90ปีมรภ.มหาสารคามผุดศูนย์สารสนเทศรับอาเซียน
90ปีมรภ.มหาสารคามผุดศูนย์สารสนเทศรับอาเซียน
90ปีมรภ.มหาสารคาม ผุดศูนย์สารสนเทศรับอาเซียน : เปิดวิสันทัศน์ รศ.สมชาย วงศ์เกษม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โดยปัญญาพร สายทอง
"มรภ.มหาสารคาม ได้เตรียมแผนยุทธศาสตร์เพื่อรองรับอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมและมีทิศทางที่ชัดเจน ที่จะพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา เตรียมความพร้อมนักศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะออกไปสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะตลาดแรงงานในระดับอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" รศ.สมชาย วงศ์เกษม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรภ.มหาสารคาม) กล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น นโยบายภายใต้กรอบเวลา 5 ปี คือ ปี 2555-2559 มีสำนักวิเทศสัมพันธ์เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมในเรื่องนี้ ขับเคลื่อนไปพร้อมกับกิจกรรม เน้นลงสู่คณะทั้ง 8 คณะ เพื่อให้ทุกคณะมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด
"ความรู้ทางด้านอาเซียนนั้น ทาง มรภ.มหาสารคามได้จัดเตรียมตั้งศูนย์สารสนเทศอาเซียน หรือห้องสมุดอาเซียนขึ้น ที่สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทั้งบุคลากรและนักศึกษาทางด้านภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านอาเซียน"
"ศูนย์สารสนเทศอาเซียน" หรือ "ห้องสมุดอาเซียน" เริ่มดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้กับนักศึกษาที่ต้องการหาคำตอบและเสริมความรู้เกี่ยวกับอาเซียน โดยห้องสมุดแห่งนี้จะมีความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาของอาเซียน วัฒนธรรม ภาษา และอื่นๆ โดยจะเป็นการแสดงถึงความร่วมมือของประเทศไทยและกลุ่มอาเซียน
มรภ.มหาสารคาม ยังมีแผนจะจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษาวัฒนธรรม การเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกันของแต่ละประเทศ โดยเน้นในเรื่องของการศึกษาให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ ในอนาคตประชาชนจะมีโอกาสในการศึกษาข้ามพรมแดน นับเป็นจุดสำคัญของการศึกษาทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
เหนืออื่นใด กิจกรรมยังเชื่อมโยงกับอาเซียนใน 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน คือ เริ่มจาก สังคม วัฒนธรรม และจะนำไปสู่ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จะเป็นหนึ่งเดียวกันตามอัตลักษณ์ของอาเซียน ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถตอบโจทย์ทางด้านการศึกษาได้อย่างชัดเจน
"เพราะทางจังหวัดมหาสารคามได้ตั้งเป้าไว้ว่า จะเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของอาเซียน ดังนั้นทาง มรภ.มหาสารคาม จึงให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ และบัณฑิต มีการจัดการศึกษาร่วมกันระดับปริญญาตรีเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษกับประเทศเวียดนาม โดยนักศึกษาเรียนที่ มรภ.มหาสารคาม 2 ปี และไปเรียนที่เวียดนาม 2 ปี กับเจ้าของภาษา ที่ผ่านมานักศึกษากระตือรือร้นเรียนภาษามาก ในอนาคตคาดว่าจะร่วมมือกันในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก"
เหนืออื่นใด ในโอกาสที่ "มรภ.มหาสารคามจะครบรอบ 90 ปี" ในปี 2557 นี้ รศ.สมชาย กล่าวว่า จะมีกิจกรรมการแสดงวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศอาเซียน เพื่อสืบสานความสัมพันธ์อันดีงามร่วมกัน
"ส่วนการท่องเที่ยวของประเทศอาเซียนก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่นักศึกษาให้ความสนใจ เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศอาเซียน โดยกิจกรรมนี้จะให้นักศึกษานำความรู้จากการเรียนรู้ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มาเป็นมัคคุเทศก์ในการนำเที่ยว โดยใช้ภาษาประเทศเพื่อนบ้านและภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยมีแม่งานหลัก คือ คณะวิทยาการจัดการ"
ผลพวงของการจัดกิจกรรมทางด้านอาเซียน ทำให้นักศึกษาและอาจารย์มีการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้ในประเทศแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง อย่าง คณะครุศาสตร์ มีการไปศึกษาความรู้เพิ่มเติมที่ประเทศอาเซียนครบหมดแล้ว และสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมเหล่านี้ คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและประเทศอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดี หรือแม้แต่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งมีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวและมรภ.มหาสารคามเมื่อเดือนมกราคม 2557
"จากนี้ไปคงจะเน้นความเข้มข้นในกิจกรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงความสัมพันธ์ในการร่วมมือทางวิชาการเป็นหลัก เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษา ดังนั้นการที่จะสามารถพัฒนาบุคลากรทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นเป้าหมายอีกเป้าหมายหนึ่งของมหาวิทยาลัย โดยคาดหวังว่า หลังจากการเปิดอาเซียน มหาวิทยาลัยจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะเข้ามาศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษามากยิ่งขึ้น" รศ.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek
ดูทั้งหมด
311
views
Credit : komchadluek