ศักยภาพและบทบาทเมียนมาร์ต่อ AEC (1) 

1 ม.ค.2014 เมียนมาร์เป็นประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการ โดยได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกอาเซียนอย่างท้วมท้น

1 ม.ค.2014 เมียนมาร์เป็นประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการ โดยได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกอาเซียนอย่างท้วมท้น

เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2014 ที่ผ่านมา เมียนมาร์ได้รับหน้าที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการ และได้กำหนดแนวทางหลักในการดำเนินงานภายใต้คำขวัญหลักที่ว่า "Moving Forward in Unity Towards a Peaceful and Prosperous Community" หมายความถึง "การก้าวไปข้างหน้าด้วยความสามัคคีสู่ประชาคมที่สันติและมั่งคั่ง" แสดงถึงการให้ความสำคัญกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสมาชิกอาเซียนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นสันติภาพและพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม เพื่อให้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กันกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ

เมียนมาร์ได้รับความไว้วางใจมากขึ้นจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นในการรับหน้าที่ประธานหมุนเวียนอาเซียน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างมากภายในประเทศโดยการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา ทั้งการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง การปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี รวมถึงพยายามจัดเวทีเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่มีมายาวนานหลายทศวรรษ ทำให้นานาชาติต่างผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร เช่น สหรัฐอเมริกาผ่อนคลายข้อจำกัดการทำธุรกรรมทางการเงินในโครงการให้ความช่วยเหลือและการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยขององค์กรที่มิใช่รัฐ (Non- Governmental Organizations: NGOs) การออกใบอนุญาตเพื่อการลงทุนให้กับนักธุรกิจและบริษัทที่ประสงค์จะไปลงทุนในเมียนมาร์ เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปที่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในหลายด้านโดยกำหนดระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น

จากสภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือได้ว่ามาตรการผ่อนคลายเหล่านั้นเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบและกฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น การออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศฉบับใหม่ ในปี ค.ศ. 2012 ซึ่งทำให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้น สร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนและดึงดูดเงินลงทุนต่างประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้เมียนมาร์กลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่ทั่วโลกต่างแย่งเข้าไปฟื้นฟูความสัมพันธ์เพื่อค้าขายและลงทุน ดังนั้น ในฐานะสมาชิกของอาเซียน สถานะและบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ของเมียนมาร์จะมีส่วนช่วยส่งเสริมและสนับสนุนอย่างมีประสิทธิผลและเป็นรูปธรรมต่อความสำเร็จของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 ได้อย่างไร และจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในการบูรณาการและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของโลกได้หรือไม่ จึงเป็นประเด็นคำถามที่น่าสนใจและน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ในบทความเรื่อง Myanmar in the ASEAN Economic Community: Preparing for the Future โดย Moe Thuzar (2013) ได้กล่าวถึงบทบาทของเมียนมาร์ไว้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว เมียนมาร์มีความพร้อมทางเศรษฐกิจจากการเป็นสมาชิก WTO ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 ในขณะที่สปป.ลาว ซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนในปีเดียวกันและเวียดนามที่เป็นสมาชิกก่อนหน้านั้น (ปี ค.ศ. 1995) ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพการเมืองภายในประเทศขณะนั้นของเมียนมาร์ที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการทางทหาร ทำให้ถูกคว่ำบาตรจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป จึงส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้มากเท่าที่ควร

ทั้งนี้ ภายหลังการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน เมียนมาร์ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการค้ากับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ จากความตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (CEPT-AFTA) ในการค้าสินค้า ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0-5 และได้รับการผ่อนผันการเปิดเสรีการค้าบริการตามหลักการ ASEAN minus X ที่เอื้อประโยชน์ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนใดที่ยังไม่พร้อมเปิดเสรีการค้าบริการสาขาใดก็สามารถเปิดเสรีภายหลังได้

สำหรับสมาชิกอาเซียนใหม่อย่างเมียนมาร์ที่ต้องดำเนินการตามเป้าหมายของ AEC ภายในปี ค.ศ. 2018 ได้แสดงออกอย่างชัดเจนในการสนับสนุนความร่วมมือกับอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC) โดยเป็นประเทศแรกที่ประกาศลงนามรับรองตามแผนแม่บทดังกล่าว สาระสำคัญของแผนแม่บทฯ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อการเชื่อมโยงการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานระหว่างกัน เช่น การพัฒนาโครงสร้างและสาธารณูปโภคพื้นฐาน กฎระเบียบที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ ภายหลังการปฏิรูปการปกครองและพยายามฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ เมียนมาร์ได้เร่งดำเนินการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ MPAC ของอาเซียน โดยถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายสู่ AEC การทำงานในฐานะประธานอาเซียนของเมียนมาร์ยังต้องเผชิญความท้าทายและอุปสรรคอีกมาก ซึ่งจะขอกล่าวถึงในบทความครั้งต่อไป

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ bangkokbiznews.com ดูทั้งหมด

356

views
Credit : bangkokbiznews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน