อุทยานอัมพวา..พระบรมราชานุสรณ์..รำลึกรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์..เที่ยวงาน ๒๒-๒๓ ก.พ. นี้
อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ อุทยาน ร.2 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีเนื้อที่ 11 ไร่ บริเวณที่ก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์นี้ พระราชสมุทรเมธี เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม เป็นผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย
ซึ่งที่บริเวณนี้มีความสำคัญเพราะเป็นที่พระราชสมภพของรัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงศ์เชษมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชสมภพเมื่อวันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน เวลาเช้า 5 ยาม ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 2 ในบรมราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่า ฉิม (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) เสวยราชสมบัติ เมื่อ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ปีมะเส็ง และเสด็จสวรรคตขณะมีพระชนมายุได้ 42 พรรษา เมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367
ภายในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์มีสิ่งที่น่าสนใจ มีเรือนไทยหมู่ 5 หลัง ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย 4 หลัง จัดแสดงศิลปวัตถุในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เครื่องใช้ส่วนพระองค์ของ ร.2
เช่น พระแท่นบรรทมศิลปะจีน นอกจากนี้ยังแสดงความเป็นอยู่ของชาวไทยในสมัย ร.2 จัดแสดงอาวุธสงครามโบราณและข้าวของเครื่องใช้ของสตรีมีฐานะในอดีต เรือนไทยอีกหลังใช้เป็นสถานที่ซ้อมโขนละคร
ในวันที่ 24 ก.พ. ของทุกปีจะมีการจัดแสดงโขนถวายหน้าพระที่นั่งในสวนของอุทยานฯ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 2
มีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้
หอกลาง ประดิษฐานพระบรมรูป ร.2 และโบราณวัตถุ
หอนอนชาย แสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของชาวไทย
หอนอนหญิงแสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของหญิงโบราณชานเรือน จัดแสดงตามแบบบ้านไทยโบราณห้องครัว
และห้องน้ำ แสดงลักษณะครัวไทยและห้องน้ำของชนชั้นกลาง
นอกจากนี้ ยังมีโรงละครกลางแจ้ง สวนพฤกษชาติ เป็นสวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิดกว่า 140 ชนิด เช่น ยี่สุ่น ช้างโน้ม ทับทิมหนู สารภี
และมี “มะพร้าวพญาซอ” ซึ่งเป็นพันธุ์หายากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้นำมาปลูกภายในอุทยานฯ
การเดินทางไปอุทยานฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 35 ถึงกิโลเมตรที่ 63 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 325 เข้าจังหวัดสมุทรสงคราม 6 กิโลเมตร ถึงบริเวณอุทยานฯ (มีป้ายบอกตลอดทาง) จากตัวเมืองมีรถประจำทางสาย บางมูลนากผ่าน ขึ้นได้ที่ตลาดเทศบาลเมือง
……………………………………….
โดย “ซูม”
ในระหว่างที่ผมตะลอนเดินทางอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นนั้นเอง ก็มีจดหมายจากมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์มารออยู่ที่โต๊ะทำงานของผมฉบับหนึ่ง
ลงนามโดย ท่านผู้หญิงวิลาวัณย์ วีรานุวัตติ์ กรรมการมูลนิธิ แจ้งให้ทราบว่างานใหญ่และทรงคุณค่าอย่างยิ่งงานหนึ่งที่พี่น้องประชาชนจำนวนมากรอคอยจะเวียนมาถึงอีกแล้ว
นั่นก็คืองาน เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประจำปี 2557 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ ร.2 อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
นับเป็นงานที่มีจุดมุ่งหมายไม่เพียงแต่จะเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ประเทศชาติอย่างล้นเหลือเท่านั้น
ยังมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์และมรดกอันล้ำค่าของประเทศไทยให้อยู่ยั้งยืนยงสืบไปอีกด้วย
ข้อความในเอกสารที่ท่านผู้หญิง วิลาวัณย์ วีรานุวัตติ์ กรุณาส่งมาให้ผมมีใจความสำคัญโดยสรุปว่า
สำหรับปีนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานงานในวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557 หรือวันเสาร์ที่จะถึงนี้ในเวลา 15.00 น.
และมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้ “หลังจากพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล และแก่ผู้มีอุปการคุณ และพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดต่างๆแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการต่างๆ แล้วจึงเสด็จฯ ยัง “โรงละครกลางแจ้ง” ซึ่งมีการแสดงรวม 3 ชุด
ชุดแรกเป็น รำอาศิรวาท ประกอบด้วยพระนาง 16 คู่ ซึ่งจะงามตระการตาเต็มเวทีกลางแจ้ง โดยอาจารย์ วันทนีย์ ม่วงบุญ เป็นผู้ประพันธ์บทขับร้อง และอำนวยการแสดง
ชุดที่ 2 เป็นละครนอกเรื่อง สังข์ทอง ตอน หนีนางพันธุรัต แสดงโดยยุวศิลปินของมูลนิธิ ร.2 ที่ได้รับการฝึกอย่างสืบเนื่องจากบรรดานาฏศิลปิน แห่งชาติ โดยมีอาจารย์ สุวรรณี ชลานุเคราะห์ เป็นผู้อำนวยการฝึกซ้อม และอาจารย์ ประกอบ ลาภเกษร เป็นผู้อำนวยการแสดง
ในละครตอนนี้อาจารย์ ทัศนีย์ ขุนทอง บรรจุเพลงไทยเก่าที่เราอาจไม่คุ้นหูให้ได้ฟัง เช่น “เพลงการเวก” อันไพเราะ และเพลงแปลกๆ เช่น “เขมรขอทาน” และ “คางคกปากบ่อ” เป็นต้น
ลงท้ายด้วยชุดที่ 3 โขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “องคตสื่อสาร” ถึง “กุมภกรรณทดน้ำ” แสดงโดยศิลปินกรมศิลปากรโรงใหญ่ มี “ครูมืด” ประสาท ทองอร่าม เป็นผู้จัดทำบทการแสดง ซึ่งจะมีบทครบตามประเพณีโขนทุกอย่าง คือ มีผู้แสดงประกอบด้วย มนุษย์ คือ พระราม พระลักษณ์ วานร ยักษ์ และตลก ส่วนตัวนางนั้น แม้บทตอนนี้จะไม่มีตัวนางที่สำคัญ แต่ก็จะมีเหล่านางกำนัลออกมามีบทบาทเพื่อให้ครบองค์โขน
รวมทั้งจะมีการจัดฉากที่ชวนตื่นเต้นหลายตอน เช่น ตอนองคตม้วนขนดหางต่างแท่นที่นั่งเพื่อจะได้นั่งสูงเทียมกับทศกัณฑ์ และขอให้ติดตามชม “กุมภกรรณทดน้ำ” จนน้ำไม่ไหลไปให้ฝ่ายพระรามได้ใช้้ และลงท้ายหนุมานถีบกุมภกรรณให้พลิกกายขึ้น และมีน้ำไหลออกมาให้เห็นทันที โดยกรมศิลปากรจะเนรมิตฉากต่างๆตามบทสุดฝีมือ ทั้งนี้ เชื่อว่าครู ประสาท ทองอร่าม จะนำพากย์โขนด้วยเช่นเคย
สำหรับ นิทรรศการหลัก ในงานนั้น ปีนี้จะเน้นในเรื่อง “บัว” เริ่มด้วยนิทรรศการ “ว่าด้วยเรื่องบัว” ของสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย การประกวดวาดภาพหัวข้อ “บัว”
และการประกวดอาหารจานเดียวจาก “บัว” อาหารไทยก้าวไกลสู่อาเซียน ของ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งสุพรรณบุรี
ผู้เข้าชมงานจะได้เห็นว่า “บัว” นั้น นอกจากมีดอก สวยงามแล้ว ยังมีส่วนต่างๆ นำมาประกอบอาหารได้เอร็ดอร่อยด้วย
ส่วนนิทรรศการทางทัศนศิลป์และประณีตศิลป์ก็มีให้ชมมากมาย เช่น วิทยาลัยช่างศิลป์ จัดโครงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ด้านทัศนศิลป์ของมูลนิธิวิทยาลัยกาญจนาภิเษกช่างทองหลวงสาธิตงานเครื่องทองประกอบย่านลิเภา
