ยูเอ็นหนุน'ตร.ผู้รับใช้ชุมชน'รับมือก่อการร้าย
ยูเอ็นหนุน'ตร.ผู้รับใช้ชุมชน'รับมือก่อการร้าย
รับมือ...ก่อการร้ายอาเซียน ยูเอ็นหนุน'ตร.ผู้รับใช้ชุมชน' : ทีมข่าวรายงานพิเศษ
หลังจากการขับเคลื่อนทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ตามแนวคิดของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานำร่องโครงการไปแล้ว 150 ชุมชน และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ดำเนินโครงการเป็นรูปธรรมแล้ว 40 ชุมชน ตั้งเป้าว่าจะขยายพื้นที่นำร่องให้เป็น 200 ชุมชนในปี 2556 กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของตำรวจไทยนั้น
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการต่อต้านก่อการร้าย สหประชาชาติ (Counter-Terrorism Committee Executive Directorate (CTED) United Nations) ร่วมสนับสนุนตำรวจไทยให้ปฏิรูปแนวปฏิบัติเดิมๆ มายึดแนวทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน เป็นแผนการรับมือภัยก่อการร้ายและเหตุความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะในแถบอาเซียน
นางซุเอะ ทาคาซุ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการต่อต้านการก่อการร้าย พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อความไม่สงบ จากแคนาดา เบลเยียม นิวซีแลนด์ เดินทางมาร่วมสัมมนาเชิงหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อผลักดันให้ไทยนำทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing) มาใช้ในการต่อต้านกลุ่มคนที่มีแนวคิดรุนแรงแบบสุดขั้ว (Countering Violent Extremism) โดยมี พล.ต.ท.อุดม รักศิลธรรม ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ต.สรรพวุฒิ พิพัฒน์พันธุ์ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป., พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผกก.6 บก.ป., พ.ต.อ.วรวุฒิ คุณะเกษม ผกก.3 บก.ป., พ.ต.อ.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผกก.ฝอ.บก.ทล., พ.ต.ท.ดร.สัญญา เนียมประดิษฐ์ รอง ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วยคณะกรรมการ Community Policing ร่วมสัมมนา ระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคมที่ผ่านมา
"ฌอง ปิแอร์ เดโวส" ผู้บัญชาการตำรวจกลางแห่งเบลเยียม ยอมรับว่า ตำรวจเบลเยียมกว่า 4 หมื่นนาย เป็นตำรวจผู้รับใช้ชุมชนทั้งหมดแล้ว ในอดีตไม่ว่าจะเป็นตำรวจระดับชาติหรือระดับเมือง ชอบการต่อสู้เอาชนะคนร้าย ปรากฏว่าเกิดปัญหาตามมามากมาย ในที่สุดต้องปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติใหม่ นำทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนมาดำเนินการแทน คนที่จะเป็นตำรวจใหม่จะคัดเลือกจากบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนได้ดี เป็นมิตรกับประชาชน หลังตำรวจปฏิบัติเช่นนี้ทำให้สังคมเบลเยียมมีความสงบสุขขึ้นทันที
ส่วน "ริชาร์ด บรูซ" สารวัตรตำรวจจากนิวซีแลนด์ บอกว่า ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชน ตำรวจที่ประเทศนิวซีแลนด์ จะศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาชญากรรม โดยส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มเล็กๆ เข้าไปทำงานกับชุมชน มีการสำรวจความเห็นของประชาชนทั้งก่อนและหลังการเข้าชุมชน ซึ่งประชาชน 80-83% เชื่อมั่นและไว้ใจตำรวจ สิ่งสำคัญคือ ตำรวจจะไม่ตัดสินใจเอง ต้องให้ชุมชนบอกว่าเขาต้องการอะไร จากนั้นตำรวจกับประชาชนจะแก้ปัญหาร่วมกัน เมื่อชุมชนปลอดภัยอย่างยั่งยืนตำรวจจึงจากไป
"นูอารี เชาวด์ฮูรี ฟิงค์" ตัวแทนจากสำนักงานต่อต้านการก่อการร้าย สหประชาชาติ ยอมรับว่า การทำงานต่อต้านการก่อการร้ายมีความสลับซับซ้อน ต้องเข้าใจสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ฯลฯ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย และไม่ใช่ทุกประเทศจะถูกจู่โจมจากการก่อการร้าย แต่อาจเป็นฐานของการจู่โจม ดังนั้นความเข้าใจภูมิภาคเป็นเรื่องสำคัญ งานของตำรวจมักจะทำงานในเชิงรับในเรื่องต่อต้านการก่อการร้าย แต่ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน เป็นการทำงานในเชิงรุก เป็นการเดินเข้าหาประชาชน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในชุมชนนั้น จะช่วยจัดการกับการก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรงอย่างสุดขั้วได้
"ตำรวจเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและติดต่อกับชุมชนบ่อยครั้ง ทำให้เห็นสัญญาณก่อนล่วงหน้าว่าจะมีการก่อความรุนแรงขึ้น และสามารถทำงานในลักษณะเป็นพันธมิตรกับชุมชนในพื้นที่เพื่อป้องกันเหตุดังกล่าวได้"
ตัวแทนจากสำนักงานต่อต้านการก่อการร้ายบอกอีกว่า การก่อการร้ายจะเริ่มต้นจากสังคมที่ไม่มีความสุข เรียกร้องหาความเป็นธรรม เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมก็จะผิดหวัง นำไปสู่การใช้ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นการก่อการร้ายในที่สุด หากมีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนเข้าไปร่วมแก้ปัญหากับชาวชุมชนตั้งแต่ต้น ปัญหาต่างๆ ก็ได้รับการแก้ไข เป็นการตัดวงจรของปัญหาที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงของคนในสังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ด้าน "ซุเอะ" กล่าวว่า ในอดีตตำรวจเน้นการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดี จึงต้องรับสมัครคนที่มีรูปร่างใหญ่โตแข็งแรง แต่ปัจจุบันหลายประเทศได้นำทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนมาใช้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความแข็งแรงแต่เพียงอย่างเดียว ผู้หญิงก็สามารถทำงานนี้ได้ ถึงเวลาที่ตำรวจทั่วโลกต้องยอมรับตำรวจผู้รับใช้ชุมชนกันแล้ว และสหประชาชาติจะเดินหน้าผลักดันให้ประเทศต่างๆ ใช้ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน แก้ปัญหาการก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรงอย่างสุดขั้ว
ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการก่อการร้าย หากมีการร่วมมือร่วมใจกันอย่างดีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน โดยเฉพาะตำรวจกับคนในชุมชนอย่างเข้มแข็งปัญหาการก่อความรุนแรงก็จะหมดไป
............
(หมายเหตุ : รับมือ...ก่อการร้ายอาเซียน ยูเอ็นหนุน'ตร.ผู้รับใช้ชุมชน' : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)