“รสนา” สวน “ปตท.” ย้ำน้ำมันแพงเพราะผูกขาด ไม่ใช่ตามกลไกตลาด


31-

          วันนี้(12ก.พ.2557) “รสนา” โต้กลับ “ดร.ไพรินทร์” ซีอีโอ ปตท.ย้ำน้ำมันแพงเพราะการผูกขาดไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาดตามที่อ้าง ชี้ ปตท.ถือหุ้นใหญ่ 5 โรงกลั่น มีกำลังการผลิตถึง 85% ซึ่งเป็นการผูกขาดการกำหนดราคาน้ำมันไปโดยปริยาย ซัดบอกความจริงไม่หมดทั้งการอิงราคานำเข้าจากสิงคโปร์ทั้งที่กลั่นในประเทศ ซ้ำนำเข้าน้ำมันเกินความต้องการคนไทยเพื่อนำไปเอื้อกิจการของ ปตท.เอง

        นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “รสนา โตสิตระกูล” เพื่อตอบโต้บทสัมภาษณ์ของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยมีรายละเอียดดังนี้

      “อภินิหารน้ำมันไทยแพงเพราะใครผูกขาด”

        บทสัมภาษณ์ผู้ว่าการ ปตท. ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร จั่วหัวเรื่องว่า “อภินิหารน้ำมันไทย แพงตามกลไกตลาด” ดิฉันเห็นว่าราคาน้ำมันของไทยแพงเพราะการผูกขาด มิใช่แพงตามกลไกตลาดเสรีอย่างแน่นอน

       1) ในบทสัมภาษณ์นั้น ดร.ไพรินทร์ ยกประเด็นเรื่องราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยว่าต้อง “อิงราคาสิงคโปร์” เพราะสิงคโปร์เป็นตลาดกลางการส่งออกน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่สิ่งที่ ดร.ไพรินทร์ ไม่พูดให้หมดคือ “เราไม่ได้แค่อิงราคาสิงคโปร์” เท่านั้น แต่เราใช้ “ราคานำเข้าจากสิงคโปร์” มาเป็นราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปให้กับคนไทยต่างหากค่ะ คือมีการบวกค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากสิงค์โปร์มาไทย ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างทาง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะน้ำมันกลั่นในประเทศเหลือใช้จนสามารถส่งออก

      น้ำมันดิบที่นำเข้าก็บวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างทางไปแล้ว พอมากลั่นในเมืองไทย ก็มาบวกค่าใช้จ่ายเทียมเหล่านี้เข้ามาในราคาน้ำมันสำเร็จรูปอีกรอบหนึ่ง ซึ่งโสหุ้ยเทียมเหล่านี้มีราคาบวกลบประมาณ 1 บาทต่อลิตร และยังมีการบวกค่าปรับปรุงคุณภาพอีกส่วนหนึ่ง โดยอ้างว่าราคาน้ำมันของสิงคโปร์ที่เราอิงราคาของเขาเป็นน้ำมันเกรดยูโร 2 แต่น้ำมันของไทยเป็นเกรดยูโร 4 จึงต้องบวกเพิ่มการปรับปรุงคุณภาพอีกลิตรละประมาณ 1 บาท ทั้งที่ก็เป็นสเปกของโรงกลั่นอยู่แล้ว สมมติว่าราคาน้ำมันสิงคโปร์ลิตรละ 20 บาท ราคาหน้าโรงกลั่นที่ขายคนไทยจะเป็น 22 บาท/ลิตร

     การมีโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อให้ราคาน้ำมันถูกลง แต่ปรากฏการณ์อภินิหาร คือคนไทยต้องใช้น้ำมันแพงกว่าคนต่างประเทศที่ซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากไทย และคนไทยยังต้องแบกรับมลภาวะจากการกลั่นน้ำมันอีกด้วย แต่เมื่อโรงกลั่นส่งออกน้ำมัน นอกจากจะบวกต้นทุนเทียมเหล่านี้ไม่ได้แล้ว ราคาน้ำมันส่งออกที่โรงกลั่นจะได้รับต้องหักค่าขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพประมาณลิตรละ 2 บาท กลายเป็นว่าเวลาส่งออกโรงกลั่นต้องขายน้ำมันเกรดยูโร 4 ในราคาเกรดยูโร 2 โรงกลั่นจะได้เงินเพียงลิตรละ 18 บาทเท่านั้น แต่กลับขายคนไทยลิตรละ 22 บาท