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) สาธิตงานดอกไม้สด ร้อยมาลัย เครื่องแขวน เป็นต้น
ด้านสาธิตเรื่องขนมต่างๆ ซึ่งก็จะมีพอขายให้ได้ชิมกันด้วย มี มะปรางริ้ว จากราชสกุลกุญชร ขนมจีบ ขนมปั้นสิบ จาก โรงเรียนสายปัญญาในพระบรมราชินูปถัมภ์ ขนมดอกลำดวน ข้าวตู จากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) ทองพลุ จาก คุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
ม้าฮ่อ จากราชสกุลเทพหัสดิน ขนมเบื้องไทย จากทายาท ม.ล.สีตอง สนิทวงศ์ ขนมพื้นบ้านชาวอัมพวา จากชาวอัมพวา
และยังมีตลาดน้ำเรืออาหารและขนมด้วย
งานนี้จะมี 2 วัน คือ วันเสาร์ที่ 22 และ วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557
บัตรเข้าชมโขนในวันเสด็จพระราชดำเนิน ราคา 500 บาท และ 300 บาท มีเก้าอี้นั่งบนอัฒจันทร์
ราคา 50 บาท นั่งบนเสื่อปูบนสนาม ชมโขนสบายๆ เหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์
ส่วนวันรุ่งขึ้นมีบัตรผ่านประตูเข้างาน แล้วได้ชมโขนเช่นกัน แต่ไม่มีรำอาศิรวาท และละครนอกของยุวศิลปิน งานสาธิต และนิทรรศการ มีเหมือนกัน 2 วัน”
“ซูม” หมายเหตุ ข้อความข้างต้นผมคัดลอกจากจดหมายของท่านผู้หญิงวิลาวัณย์ มาลงทั้งฉบับโดยไม่ตัดทอนเลย เพราะเป็นจดหมายที่อ่านสนุก ให้รายละเอียดครบถ้วน และเชื่อได้ว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านจำนวนมากมีความประสงค์จะไปเที่ยวงานนี้ ซึ่งก็น่าเสียดายที่ท่านผู้หญิงมิได้แจ้งสถานที่จำหน่ายบัตรเอาไว้ด้วย
เอาเป็นว่าท่านใดสนใจโปรดสอบถามไป ที่โทรศัพท์หมายเลข 0–2628–7217, 0–2282– 3419 ต่อ 15, 25 (ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของมูลนิธิ) ใน เวลาราชการ ตั้งแต่วันจันทร์นี้ก็แล้วกันครับ เผื่อจะทราบเบาะแสบ้างว่าจะไปซื้อหาบัตรเข้าชมที่ใด? และอย่างไร?
หรือ อุทยาน ร.2 โทร. 0-3475-1666
ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม โทร. 0-3475-2827-8
TAT Call Center 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย
………………………………………………..
ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีและไทยรัฐ โดย “ซูม”
- องค์กรสิทธิฯประสานเสียงร้องให้ปล่อยตัว14นักศึกษา หลังถูกขังเรือนจำ กลุ่มปชต.ใหม่แถลงสู้ต่อ
- “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ทรงเป็นประธาน ในพิธีไหว้ครูและพระราชทานเหรียญรางวัลการศึกษาแก่นักเรียนนายร้อยประจำปีการศึกษา
- “รมว.พลังงาน” จ่อขยับภาษีแอลพีจีภาคขนส่ง
- สหรัฐพร้อมช่วยชาติในอาเซียนรับภาระผู้อพยพ
- “ททท.”ชี้คนจีนแห่เที่ยวไทย-คาดปีนี้ไม่ต่ำกว่า 6ล้านคน