการปฏิรูปโครงสร้างการศึกษา แต่ก็เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ เพราะจนถึงขณะนี้คุณภาพการศึกษาไทยเลวลงทุกวัน ซึ่งนั่นส่งผลกระทบถึงความเลวร้ายทางเศรษฐกิจไทยด้วย
นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะได้รับแรงกดดันจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การลงทุนขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย ทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่จากเดิมคาดว่าจะมีเม็ดเงินจาก 2 โครงการนี้ลงสู่ระบบเศรษฐกิจในปีนี้ราว 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลทำให้ยอดนักท่องเที่ยวในปีนี้ลดลงจากเป้าหมายราว 5 แสนราย หรือคิดเป็นวงเงินกว่า 2.5-3 หมื่นล้านบาท
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่สงบลงโดยเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวช่วง 5-10 ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันจากปัญหาการเมืองสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 เพราะทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการบริหารเชิงนโยบาย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ มีความล่าช้า ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทั้งนี้ในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงสูง ทำให้คาดว่าปีนี้จีดีพีเติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.9% และเวียดนาม 5.5%
“ผลกระทบจากปัญหาการมืองและผลกระทบจากการใช้นโยบายที่เน้นการกระตุ้นการบริโภคในอดีต ทำให้รายได้จากภาคท่องเที่ยวลดลง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง และเกิดความล่าช้าในโครงการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่ภาวะการไร้รัฐบาลตอนนี้ มีผลกระทบโดยตรงต่อชาวนาไทย ที่ขณะนี้ยังคงรอเงินจากโครงการรับจำนำข้าว คิดเป็นวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1% ของจีดีพี ซึ่งหากมีรัฐบาลใหม่และเร่งกระจ่ายเงินส่วนนี้ลงสู่ระบบเศรษฐกิจก็จะเป็นผลดีต่อจีดีพีไทยในปีนี้ให้เติบโตได้สูงกว่า 3%” น.ส.กิริฎากล่าว
วันเดียวกัน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าฯ, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของไทยน่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าไตรมาสแรก เนื่องจากตลาดส่งออกเริ่มมีการขยายตัวคาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 2-3% จากไตรมาสแรก และภาพรวมการส่งออกปีนี้จะยังคงเติบโตระดับ 4-5% นอกจากนี้ การท่องเที่ยวจะขยายตัวเช่นกันหลังมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
“แรงซื้อโดยรวมภายในประเทศเราชะลอตัวจากปัญหาการเมือง แต่ตลาดโลกไม่ได้กระทบเรา และกลับขยายตัวทำให้การส่งออกเราน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นโดยเฉพาะครึ่งปีหลังเมื่อปัจจัยบวกคือส่งออก และการท่องเที่ยวฟื้นตัว ยกเว้นการท่องเที่ยวที่เป็นตลาดคนไทยเองช่วงไตรมาส 2 อาจจะยังไม่ฟื้น แต่ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไปได้ แต่การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีปีนี้ก็ยังมองว่าต่ำกว่า 3% เพราะการเมืองยังไม่ชัดเจน” นายอิสระกล่าว
นายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาภายใน แต่ไม่หนักหน่วงเกินไปที่จะรับมือ ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองเรื่องโครงสร้างของประเทศในระยะยาวมากกว่า เพื่อให้ประเทศสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและก้าวหน้า คู่แข่งในอาเซียนและในย่านเอเชียได้ ดังนั้น ปัญหาของประเทศไทยเป็นปัญหาระยะยาวมากกว่าปัญหาระยะสั้น
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองไม่นำไปสู่ความรุนแรง ก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะดีกว่าไตรมาสแรก ประกอบกับความเชื่อมั่นการลงทุนน่าจะกลับมาได้หากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่จะมาอนุมัติโครงการลงทุนที่ค้างอยู่กว่า 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งภาคธุรกิจต้องการเห็นความสงบทางการเมือง ยิ่งเร็วเท่าใดก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเท่านั้น เพราะตลาดโลกมีการฟื้นตัวชัดเจน
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 ว่า จะมีเงินสะพัด 116,813 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.36% เป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งมีผลมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง และประชาชนกังวลปัญหาการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน ทำให้บรรยากาศช่วงสงกรานต์ปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร แม้จะมีเงินสะพัดมากขึ้น แต่เป็นผลมาจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น
ทั้งนี้ ผลการสำรวจยังได้พบสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ สัญญาณการกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้เริ่มสูงขึ้นไปอีก ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน แสดงให้เห็นว่าในช่วงเศรษฐกิจดี การกู้เงินเพื่อท่องเที่ยวจะน้อยกว่าช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
นายธนวรรธน์กล่าวถึงผลสำรวจทัศนะต่อสถานการณ์การเมืองระหว่างวันที่ 6-7 เมษายน 2557 พบว่า 96% กังวลต่อการเมืองไทยในปัจจุบัน และ 65% ระบุว่ากังวลปานกลางถึงมาก ต่อโอกาสเกิดความรุนแรงการเมืองในช่วงสงกรานต์ ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายเงินลดลง และต้องลดการใช้จ่าย เพราะวิตกหลังจากนั้นกลัวความไม่แน่นอนต่อรายได้ กลัวถูกปลดออกจากงาน และราคาพืชผลไม่ดี ในอนาคต ส่วนภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของไทยยังอยู่ในภาวะซึมตัว โดยครึ่งปีแรกโอกาสขยายตัวเป็น 0-1% ต่อไตรมาส และดีขึ้นครึ่งปีหลัง หากการเมืองผ่อนคลายและได้รัฐบาลใหม่ ทั้งปีจะขยายตัวได้ 2-2.5%
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จำนวน 20.1% หรือ 22,000 ล้านบาท จากยอดเงินสะพัดทั้งหมด 116,813 ล้านบาท เป็นการกู้ยืมมาใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและการเดินทางกลับบ้าน โดยเหตุผลที่ต้องกู้ยืม เป็นผลมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งสูงกว่าการกู้ยืมในปี 2556 ที่มีเพียง 1 หมื่นล้านบาท.
- องค์กรสิทธิฯประสานเสียงร้องให้ปล่อยตัว14นักศึกษา หลังถูกขังเรือนจำ กลุ่มปชต.ใหม่แถลงสู้ต่อ
- “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ทรงเป็นประธาน ในพิธีไหว้ครูและพระราชทานเหรียญรางวัลการศึกษาแก่นักเรียนนายร้อยประจำปีการศึกษา
- “รมว.พลังงาน” จ่อขยับภาษีแอลพีจีภาคขนส่ง
- สหรัฐพร้อมช่วยชาติในอาเซียนรับภาระผู้อพยพ
- “ททท.”ชี้คนจีนแห่เที่ยวไทย-คาดปีนี้ไม่ต่ำกว่า 6ล้านคน