     ยังไม่เคยมีปรากฏว่ามีสินค้าอะไรที่ผลิตในประเทศไทย แต่ตั้งราคาขายคนไทย โดยไปอ้างอิงราคานำเข้าสินค้าชนิดนั้นจากต่างประเทศ จะมีก็แต่อภินิหารน้ำมันไทยนี่แหละ

      2) ข้ออ้างเรื่องกลไกตลาดของน้ำมันไทยนั้นไม่มีอยู่จริงตามที่อ้าง เพราะ ปตท.ถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นน้ำมัน 5 โรงจากจำนวน 6 โรง ซึ่งมีกำลังการกลั่นถึง 85% ของที่กลั่นได้ในประเทศ ปตท.จึงสามารถตั้งกรรมการของตนเข้าไปควบคุมนโยบายโรงกลั่นได้ ทั้ง 5โรงกลั่น จึงทำให้โรงกลั่นไม่เกิดการแข่งขันกันตามกลไกตลาดเสรี เท่ากับเป็นการผูกขาดการกำหนดราคาน้ำมันโดยปริยาย

     3) ข้ออ้างที่ว่าประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากกว่าร้อยละ 80 ดร.ไพรินทร์ ไม่ได้บอกข้อมูลว่าคนไทยใช้น้ำมันวันละประมาณ 600,000 บาร์เรล เรามีเองประมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้นความต้องการใช้ของคนในประเทศจึงต้องการนำเข้าเพียงวันละ300,000 บาร์เรล แต่การนำเข้าถึง 800,000 บาร์เรลต่อวันตามที่ ปตท.อ้าง จึงไม่ใช่ความต้องการใช้ของคนไทยทั้งหมดการนำเข้าเกินมา 500,000 บาร์เรลต่อวัน จึงเป็นการนำเข้าเพื่อทดแทนน้ำมันดิบของไทยที่ถูกส่งออกไป และเพื่อทดแทนคอนเดนเซทของเราที่ถูกนำไปใช้ในกิจการปิโตรเคมีของ ปตท.นอกนั้นก็เป็นการนำเข้าเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก

     4) โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่ ดร.ไพรินทร์ ระบุว่า มี 3 ส่วน คือเนื้อน้ำมัน ค่าการตลาด และภาษี + กองทุน โดยอ้างว่าเป็นค่าการตลาด 3-4 บาทต่อลิตร เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องแบ่งกันระหว่างบริษัทผู้ค้าน้ำมันและเจ้าของปั๊มน้ำมัน ข้อมูลที่ได้จากเจ้าของปั๊มคือค่าการตลาดที่ปั๊มได้ต่อลิตรคือประมาณ 1 บาท ไม่ว่าค่าการตลาดจะสูงแค่ไหน ปั๊มก็จะได้เท่านั้น ที่เหลือจะเป็นของบริษัทผู้ค้าน้ำมัน

      ส่วนกองทุนน้ำมันนั้นก็เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงเกินเหตุ และกองทุนน้ำมันไม่ใช่รายได้ของรัฐ แต่เป็นกองทุนประกันกำไรของปตท. เป็นส่วนที่ทำให้ราคาน้ำมันบิดเบือน มีการนำกองทุนน้ำมันไปชดเชยให้ E85 ถึง 11.60 บาท/ลิตร ด้วยการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นของ E85 ให้สูงกว่าราคาเบนซิน 95 และมีค่าการตลาดถึงลิตรละ 5 บาท เป็นการทำราคาให้สูงมาก เพื่อล้วงเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยให้มาก ทั้งที่เคยอ้างเหตุผลว่าไม่ควรอุดหนุนการใช้ก๊าซหุงต้มของคนหาเช้ากินค่ำที่เป็นภาคครัวเรือนเพราะเป็นการสร้างภาระให้กับคนใช้น้ำมัน แล้วมีเหตุผลใดที่รัฐต้องออกหลักเกณฑ์เอากองทุนน้ำมันมาอุดหนุนคนใช้ E85

     น้ำมันทางเลือกอย่าง E85 หากมีราคาแพงกว่าน้ำมันเบนซินล้วนๆเสียแล้ว ก็เป็นธุรกิจที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่ควรส่งเสริมด้วย กองทุนน้ำมันยังคงนำไปอุดหนุนให้ปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซแอลพีจีในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกของแอลพีจีถึง 40%

       5) ผู้ว่าการ ปตท.โอดครวญว่ากำไรของ ปตท.ยังต่ำมากเมื่อเทียบกับบริษัทน้ำมันระดับโลก ซึ่งเป็นความจริง เมื่อเปรียบเทียบรายได้ของ ปตท.กับปิโตรนาสในปี 2555 รายได้ ปตท.2.845 ล้านล้านบาท ได้กำไร 1.72 แสนล้าน ในขณะที่ปิโตรนาสมีรายได้ 2.91 ล้านล้านบาท แต่มีกำไรถึง 8.91 แสนล้านบาท สูงกว่า ปตท.5 เท่า ทั้งที่ขายน้ำมันถูกกว่าประเทศไทยมากกว่าครึ่ง คำถามคือ เหตุใดกำไรของ ปตท.จึงน้อยกว่ามาก เพราะมีการผ่องถ่ายกำไรด้วยการใส่ค่าใช้จ่ายเทียมเข้ามาหรือไม่ หรือเป็นเพราะการบริหารด้อยประสิทธิภาพ

      6) ข้ออ้างที่ว่า ปตท.ได้ส่งเงินเข้ารัฐเป็นจำนวนมากนั้น ในข้อเท็จจริง ปตท.นำส่งเงินปันผลให้รัฐน้อยลงทุกปี ในขณะที่มีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปีและน้อยกว่า กฟผ. ปตท.ส่งเงินเข้ารัฐจากปี 2551-2555 ในจำนวน 25,587.32 ล้านบาท, 8,759.32 ล้านบาท, 13,503.95 ล้านบาท, 16,788.69 ล้านบาท และ 17,518.63 ล้านบาท ในขณะที่กฟผ.ส่งเงินเข้ารัฐระหว่างปี 2551-2555 จำนวน 13,307 ล้านบาท, 12,463 ล้านบาท, 12,318 ล้านบาท, 17,715 ล้านบาท และ 22,643 ล้านบาท ซึ่ง กฟผ.ส่งเงินสูงขึ้นในแต่ละปี ในขณะที่ ปตท.ส่งเงินเข้ารัฐต่ำลงเรื่อยๆ จากปี 2551 เป็นต้นมา

      7) ข้อโต้แย้งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือการบริหารจัดการปิโตรเลียมด้วยระบบสัมปทานที่ด้อยกว่าระบบแบ่งปันผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ประเทศไทยใช้ระบบสัมปทานมาตั้งแต่ปี 2514 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ไทย ทั้ง พม่า กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ล้วนเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ประเทศไทยยังคงยืนหยัดจะใช้ระบบสัมปทานต่อไป ซึ่งเป็นวิธีการคิดส่วนแบ่งที่ล้าหลังตามแบบยุคอาณานิคม

      ข้อแตกต่างของระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลผลิต คือระบบสัมปทานกรรมสิทธิ์ของปิโตรเลียมตกเป็นของเอกชน ประเทศไทยต้องซื้อน้ำมันและก๊าซทึ่ได้จากแผ่นดินไทยในราคานำเข้า ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตกรรมสิทธิยังเป็นของรัฐ อุปกรณ์การขุดเจาะตกเป็นของรัฐในวันแรกที่ทำสัญญา เอกชนสามารถหักค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะตามจริง ผลผลิตที่เหลือนำมาแบ่งกัน โดยรัฐจะได้ส่วนแบ่งมากกว่าเอกชนประมาณ 80:20

      สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ ดร.ไพรินทร์ ไม่พูดถึงคือ ระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมยังเป็นของรัฐ ซึ่งรัฐสามารถกำหนดนโยบายเรื่องราคาที่เป็นธรรมให้กับประชาชน หากขายพลังงานในราคาถูก ประชาชนและระบบเศรษฐกิจได้ประโยชน์ หากขายแพงขึ้น รายได้ก็ตกเป็นของรัฐเป็นงบประมาณแผ่นดินต่อไป ไม่ใช่พลังงานราคาแพง แต่ผลประโยชน์ตกอยู่กับเอกชน

      อภินิหารราคาน้ำมันไทยขอบอกว่าไม่ได้แพงเพราะกลไกราคาตลาดแต่แพงเพราะการผูกขาด…เพื่อใคร?

      



uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

205

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน