วิกฤติการเมืองไทย กระเทือนศก.พม่า 

สถานการณ์การเมืองไทยที่ยืดเยื้อขณะนี้ ส่งผลเสียต่อการลงทุนในพม่า ทำให้หลายโครงการต้องหยุดชะงักและชะลอการลงทุน

สถานการณ์การเมืองไทยที่ยืดเยื้อขณะนี้ ส่งผลเสียต่อการลงทุนในพม่า ทำให้หลายโครงการต้องหยุดชะงักและชะลอการลงทุน

วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในไทย ส่อเค้าส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพม่า รวมถึง ความเป็นไปได้ต่อการเข้าลงทุนในด้านอื่นๆ ด้วย

เว็บไซต์อิระวดี รายงานอ้างไอซิส บริษัทด้านการวิเคราะห์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุดว่า วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลไทย และการทำงานของราชการอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ จนทำให้ต้องชะลอแผนการลงทุนสำคัญๆ ในด้านการสร้างทางรถไฟ และถนนเชื่อมต่อระหว่างประเทศ รวมถึงโครงการลงทุนด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วย และทำให้แผนการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลไทย และพม่า ในโครงการท่าเรือทวาย ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงัน

@ ชี้แผนลงทุนพลาสติก-รถไฟชะงัก

ในกลุ่มโครงการที่ต้องชะลอการลงทุนไว้ก่อนนั้น รวมถึง แผนการของไทยที่จะเข้าลงทุนผลิตสารเคมี และโพลีเมอร์ สำหรับใช้ในการผลิตพลาสติกประเภทต่างๆ อาทิ เช่น โพลีสไตรีน สำหรับส่งออกไปจีน และประเทศต่างๆ ในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ถนน และรถไฟ ที่เชื่อมต่อจากไทยไปพม่า ซึ่งเป็นการเสนอโอกาสที่จะให้มีส่งเสริมการสนับสนุนอุตสาหกรรมพลาสติกพม่า

"หากโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานดำเนินต่อไป การขนส่งสารเคมี และโพลีเมอร์จากไทย ไปยังชายแดนมณฑลต่างๆ ของจีน ที่ยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ และมีชายแดนติดต่อกับอาเซียน อย่างมณฑลยูนนาน และกวางสี ก็จะทำได้ง่ายขึ้น" นายจอห์น ริชาร์ดสัน ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ ระบุ

นายริชาร์ดสัน บอกด้วยว่า ในอีกด้านหนึ่งนั้น อาจจะมีการขนส่งโพลีเมอร์มาผลิตสินค้าในพม่า ซึ่งมีค่าแรงในกระบวนการผลิตที่ถูกกว่าไทย จากนั้นจึงขนส่งสินค้าที่ผลิตสำเร็จแล้ว หรือกึ่งสำเร็จ ไปยังจีน กลับมายังไทย หรือส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็ได้

แต่แผนการของรัฐบาลไทย ในการสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงแห่งใหม่ เพื่อเชื่อมโยงประเทศเข้ากับลาว จีน พม่า และมาเลเซีย กลับต้องระงับไว้ก่อน

@ 2 ล้านล้านสะดุดกระเทือนภูมิภาค

"รัฐบาลต้องนั่งมองโครงการชิ้นเอก เรื่องการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านบาทของตัวเองติดหล่ม จากวิกฤติการเมือง" รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชี่ยล ไทม์ส ระบุ และว่า ในขณะที่ภาคการเมืองส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องว่าไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาถนน รถไฟ และท่าเรือให้ดีขึ้น หากต้องการเป็นศูนย์กลางการค้าของอาเซียนในการค้าขายกับจีน แต่ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นว่า นโยบายดังกล่าว ขาดการกำกับดูแลที่ดี ขาดรัฐสภาที่มีประสิทธิภาพ และมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทุจริตมากขึ้น

ไอซิส ระบุด้วยว่า โครงการสาธารณูปโภคใหม่ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการไหลของกระแสสินค้า และบริการ ระหว่างจีน ไทย พม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เป็นไปอย่างคล่องตัว ไม่มีจุดสะดุดใดๆ

วิกฤติการเมืองไทยไม่เพียงแต่ทำให้โครงการใช้จ่ายของรัฐบาลต้องตกอยู่ในภาวะอัมพาต แต่ยังทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง และทำให้ต้องปรับลดการคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งในปีนี้ และปีที่ผ่านมา

ไฟแนนเชี่ยล ไทม์ส ระบุว่า การประท้วงในไทย สร้างความวิตกให้นักลงทุนมากขึ้น เพราะไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคนี้ และมีแผนการยิ่งใหญ่ ที่จะเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างจีน กับอาเซียน ทั้งบรรดานักลงทุนที่คุ้นเคยกันมาอย่างยาวนาน กับความวุ่นวายทางการเมืองของไทย ก็เริ่มส่งสัญญาณถึงการถอนตัวมากขึ้น เพราะการประท้วงที่ขยายวงกว้างขึ้น ได้สร้างความกังวลมากขึ้นในเรื่องปัจจัยบ่งชี้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง

เมื่อเร็วๆ นี้ ไทยและพม่า เพิ่งบรรลุข้อตกลงรอบใหม่ ในการร่วมพัฒนาโครงการท่าเรือ และเขตอุตสาหกรรมทวาย ในความพยายามที่จะดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่จากญี่ปุ่น

@ โครงการทวายพึ่งพาไทยกระทบ

ก่อนหน้านี้ นายคอลลิน เรย์โนลด์ ที่ปรึกษาอิสระในอุตสาหกรรมพลังงาน เคยระบุว่า ในความเป็นจริงนั้น โครงการทวายพึ่งพาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากฝ่ายไทยเป็นหลัก เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศที่เหลือในอาเซียน ทั้งทางถนน และรถไฟ โดยทั้ง 2 ประเทศ ต้องการพันธมิตรรายที่ 3 ซึ่งในอุดมคติก็คือ ญี่ปุ่น เข้ามาช่วยผลักดันโครงการให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งองค์การการค้านอกประเทศญี่ปุ่น ของรัฐบาลโตเกียว ก็ได้แสดงท่าทีชัดเจนไปแล้วว่า ต้องการให้ทวายเชื่อมต่อกับโลกภายนอก ก่อนที่จะมีการให้คำมั่นใดๆ สำหรับการเข้าลงทุน

โครงการทวายตามที่วางแผนไว้นั้น รวมถึง ท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้า โรงกลั่น โรงถลุงเหล็ก โรงงานปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ส่วนการพัฒนานั้น รวมถึง ถนน รถไฟ และท่อส่งน้ำมัน จากทวายไปยังไทย เชื่อมต่อไปยังระบบสาธารณูปโภคทางตอนเหนือ และใต้

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ชี้ว่า ยังมีภาคธุรกิจหนึ่งที่พม่าอาจได้รับประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจชะงักงันในไทย ซึ่งก็คือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มว่า ไทยอาจต้องระงับแผนการเชิญต่างชาติเข้าประมูลแหล่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ 22 แห่งในปีนี้เอาไว้ก่อน

ตามความเป็นจริงนั้น การเปิดบ่อใหม่ดังกล่าว ล่าช้ามาจากกำหนดการณ์เดิมอยู่แล้ว เพราะโดนประชาชนคัดค้าน หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วในอ่าวไทย เมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศ ซึ่งหากมีการเลื่อนออกไปอีก เพราะความวุ่นวายทางการเมือง ก็มีแนวโน้มว่าจะผลักดันให้บริษัทน้ำมันต่างชาติ ถอยห่างจากไทย และมีความเป็นไปได้ที่จะข้ามชายแดนเข้ามาลงทุนในพม่า ที่คาดกันว่า จะมีการเปิดประมูลบ่อน้ำมันมากขึ้นในปีนี้

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ bangkokbiznews.com ดูทั้งหมด

291

views
Credit : bangkokbiznews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน