ยุวทูตอาเซียนดำนาถอดรหัสสันติภาพ

ยุวทูตอาเซียนดำนาถอดรหัสสันติภาพ

'มจร'จัดค่ายยุวทูตอาเซียน พาทำนาถอดรหัสสันติภาพจากรวงข้าว : สำราญ สมพงษ์รายงาน


               ปี 2558 จะเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว ทุกประเทศในกลุ่มต่างก็เตรียมความพร้อม แต่มีประเด็นหนึ่งก็คือว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติอย่างไร เพราะว่าทุกวันนี้ประเทศในกลุ่มอาเซียนเองก็มีปัญหาความขัดกันแย้งกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทางภาคใต้ ไทยกับกัมพูชากรณีเขาพระวิหารก็ยังไม่มีข้อยุติเมื่่อศาลโลกตัดสินออกมาแล้วทั้งสองประเทศจะทำหน้ากันอย่างไร ไทยกับพม่ากรณีชนกลุ่มน้อยยาเสพติด

               ไม่ใช่เฉพาะฆราวาสเท่านั้นที่ต้องเตรียมความพร้อม แม้นแต่คณะสงฆ์ชาวพุทธเองก็ต้องเตรียม จะเห็นได้จากเทศกาลวันวิสาขาบูชาโลกก็ถึงพูดประเด็นนี้ว่าองค์กรชาวพุทธในอาเซียนจะจับมือกันพัฒนาประชากรอย่างไร

               มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นสถานการศึกษาของคณะสงฆ์ก็ต้องสนองงานในส่วนนี้เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าที่ผ่านจะมีการจัดประชุมทั้งองค์กรภายในและประชุมร่วมกับองค์กรภายนอก โดยได้มีการตั้งสถาบันภาษาขึ้นมาเพื่อเปิดการเรียนการสอบภาษาหลักที่ต้องใช้  พร้อมกันนี้ มจร ก็ได้เล็งเห็นว่าประชากรในประชาคมอาเซียนนี้จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างไร จึงได้เปิดโครงการปริญญาโทสาขาสันติศึกษาขึ้นมา ขณะได้เปิดการเรียนการสอนรุ่น 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อสร้างนักสันติศึกษาขึ้นมา

               ขณะเดียวกัน มจร ได้จัดทำโครงการยุวทูตอาเซียนศึกษาเพื่อสันติภาพ โดยได้นำเด็กและเยาวชนจาก 10 ประเทศอาเซียน และจากประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลี หรือเรียกว่า อาเซียน+3 เข้าร่วมกว่า 30 คน มาเข้าค่ายระหว่างวันที่ 21-27 พฤษภาคมเป็นการชิมลาง ภายใต้การดำเนินการของพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม กรมอาเซียน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และทีเคปาร์ค ซึ่งวันที่  27 พฤษภาคมได้ปิดโครงการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

               ทั้งนี้พระมหาหรรษา ได้กล่าวว่า  ยุวทูตที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ได้เรียนรู้การปฏิบัติจริงจากหลักสูตรสันติศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ความสามัคคี ด้วยการได้ฝึกการทำนาปลูกข้าวร่วมกัน ที่การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเข้าใจที่มาของรวงข้าว 10  รวงที่เป็นสัญลักษณ์ของอาเซียน

               ระหว่างทำกิจกรรมทำนาอยู่นั้นก็มีคำถามจากนางสาวคิมรอง เวย์ (Kimrong Way)อายุ 21 ประเทศกัมพูชาว่า "จะพูดถึงสันติภาพได้อย่างไร ตราบใดที่ประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียนบางประเทศยังยากจนอยู่" จึงได้เปิดการแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้และได้ข้อสรุปว่า ถ้าวัดความยากจนหรือร่ำรวยด้วยตัวเลขทางจีดีพีหรือวัดกันด้วยวัตถุแล้วอาจจะทำให้เข้าใจในลักษณะดังกล่าวได้แต่ถ้าวัดกันด้วยคุณค่าวัฒนธรรม ศาสนา และความสุขแล้ว ประเทศในอาเซียนถือได้ว่ามีความร่ำรวยไม่แพ้ชาติใด หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในโลกนี้ ความสุขในอีกมุมหนึ่งคือการที่สันติภาพที่สำแดงศักยภาพออกมาผ่านวิถีชีวิต การคิด พูด หรือแสดงออกมาทางกาย และใจ

               แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจอาจจะอยู่ในเส้นแบ่งของประเทศยากจน แต่ถ้ากล่าวถึงตัวเลขทางความสุขแล้ว ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าประชาคมอาเซียนอยู่เหนือเส้นแบ่งระหว่างสุขกับทุกข์ ถึงกระนั้นการที่จะทำให้สังคมเข้าถึงสันติภาพทั้งภายในและภายนอกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างการตระหนักรู้ให้สังคมได้หันมาใส่ใจและร่วมกันแบ่งปันความสุขและความทุกข์ คนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากกว่าจะมีความสุขได้อย่างไร ตราบเท่าที่เพื่อนร่วมประชาคมจำนวนหนึ่งยังมีความหิวโหย และไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการแบ่งปันทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นี่เป็นโจทย์อีกข้อหนึ่งที่เสาที่สองของอาเซียน คือ เสาด้านเศรษฐกิจจะเข้ามาช่วยตอบปัญหาของนางสาวคิมรอง เวย์ได้

               "พร้อมทั้งยังได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชมการแสดงต่างๆ และที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง คือการนำยุวชนเหล่านี้เดินธรรมยาตราเพื่อสันติภาพ และปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อเข้าถึงสันติภาพภายในอย่างแท้จริง" ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร กล่าวและว่า

               นอกจากนี้เด็กและเยาวชน ยังได้เรียนรู้วิถีการอยู่ร่วมกัน เปิดใจเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม โดยมีมิติของภาษาและศาสนาเข้ามาเป็นตัวเชื่อม ซึ่งจะก่อให้เกิดผลต่อเด็กและเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ กลายเป็นคนที่เปิดรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ดูถูกผู้อื่น เรียนรู้วิธีคิดของเพื่อนๆ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ศาสนาสามารถเชื่อมจิตใจของชาวพุทธ โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ วรรณะ ให้มาเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างสันติสุข นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดค่ายยุวทูตอาเซียนเพื่อสันติศึกษาขึ้น ในการรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 หลังจากจบค่ายไปแล้ว เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ได้สร้างกลุ่มของตนเองเชื่อมโยงกับเพื่อนแต่ละประเทศผ่านระบบเฟซบุ๊กกลุ่มอาเซียนศึกษาเพื่อสันติภาพ

               ขณะที่นางสาวบุญธดา จิมานัง อายุ 20 ปี นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ชาวอาเซียนต่างก็รู้ว่าข้าวเป็นอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ซึ่งการที่เยาวชนได้มาอยู่ร่วมกันนี้ทำให้มีแนวความคิดว่าจะช่วยกันผลิตอาหารแล้วแบ่งกันอยู่แบ่งกันกินโดยไม่กินคนเดียวหรือแย่งกันกินอย่างไร

               ทางด้านนางสาวคิมรอง เวย์ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่เข้าร่วมโครงการว่า ทำให้ได้ทราบเทคนิคต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตรอินทรีย์ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากกลับประเทศกัมพูชาแล้วจะนำความรู้นี้ไปเผยแพร่เพื่อทำให้ประเทศกัมพูชาพัฒนาเท่าเทียมประเทศไทยให้ได้

               เชื่อมั่นว่าโครงการยุวทูตอาเซียนศึกษาเพื่อสันติภาพจะเป็นตัวกระตุ้นคนในอาเซียนรู้จักแบ่งกันอยู่แบ่งกันกิน เห็นคุณค่าของแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างที่นางสาวคิมรอง เวย์ชาวกัมพูชาเธอเห็นแล้ว

 

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

395

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน